รู้จัก "Primary Vote" ศัพท์ใหม่การเมือง

การเมือง
28 มี.ค. 66
12:57
1,596
Logo Thai PBS
รู้จัก "Primary Vote" ศัพท์ใหม่การเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เรียกว่าเป็นครั้งแรกของการเมืองไทยที่ได้ใช้ระบบการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) และเป็นครั้งแรกของคนไทยเช่นกันที่ได้ยินศัพท์การเมืองใหม่คำนี้

ระบบการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Vote) ถูกบัญญัติขึ้นใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 (พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560) เป็นครั้งแรก และควรถูกใช้ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562

แต่ในขณะนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบเขตเลือกตั้งที่ชัดเจน เนื่องจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จาก 350 คน เพิ่มเป็น 400 คน และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จาก 150 คนลดเหลือ 100 คน ทำให้ต้องแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งและจึงถูกประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา

หลักการและความหมายของ Primary Vote

พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 ได้บัญญัติให้พรรคการเมือง “ต้อง” ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ของพรรคนั้นๆ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนในพรรคได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าวอย่างจริงจัง ให้เกิดการแข่งขันระหว่างตัวแทนภายในพรรคโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงํา หรือชี้นํา โดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือบุคคลภายนอกพรรค

กกต. ได้ระบุไว้ว่า การทำ Primary Vote จะสามารถทำได้ต่อเมื่อ กกต.ประกาศเขตเลือกตั้งทั้งประเทศแล้วเสร็จ จนถึง 7 วันก่อนวันรับสมัคร ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขต ซึ่งตรงกับวันที่ 3-7 เม.ย.2566

แม้ว่า กกต. จะประกาศเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศเมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งอีกครั้ง หลังเกิดข้อท้วงติงเรื่องการนำคนไม่มีสัญชาติไทย มารวมในการแบ่งเขตเลือกตั้ง 

กกต.จึงได้จัดเขตเลือกตั้งใหม่และประกาศอีกครั้งในวันที่ 16 มี.ค.จนกระทั่งวันที่ 20 มี.ค. ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พ.ร.ฎ.ยุบสภา

จึงมีช่วงเวลาให้พรรคการเมืองทำ Primary Vote ในพรรคประมาณ 2 สัปดาห์เท่านั้น

บุคคลที่มีบทบาทกับการทำ Primary Vote ในพรรคการเมือง

1. หัวหน้าพรรค
2. คณะกรรมการบริหารพรรค
3. คณะกรรมการสรรหา
4. คณะกรรมการสาขาพรรคการเมือง
5. ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด รวมถึงสมาชิกพรรค

ทั้งนี้ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 กำหนดให้ทุกพรรคการเมืองจะต้องทำ Primary vote ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในการเลือกตั้งทั่วไปการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองดำเนินการสรรหาตามวิธีการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 เว้นแต่ 3 ข้อนี้

1. การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบ่งแบ่งเขตเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งแทนการเลือกตั้งที่เป็นโมฆะ
2. การเลือกตั้งใหม่กรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง
3. กรณีผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นตายก่อนปิดการรับสมัครเลือกตั้ง

ถ้าพรรคไม่ทำ Primary Vote ?

พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มีบทลงโทษสำหรับผู้สมัครและกรรมการบริหารพรรคที่เพิกเฉย ฝ่าฝืน หรือ ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนด ได้แก่

1. ห้ามจูงใจสมาชิกพรรคให้ลงคะแนนให้ตนเองหรือผู้อื่น หรือ งดเว้นลงคะแนนให้ผู้ใดผู้หนึ่ง
2. ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ใด เรียกรับหรือรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้สมาชิกผู้ใดลงสมัครหรือไม่ลงสมัครรับเลือก
3. ห้ามไม่ให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หัวหน้าสาขาพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองผู้ใด ยินยอมให้บุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมือง เข้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมหรือออกเสียงลงคะแนน

ผู้ที่ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนและปรับไม่เกิน 10,000 บาท
และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี

แม้ Primary Vote จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างกระบวนการประชาธิปไตยขั้นต้นในพรรคการเมือง ช่วยลดการผูกขาดการคัดเลือกผู้สมัครจากกรรมการบริหารพรรค หรือนายทุนพรรคการเมือง แต่สำนักกรรมาธิการกิจการองค์การอิสระตามรับธรรมนูญวุฒิสภา ก็ยังพบประเด็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญ เช่น

พรรคการเมืองไม่มีแนวทางดำเนินการตามนโยบายที่แท้จริง เกิดการแทรกแซง ครอบงำ หรือชี้นำ ทำให้การลงคะแนนขาดอิสระ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งภายใน และตัดโอกาสผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเพราะไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง รวมถึงค่าดำเนินการที่เพิ่มสูง เพราะต้องใช้บริหารจัดการสาขาพรรคที่ต้องมีทุกจังหวัดในครบตามข้อกำหนด พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560

ที่มา : สำนักกิจการพรรคการเมือง สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง, หอสมุดรัฐสภา, iLaw

อ่านข่าวเพิ่ม : 

บทวิเคราะห์ : ประมุขใหญ่บ้านบางแสน “สนธยา คุณปลื้ม”

มนต์การเมือง สะท้อนตัวตน "พรรค" ผ่านเพลงหาเสียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง