คอมพิวเตอร์ชีวภาพจากเซลล์สมองมนุษย์ คู่แข่งของ AI ในอนาคต ?

Logo Thai PBS
คอมพิวเตอร์ชีวภาพจากเซลล์สมองมนุษย์ คู่แข่งของ AI ในอนาคต ?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กลุ่มนักวิทย์นานาชาติ เสนอแนวทางการพัฒนา "ปัญญาชีวะ" (Organoid Intelligence - OI) คอมพิวเตอร์ชีวภาพจากเซลล์ของมนุษย์ ซึ่งมีศักยภาพในการคำนวณเรื่องราวที่ซับซ้อน และเก็บข้อมูลได้มากกว่าคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน

ถึงแม้ว่าปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์เป็นอย่างมากในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นการวินิจฉัยทางการแพทย์ หรือการควบคุมระบบสายพานการผลิตในโรงงานก็ตาม สมองของมนุษย์นั้นก็ยังคงเหนือกว่า AI ในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

ด้วยเหตุนี้กลุ่มนักวิทยาศาสตร์จากหลายประเทศ ซึ่งนำโดยมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) จึงได้ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ของ “ปัญญาชีวะ” (Organoid Intelligence - OI) คอมพิวเตอร์ชีวภาพจากสเต็มเซลล์ของมนุษย์ ที่มีเส้นประสาทเชื่อมต่อระหว่างกัน พร้อมกับสร้างตัวอย่างทดลองขึ้นมา เพื่อนำไปศึกษาและพัฒนาให้มีศักยภาพเหนือกว่า AI ในอนาคต

โดยคอมพิวเตอร์ชีวภาพนี้ได้รับการเลี้ยงดูในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น คล้ายกับสมองที่อยู่ในร่างกายของมนุษย์ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ต้องป้อนน้ำตาลและออกซิเจนเข้าไปช่วยในการเจริญเติบโตด้วย จนก้อนเนื้อนี้สามารถแบ่งตัวได้ประมาณ 50,000 เซลล์ ซึ่งงานวิจัยที่จัดทำโดย Dr.Brett Kagan หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของปัญญาชีวะ เมื่อปี ค.ศ. 2022 ได้พิสูจน์ว่าคอมพิวเตอร์ชีวภาพนั้นสามารถเล่นเกมตีลูกบอลไปมาอย่างง่าย ๆ ได้

นอกจากนี้ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ชีวภาพก็ยังมีความสามารถด้านการบรรจุข้อมูลที่เหนือกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป เมื่อเทียบกับปริมาณพื้นที่ที่เท่ากัน และใช้พลังงานในการทำงานน้อยกว่าอีกด้วย แต่ทว่าการที่จะพัฒนาศักยภาพการคำนวณของปัญญาชีวะให้เทียบเท่ากับสมองมนุษย์นั้น นักวิทยาศาสตร์ต้องเพิ่มจำนวนเซลล์ให้มากกว่าเดิมถึง 500 เท่า จาก 50,000 เซลล์ให้กลายเป็น 10 ล้านเซลล์ให้ได้เสียก่อน ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมือในอนาคตที่ดีกว่าเดิม

ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์สามารถพัฒนาคอมพิวเตอร์ชีวภาพที่สามารถคำนวณเรื่องราวที่ซับซ้อนได้จริง เทคโนโลยีก็อาจช่วยปูทางไปสู่การรักษาโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับสมองได้อีกด้วย ผ่านการทดลองใช้ยาและสารเคมีกับคอมพิวเตอร์ชีวภาพ โดยที่ไม่ต้องนำไปทดลองกับมนุษย์จริง ๆ

ถึงกระนั้นนักวิทยาศาสตร์กลุ่มนี้ก็ได้กล่าวในงานวิจัยว่า พวกเขาก็ยังคงมีความกังวลว่าปัญญาชีวะ อาจพัฒนาความรู้สึกนึกคิดเหมือนมนุษย์ขึ้นมาได้ เหมือนกับความหวาดกลัวว่า AI จะระลึกถึงตัวตนได้เช่นกัน ดังนั้นพวกเขาจึงได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมเพื่อกำหนดขอบเขตการวิจัยอย่างเหมาะสม

ที่มาข้อมูล: SciTechDaily , Financial Times
ที่มาภาพ: Johns Hopkins University
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง