ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีด “ฟิลเลอร์”

สังคม
10 เม.ย. 66
19:30
822
Logo Thai PBS
ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจฉีด “ฟิลเลอร์”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

กระแสการทำศัลยกรรมใบหน้ากำลังเป็นที่นิยม โดยเฉพาะการฉีดฟิลเลอร์ เพื่อเสริมความงาม แต่หากเกิดความผิดพลาด อาจเกิดอันตรายถึงขั้นตาบอด หรือ เสียโฉม ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ นพ.ธนวรรฒน์ โชติมา นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย เตือนประชาชนถึงข้อควรรู้ก่อนตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์ ย้ำว่าต้องฉีดกับแพทย์เท่านั้นเพื่อความปลอดภัย

ทำความรู้จัก “ฟิลเลอร์” คืออะไร

นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย ระบุว่า ฟิลเลอร์ คือ สารเติมเต็ม ไฮยาลูรอนิค แอซิด (Hyaluronic Acid) หรือ HA เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น เพื่อเลียนแบบสารที่มีอยู่ในร่างกายตามธรรมชาติเมื่ออายุมากขึ้นคอลลาเจนเสื่อมสลาย จะทำให้เกิดริ้วรอย ร่องลึก สารตัวนี้นำไปเติมเต็มบริเวณที่มีริ้วรอยหรือร่องลึก

นพ.ธนวรรฒน์ โชติมา นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย

นพ.ธนวรรฒน์ โชติมา นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย

นพ.ธนวรรฒน์ โชติมา นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย

ในอดีต ฟิลเลอร์มีหลายชนิด เช่น พาราฟิน ซิลิโคนออยล์ สารเหล่านี้เป็นสารที่ไม่สลาย สามารถเกิดการย้อยของซิลิโคน หรือ ซิลิโคนแข็งได้ โดยมีปฏิริยาต่อร่างกายค่อนข้างมาก ต่อมากฎหมายระบุห้ามใช้ จนมาถึงฟิลเลอร์ในปัจจุบัน คือ HA สารตัวนี้ค่อนข้างปลอดภัย หากฉีดในปริมาณมากเกินไปสามารถฉีดเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดสสลายได้


ตัวสาร “ฟิลเลอร์” ค่อนข้างปลอดภัย แต่วิธีฉีดผู้ที่ฉีดต้องเข้าใจกายวิภาคและเทคนิควิธีการฉีดที่ถูกต้อง

ฉีดฟิลเลอร์อาจมีอันตรายอย่างไร

ฟิลเลอร์สามารถฉีดได้ทั่วใบหน้า เช่น หน้าผาก ขมับ ร่องลึกเหนือเบ้าตา ใต้ตา ร่องแก้ม แก้ม คาง โหนกแก้ม หรือแม้แต่หลังมือ

นพ.ธนวรรฒน์ ระบุว่า การฉีดฟิลเลอร์แต่ละจุดมีอันตรายแตกต่างกัน หากฉีดไม่ถูกวิธีอาจไปถูกเส้นเลือดและจะทำให้ฟิลเลอร์ที่เป็นของเหลวเข้าไปอุดตันเส้นเลือด

หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดคือ คลองชลประทานที่มีน้ำไหลผ่าน เมื่อมีสิ่งของไปอุดตัน ส่วนปลายไม่สามารถรับน้ำได้ เช่นเดียวกับร่างกายของคน หากมีฟิลเลอร์เข้าไปอุดตัน ส่วนปลายก็จะไม่ได้รับเลือด เนื้อเยื่อเริ่มตาย ทำให้เห็นสีผิวเริ่มซีด คล้ำ และเป็นสีดำ

บางคนมีอาการแพ้ อาจจะมีผื่นแดงหรืออักเสบ บวมแดง หากติดเชื้อ อักเสบ จะมีหนอง ฝี อาจจะเกิดทันที หรือ 1-2 วัน หลังจากฉีดฟิลเลอร์ แพทย์จะแนะนำหลังจากฉีดให้สังเกตอาการ หากพบอาการผิดปกติให้กลับไปพบแพทย์

ฟิลเลอร์เข้าเส้นเลือด อุดหลอดเลือด โดยเลือดจะทำหน้าที่พาออกซิเจนไปเลี้ยงเนื้อเยื่อ เลือดไปเลี้ยงบริเวณต่าง ๆ ไม่พอ จะทำให้เนื้อเยื่อตาย หากเป็นหลอดเลือดหล่อเลี้ยงลูกตา อาจจะทำให้ตาบอดได้

ผู้ที่สามารถฉีดฟิลเลอร์ได้

นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย ระบุว่า การฉีด การสอดใส่อุปกรณ์เข้าสู่ร่างกายคนไข้ ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมสามารถทำได้จะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น

พยาบาลไม่สามารถทำได้ หากฉีดกับผู้ที่ไม่ใช่แพทย์หรือ “หมอเถื่อน” เมื่อเกิดเหตุจะไม่สามารถรักษาหรือแก้ไขได้ทันที แต่หากฉีดกับแพทย์โดยตรง แพทย์จะจดบันทึกประวัติการฉีด ผลิตภัณฑ์ที่ฉีด เพื่อเป็นข้อมูลหลักฐานไว้ หากแก้ไขไม่ได้จะส่งต่อให้เครือข่ายของสมาคม หรือโรงพยาบาลเพื่อรักษาได้ทัน

พยาบาลทำงานในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่จะไปปฏิบัติการข้างนอกไม่ได้ ไม่มีสิทธิเลย พ.ร.บ.พยาบาลเกี่ยวกับวิชาชีพไม่ได้ให้อำนาจไว้ ทั้งหมดนี้เข้าข่ายหมอเถื่อน

เตือน อย่าใช้ “ราคา” ตัดสินใจทำศัลยกรรม

นพ.ธนวรรฒน์ เตือนประชาชนไม่ควรตัดสินใจฉีดฟิลเลอร์เพราะเห็นว่า ราคาถูก ย้ำว่า ให้สังเกตราคา หากมีราคาต่ำกว่าต้นทุน หรือคลินิกอื่น ๆ ไม่แนะนำให้ฉีด เพราะอาจจะเป็นของปลอม ไม่ผ่าน อย.

รวมทั้งมาตรฐานคลินิก ต้องได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ต้องมีใบอนุญาตสถานประกอบการ ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดที่ใบอนุญาต และตรวจสอบได้ทันที และสามารถตรวจสอบรายชื่อแพทย์ที่ปฏิบัติการจากแพทยสภาได้โดยตรง

คนอื่นที่ไม่มีใบประกอบโรคศิลปะ ไม่มีสิทธิ์ทำอะไรคนไข้ได้เลย ทำไปเท่ากับทำร้ายร่างกายคนไข้ เป็นคดีอาญา เขาไม่มีสิทธิฉีดยา สั่งยาให้ เกิดอะไรขึ้นเหมือนกับการทำร้ายเรา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"มะลิ"เน็ตไอดอล เตือนฉีดฟิลเลอร์พลาดเข้าเส้นเลือดหวิดเสียโฉม 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง