"ไทยสร้างไทย" เล็งดันอุตสาหกรรมการสัก หวังสร้างรายได้เข้าประเทศ

การเมือง
29 มี.ค. 66
11:40
730
Logo Thai PBS
"ไทยสร้างไทย" เล็งดันอุตสาหกรรมการสัก หวังสร้างรายได้เข้าประเทศ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"นรุตม์ชัย" เผย ช่างสักรายได้เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน มูลค่ารวมวงการ 10,000 ล้านบาท มั่นใจ อุตสาหกรรมการสัก ส่งเสริมพัฒนาต่อยอด สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้ เผย ร้านสักทั่วประเทศกว่า 1 แสนแห่ง แต่มีใบอนุญาตไม่ถึงครึ่ง ผู้ประกอบการ ขอช่วยเร่งแก้

วันนี้ (29 มี.ค.2566) นายนรุตม์ชัย บุนนาค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม กทม. พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า จากที่ตนออกมาผลักดันเรื่องอุตสาหกรรมการสักเพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ

ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากกลุ่มผู้ประกอบการร้านสักลายว่า ปัจจุบันมีร้านสักทั่วประเทศกว่า 100,000 แห่ง แต่มีเพียงไม่ถึงครึ่ง ที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นร้านขนาดกลางและใหญ่ ส่วนร้านขนาดเล็ก หรือ ช่างสักที่ไม่มีหน้าร้าน

ส่วนใหญ่จะไม่มีใบอนุญาต จึงอยากให้ช่วยขับเคลื่อนให้ร้านสักทั่วประเทศมีใบอนุญาต เพื่อเป็นการกำหนดมาตรฐานจะได้ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย เพื่อรองรับการเติบโตที่สามารถพัฒนาได้อีกมาก

นายนรุตม์ชัย กล่าวอีกว่า จากข้อมูลที่ตนได้รับ ยังพบว่า ช่างสักที่มีประสบการณ์ จะมีรายได้ที่สูงมาก เฉลี่ย 5,000-30,000 บาทต่อวัน หรือ ประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน ส่วนช่างสักที่ยังมีประสบการณ์น้อย ก็จะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อวัน หรือ 90,000 บาทต่อเดือน

ค่าสักของช่างที่มีประสบการณ์แบบเหมาจ่าย จะเริ่มต้นที่ 5,000 บาท ไปจนถึงหลักล้านบาท ขึ้นอยู่กับแบบและขนาดความใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นอาชีพที่มีรายได้สูงมาก

ดังนั้น ถ้ามีการพัฒนาให้ถูกทาง ก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการร้านสักลายทั่วประเทศ รวมถึงสามารถสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ จากการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาสักได้

ผมมองเห็นโอกาสที่สามารถผลักดันเรื่องนี้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนได้ แต่น่าเสียดาย ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเก็บข้อมูลเชิงลึก เพื่อสามารถนำไปวิเคราะห์พัฒนาต่อยอดได้ เช่น มูลค่าการสักลายทั่วประเทศต่อปีเท่าไหร่

แต่เท่าที่ผมนำรายได้ช่างสักต่อคน ที่เฉลี่ย 1 แสนบาทต่อเดือน มาคำนวณกับตัวเลขร้านสักลายทั่วประเทศกว่า 1 แสนแห่ง ก็จะพอเห็นมูลค่าของวงการสักที่มีถึง 10,000 ล้านบาท ดังนั้น นับว่า เป็นอุตสาหกรรมการสัก ที่ควรส่งเสริมพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน รวมถึงภาครัฐ ก็จะสามารถเก็บเงินเข้าประเทศได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง