พบกระแสน้ำลึกที่อุ่นขึ้น กำลังทำให้ระบบนิเวศเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่

Logo Thai PBS
พบกระแสน้ำลึกที่อุ่นขึ้น กำลังทำให้ระบบนิเวศเผชิญกับหายนะครั้งใหญ่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษามหาสมุทรในบริเวณแอนตาร์กติกพบปัญหาใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงของการไหลเวียนของกระแสน้ำลึกที่ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศของโลก ซึ่งเป็นเหตุมาจากภาวะโลกร้อน

การไหลเวียนของกระแสน้ำ คือผู้รักษาสมดุลของโลกที่คอยนำพาความร้อนไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศเขตอบอุ่น อย่างเช่น กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป หากไม่มีกระแสน้ำแล้ว ยุโรปก็จะมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำลงกว่าเดิมราว 10 องศาเซลเซียส ทั้งกระแสน้ำยังช่วยรีไซเคิลออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างมหาสมุทรกับชั้นบรรยากาศอยู่เสมอ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวช่วยควบคุมระดับของแก๊สสองชนิดนี้ในชั้นบรรยากาศโลก

แต่ทว่าล่าสุดกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ณ ศูนย์แอนตาร์กติก กลับพบว่ากระแสน้ำลึก หนึ่งในระบบไหลเวียนกระแสน้ำทางทะเลที่ช่วยรักษาสมดุลของโลกกำลังพังทลายลงอย่างรวดเร็วอันเนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยพวกเขาได้ค้นพบว่าน้ำแข็งในขั้วโลกใต้นั้นละลายลงจนทำให้น้ำทะเลจืด ส่งผลให้กระแสน้ำลึกไม่สามารถทำหน้าที่ในการไหลเวียนผ่านบริเวณขั้วโลกได้อย่างเดิม ส่งผลให้จะเกิดผลกระทบทางด้านระบบนิเวศขึ้นในอนาคต

โดยปกติแล้วกระแสน้ำนั้นมีลักษณะคล้ายกับลม แต่ไม่มีรูปแบบชัดเจนเท่าใดนัก เนื่องจากผืนทวีปทั้ง 7 ได้ขวางกั้นกระแสน้ำไม่ให้ไหลไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจ โดยเราสามารถแบ่งการไหลเวียนของน้ำมหาสมุทรออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กระแสน้ำพื้นผิว (Surface Currents) และกระแสน้ำลึก (Deep Currents)

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงใต้ผืนน้ำ

อนึ่งการที่จะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับมหาสมุทรรอบขั้วโลกใต้ได้นั้น เราก็ต้องเข้าใจการทำงานของกระแสน้ำทั้งสองประเภทเสียก่อน โดยเริ่มจาก “กระแสน้ำที่อยู่บนพื้นผิว” ซึ่งล้วนเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกันจากบริเวณเส้นศูนย์สูตรที่ร้อนกว่าไปยังแถบขั้วโลกอยู่เสมอ ตามหลักการนำพาความร้อน และเมื่อกระแสน้ำเริ่มมีอุณหภูมิต่ำลง น้ำก็จะวกกลับเข้าสู่แถบเส้นศูนย์สูตร ก่อนที่พลังงานจากแสงอาทิตย์จะค่อย ๆ เร่งอุณหภูมิของน้ำให้สูงขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นวัฏจักรโดยสมบูรณ์ การเคลื่อนที่ของกระแสน้ำนี้ย่อมมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศและระบบนิเวศของพื้นที่เขตชายฝั่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนกระแสน้ำลึกนั้น ความเค็มหรือความหนาแน่นของเกลือในมหาสมุทรกลับมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดการไหลเวียนมากกว่าความแตกต่างของอุณหภูมิ เนื่องจากบริเวณเขตศูนย์สูตร แสงอาทิตย์มีความเข้มข้นสูง ทำให้น้ำในมหาสมุทรร้อนจนระเหยกลายเป็นไอ ส่งผลให้น้ำทะเลที่หลงเหลืออยู่มีแร่ธาตุและเกลือตกค้างหนาแน่นและเข้มข้นมาก ต่างจากบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ที่แสงแดดตกกระทบอย่างเจือจาง อุณหภูมิหนาวเย็น การระเหยของน้ำทะเลจึงน้อยกว่าเส้นศูนย์สูตร ความเข้มข้นของแร่ธาตุและเกลือนั้นจึงเจือจางลงตามไปด้วย โดยน้ำทะเลที่มีความหนาแน่นสูงจะไหลไปยังบริเวณที่ความหนาแน่นต่ำกว่า จนทำให้เกิดการไหลเวียนของกระแสน้ำลึก กระแสการไหลเวียนลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “เทอร์โมฮาลีน” (Thermohaline)

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าเมื่อมหาสมุทรเริ่มมีอุณหภูมิสูงขึ้น และน้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายลงทำให้ความเข้มขนของเกลือเปลี่ยนไป จึงส่งผลกระทบต่อและเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรในอัตราที่รวดเร็วอย่างน่าตกใจ โดยผลจากการคำนวณพบว่าในช่วง 150 ปีมานี้ กิจกรรมของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงกระแสน้ำลึกเทียบเท่ากับธรรมชาติที่ใช้เวลาถึง 1,000 ปี ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในเวลาอันสั้นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกที่ปรับตัวไม่ทันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ระเบิดเวลาจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำลึกใต้ท้องมหาสมุทร

ดร.อเดล มอร์ริสสัน (Dr.Adele Morrison) จากศูนย์ผู้เป็นเลิศสาขาวิทยาศาสตร์ในแอนตาร์กติกจากออสเตรเลีย (Australian Centre for Excellence in Antarctic Science—ACEAS) ได้กล่าวว่าการไหลเวียนของกระแสน้ำในมหาสมุทรได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่กำลังสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

เนื่องจากเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในมหาสมุทรบริเวณขั้วโลกใต้ในปัจจุบันคือการที่น้ำแข็งละลายอย่างรวดเร็ว โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเข้าไปในชั้นบรรยากาศปริมาณมหาศาล ซึ่งมีแนวโน้มที่น้ำแข็งขั้วโลกใต้จะละลายเร็วมากขึ้นกว่าเดิมถึง 40% ในอีก 30 ปีข้างหน้า

จนกระทั่งทำให้น้ำทะเลบริเวณนั้นหนาแน่นน้อยลง น้ำบนพื้นผิวที่เจือจางศูนย์เสียความสามารถในการดูดซับคาร์บอน เพราะไม่ได้ถูกกระแสน้ำลึกพัดแทนที่ด้วยน้ำที่ไม่มีคาร์บอนเจือจาง และไม่สามารถจมลงสู่ก้นสมุทรในความลึกที่เหมาะสมได้อย่างเคย ประกอบกับใช้เวลานานขึ้นกว่าที่เคยเป็น ซึ่งหมายความว่ากระแสน้ำลึกที่เคยช่วยพัดเอาแร่ธาตุกระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของโลกก็ย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

การที่วิถีกระแสน้ำลึกเปลี่ยนไปนั้นทำให้ทวีปยุโรปนั้นหนาวขึ้นกว่าเดิมในฤดูหนาว และร้อนกว่าเดิมในฤดูร้อน มิหนำซ้ำการศึกษาล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่ามหาสมุทรนั้นก็กลับดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศได้น้อยลงกว่าเดิม เรียกได้ว่าปัญหานี้ไม่ได้กระทบเพียงแค่ระบบนิเวศของมหาสมุทรบริเวณขั้วโลกใต้เท่านั้น แต่เป็นระบบนิเวศทั่วทั้งโลกต่างหาก

ภัยพิบัติคือผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ารูปแบบกระแสน้ำลึกที่คอยขับเคลื่อนมหาสมุทรในปัจจุบันจะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปถึง 40% ภายในปี ค.ศ. 2050 นี้ ระบบนิเวศทางทะเลที่มนุษย์พึ่งพาอาศัยในฐานะแหล่งอาหารสำคัญก็อาจจะพังทลายลงตามไปด้วย จนกระทั่งเกิดเป็นภัยพิบัติที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ คล้ายกับปฏิกิริยาลูกโซ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านปริมาณออกซิเจนในอากาศ ไปจนถึงอุณหภูมิของโลกที่จะแปรปรวนยิ่งกว่าเดิม ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์เอาไว้ ทั้งระดับน้ำทะเลก็จะสูงขึ้นกว่าเคยจนผืนดินนั้นถูกมวลน้ำเข้าครอบคลุม พื้นที่ชายฝั่งจะลดลง และยังทำลายแนวปะการังที่เป็นแหล่งอาศัยสำคัญของฝูงปลาอีกด้วย

ที่มาข้อมูล: UNSW , BBC 
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง