ผลวิจัยล่าสุดเผย วัตถุลึกลับ "โอมูอามูอา" ไม่ใช่ยานของเอเลี่ยน

Logo Thai PBS
ผลวิจัยล่าสุดเผย วัตถุลึกลับ "โอมูอามูอา" ไม่ใช่ยานของเอเลี่ยน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"โอมูอามูอา" (Oumuamua) วัตถุลักษณะคล้ายม้วนซิการ์ที่เดินทางมาจากนอกระบบสุริยะ อาจเป็นเพียงแค่เศษน้ำแข็งโสโครกทั่วไป ไม่ใช่ยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวอย่างที่เข้าใจกัน

ในปี ค.ศ. 2017 นักดาราศาสตร์ได้สังเกตเห็นวัตถุรูปทรงประหลาด คล้ายกับซิการ์แบน ๆ ที่มีขนาดประมาณ 200 เมตร เดินทางเข้ามาบุกรุกพื้นที่ระบบสุริยะของเราเป็นครั้งแรก โดยในช่วงนั้นนักดาราศาสตร์คาดว่าวัตถุนี้เป็นเพียงดาวเคราะห์น้อย หรือ ดาวหาง ที่มีต้นกำเนิดมาจากระบบดาวอื่น ซึ่งบังเอิญมีทิศทางการเคลื่อนที่หาเราเท่านั้น นักดาราศาสตร์จึงตั้งชื่อวัตถุนี้ว่า "โอมูอามูอา" (Oumuamua) ที่แปลว่า ผู้ส่งสาส์นจากดินแดนห่างไกลที่เดินทางมาถึงเป็นคนแรก ในภาษาพื้นเมืองของฮาวาย

แต่ทว่าเมื่อ "โอมูอามูอา" เริ่มชะลอตัวลงเมื่อเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์มากขึ้นเรื่อย ๆ วัตถุนี้ก็ดูเหมือนจะเลี้ยวเบนวนอ้อมดวงอาทิตย์ ก่อนที่จะเริ่มเร่งความเร็วขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีทิศทางการเคลื่อนที่ออกไปจากระบบสุริยะของเราในที่สุด ซึ่งพฤติกรรมที่แปลกได้ทำให้นักดาราศาสตร์และสื่อมวลชนบางส่วน ต่างตั้งข้อสงสัยว่า "โอมูอามูอา" นั้น เป็นยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวหรือไม่

จนกระทั่งเมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปี ค.ศ. 2023 นักดาราศาสตร์สองสหายจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐอเมริกา ได้เสนอทฤษฎีผ่านงานวิจัยในนิตยสาร nature ว่าแท้จริงแล้ว "โอมูอามูอา" อาจเป็นวัตถุที่หลงเหลือจากการก่อตัวของดาวเคราะห์จากระบบดาวอื่นก็ได้ ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับ "ดาวหาง" ที่พบเจอได้ทั่วไปในระบบสุริยะของเรา โดยมักจะประกอบไปด้วยแกนกลางน้ำแข็งที่ล้อมรอบด้วยเศษหินกับฝุ่นผงโสโครกอีกทีหนึ่ง

ส่วนการเคลื่อนที่แปลกประหลาดนั้นก็สามารถอธิบายผ่านสมการทางคณิตศาสตร์ได้เช่นกัน ว่าเมื่อ "โอมูอามูอา" เริ่มเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น น้ำแข็งที่อยู่ภายในแกนก็จะเริ่มระเหิดกลายเป็นแก๊สแล้วพุ่งออกมา แต่ทว่าเปลือกหินของ "โอมูอามูอา" นั้นหนากว่าดาวหางทั่วไปจึงอาจทำให้ไม่เห็นเป็นพวยแก๊สล้อมรอบเป็นหางสว่างไสว และอาจปรากฏเป็นไอพ่นเล็ก ๆ ในพื้นที่ที่ชั้นหินบางกว่าส่วนอื่นแทน ซึ่งกล้องโทรทรรศน์บนโลกนั้นยังไม่ละเอียดเพียงพอที่จะตรวจจับได้

โดยในระบบสุริยะของเราก็พอมีตัวอย่างที่คล้ายกันอยู่บ้าง อย่างเช่น "ซีรีส" (Ceres) ดาวเคราะห์แคระที่ตั้งอยู่ระหว่างดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ก็มีส่วนประกอบภายในเป็นน้ำแข็งหุ้มที่ด้วยเปลือกหินเช่นกัน ซึ่งถือว่า "ซีรีส" นั้นเป็นดาวเคราะห์ที่ก่อตัวไม่สมบูรณ์คล้ายกับ "โอมูอามูอา"

นอกจากนี้ นักดาราศาสตร์ท่านอื่นก็ยังได้เสนอเพิ่มเติมว่า มีงานวิจัยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เคยทำการทดลองว่าแก๊สไฮโดรเจนนั้นสามารถเข้าไปอยู่ในก้อนน้ำแข็งได้ระหว่างการรวมตัวกันของเศษหินต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมที่เหมือนกับช่วงเวลาที่ดาวเคราะห์กำลังก่อตัวขึ้น ซึ่งเป็นหลักฐานสนับสนุนว่าแก๊สไฮโดรเจนก็อาจเป็นตัวการสำคัญในการเร่งความเร็วของ "โอมูอามูอา" ได้เช่นกัน

ในขณะที่ช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้นักดาราศาสตร์ก็เริ่มพบเจอดาวหางที่ไม่มีหาง แต่ก็สามารถเร่งความเร็วได้เหมือนกับ "โอมูอามูอา" มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย ถ้าหากในอนาคตนักดาราศาสตร์สามารถตรวจจับวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะที่มีคุณสมบัติเหมือนกับ "โอมูอามูอา" ได้อีกครั้ง วัตถุนั้นก็จะเป็นตะปูตอกฝาโลงตัวสุดท้ายที่จะปิดฉากตำนานที่ว่า "โอมูอามูอา" นั้นเป็นยานอวกาศของมนุษย์ต่างดาวในที่สุด

ที่มาข้อมูล: The New York Times
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง