เช็ก! วิธีปฐมพยาบาลช่วยชีวิต เมื่อพบคน "อาหารติดคอ"

สังคม
19 มี.ค. 66
18:59
413
Logo Thai PBS
เช็ก! วิธีปฐมพยาบาลช่วยชีวิต เมื่อพบคน "อาหารติดคอ"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ" รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู แนะวิธีปฐมพยาบาลช่วยชีวิต เมื่อพบคนอาหารติดคอ หลังเกิดกรณีชายวัย 27 ปี เสียชีวิตระหว่างรับประทานอาหารกับครอบครัว เบื้องต้น คาดอาหารติดคอ อยู่ระหว่างการชันสูตรหาสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง

วันนี้ (19 มี.ค.2566) ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่งต่อข้อมูลกรณีชายอายุ 27 ปี เสียชีวิต ซึ่งคาดว่า อาจเกิดจากอาหารติดคอ โดยเหตุการณ์นี้ ญาติเล่าว่า ระหว่างรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว ชายคนดังกล่าวคุยโทรศัพท์ระหว่างรับประทานอาหารก่อนจะเงียบไป

เมื่อญาติหันไปก็พบว่า มีอาการคล้ายอาหารติดคอ ก่อนจะล้มลงจากโต๊ะ หลังจากพยายามช่วยเหลือแต่ไม่เป็นผล จึงรีบโทรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ให้การช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาล แต่สุดท้ายก็เสียชีวิต และอยู่ระหว่างการชันสูตรหาสาเหตุที่ชัดเจนอีกครั้ง

หากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดจากอาหารติดคอ อาจแบ่งออกเป็น 2 กรณี กรณีที่อาหารไปอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนบางส่วน แบบนี้จะไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยสามารถที่จะหายใจด้วยตัวเองได้ ออกเสียงได้ ต้องพยายามให้ผู้ป่วยไอเอาเศษอาหารออกมา เพื่อให้หลุดออกจากหลอดลมก่อน

อย่างไรก็ตาม หากอาหารไปอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนแบบสมบูรณ์ อัญวุฒิ โพธิ์อำไพ รองหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิร่วมกตัญญู แนะนำว่า เมื่อพบผู้ที่สำลักอาหารจนขาดอากาศหายใจว่า จะมีเวลาไม่มากก่อนผู้ป่วยจะหมดสติ หากช่วยเหลือไม่ทันเวลา อาจทำให้สมองขาดออกซิเจน สมองตาย หรือเสียชีวิตได้

ใช้กำปั้นที่เก็บนิ้วโป้ง วางไว้เหนือสะดือ แล้วใช้มืออีกข้างรองกำปั้น จัดท่าให้ผู้ป่วยโน้มตัวไปข้างหน้า พร้อมกับอ้าปาก โดยผู้ให้ความช่วยเหลือไปอยู่ด้านหลัง แล้วกระตุกมือแรง ๆ 4-5 ครั้ง จนกว่าเศษอาหารจะออก เป็นวิธีช่วยบีบกะบังลม เพื่อดันหลอดลมให้เศษอาหารย้อนกลับไปทางปาก หากไม่แน่นมากเศษอาหารจะออกมาทันที

ทั้งนี้ เพจเฟซบุ๊ก "หมอเฉพาะทางโรคทางเดินอาหารและตับ" ยังได้ออกมาโพสต์คำแนะนำสิ่งที่ไม่ควรทำ ระหว่างรับประทานอาหาร คือไม่ควรกินไปคุยไป ไม่หัวเราะระหว่างที่กิน ไม่กินคำใหญ่ เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน สำคัญที่สุดคือ เลี่ยงอาหารที่ติดคอง่าย เช่น หมึกช็อต ก้างปลา กระดูก เมนูที่เป็นเส้นยาว ๆ ผักเคี้ยวยาก และเมล็ดผลไม้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง