เจาะลึกประวัตินักบินอวกาศ 4 คน ที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ในรอบ 52 ปี

Logo Thai PBS
เจาะลึกประวัตินักบินอวกาศ 4 คน ที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ ในรอบ 52 ปี
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เจาะลึกประวัตินักบินอวกาศทั้ง 4 คน ที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ช่วงสิ้นปี ค.ศ. 2024 กับภารกิจ "อาร์ทิมิส 2" ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเส้นทางการนำพามวลมนุษยชาติกลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 52 ปี

เมื่อวันจันทร์ที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา ทางองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) หรือ นาซา ได้เปิดตัวรายชื่อนักบินอวกาศที่จะเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์ภายใต้ภารกิจ “อาร์ทิมิส 2” (Artemis-II) หลังจากที่องค์การนาซาได้ประสบความสำเร็จด้านการทดสอบระบบจรวดขนส่งและยานอวกาศแบบไร้คนขับไปยังดวงจันทร์ ในภารกิจ "อาร์ทิมิส 1" (Artemis I) เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2022 แล้ว

โดยนักบินอวกาศที่ได้รับเลือกเข้ามาปฏิบัติภารกิจอาร์ทิมิส 2 นี้ จะกลายเป็นมนุษย์กลุ่มแรกที่จะได้เดินทางออกไปสู่อวกาศห้วงลึก (Deep Space) ซึ่งอยู่เลยวงโคจรของโลกออกไปเป็นครั้งแรกในรอบ 52 ปี นับตั้งแต่ภารกิจอะพอลโล 17 (Apollo 17) ได้ลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1972 แต่ทว่าภารกิจอาร์ทิมิสนั้นจะเป็นเพียงแค่การส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์และกลับมายังโลกเท่านั้น เพื่อทดสอบระบบและเตรียมการสำหรับนักบินอวกาศอีกกลุ่มหนึ่งที่จะไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์จริง ๆ ในภารกิจอาร์ทิมิส 3 (Artemis-III) ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากภารกิจอาร์ทิมิส 2 ประมาณ 1-2 ปี

ส่วนแผนการของภารกิจอาร์ทิมิส 2 นั้น ประกอบไปด้วยการใช้จรวด Space Launch System หรือ SLS สำหรับส่งยานอวกาศโอไรออน (Orion) ขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์เฉกเช่นเดียวกับภารกิจอาร์ทิมิส 1 เพียงแต่มีการเพิ่มนักบินอวกาศทั้ง 4 คนเข้าไปในภารกิจเพื่อทดสอบระบบของตัวยานโอไรออนขณะที่อยู่ในอวกาศเท่านั้น ซึ่งคาดการณ์ว่าตัวยานจะใช้เวลาราว 10 วันในการปฏิบัติภารกิจ

นักบินอวกาศทั้ง 4 คนประกอบไปด้วยนักบินอวกาศผู้มากประสบการณ์ที่เคยผ่านการทำภารกิจนอกโลกมาบ้างแล้ว มีทั้งเพศชายและเพศหญิง ผิวขาวและผิวดำ จึงทำให้ภารกิจอาร์ทิมิส 2 เป็นภารกิจแรกของโลกที่มีผู้หญิงและคนผิวดำจะได้เดินทางไปยังดวงจันทร์ ซึ่งรายชื่อลูกเรือทั้งหมดได้แก่

ผู้บัญชาการมากประสบการณ์ : รีด ไวส์แมน (Reid Wiseman)

"รีด ไวส์แมน" ได้ขึ้นไปทำภารกิจในอวกาศเป็นครั้งแรกในตำแหน่งวิศวกรการบินของสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station - ISS) ในภารกิจ Expedition 41 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 2014

ในช่วงเวลานั้น รีด ไวส์แมน และลูกเรือในกลุ่มได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 300 รายการ ไม่ว่าจะด้านการแพทย์หรือ ด้านอื่น ๆ ก็ตาม ซึ่งเขาได้ทำการบันทึกการค้นคว้ามากกว่า 82 ชั่วโมงสำเร็จในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียว รวมถึงได้มีโอกาสไปทำภารกิจนอกตัวยานหรือสเปซวอล์ก (Space Walk) กว่า 13 ชั่วโมง

แต่ก่อนที่เขาจะมาเป็นนักบินอวกาศนั้นเขาได้รับเลือกให้เข้าร่วมสถาบันฝึกฝนนักบินของนาวิกโยธินสหรัฐฯ (U.S. Naval Test Pilot School) จากความสามารถที่โดดเด่น หลังจากนั้นเขาก็ได้ประจำตำแหน่งเป็นนาวิกโยธินและนักบินทดสอบที่ประจำการในทวีปอเมริกาใต้ จนกระทั่งได้เป็นหนึ่งในฝูงบินขับไล่หมายเลข 103 (Strike Fighter Squadron 103) ที่ท่าอากาศยานโอเชียนาใน รัฐเวอร์จิเนีย

รีด ไวส์แมน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์การนาซาในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งเขาเป็น 1 ในสมาชิกทั้ง 9 คนของชั้นเรียนนักบินอวกาศรุ่นที่ 20 ของนาซาก่อนจะสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 2011 และได้รับตำแหน่งเป็นวิศวกรการบินสำหรับภารกิจ Expedition 41 รวมถึงยังได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการสำหรับภารกิจนีโม 21 (NEEMO 21) ที่เน้นไปที่การสำรวจพื้นมหาสมุทร ก่อนที่เขาจะเลื่อนขั้นเป็นผู้บัญชาการในภารกิจอาร์ทิมิส 2 ด้วยในวัย 47 ปี

กัปตันผิวดำผู้ควบคุมยาน : วิคเตอร์ โกลเวอร์ (Victor Glover)

"วิคเตอร์ โกลเวอร์" อดีตกัปตันกองทัพเรือสหรัฐฯ เชื้อชาติแอฟริกัน วัย 46 ปี ได้รับเลือกให้เป็นนักบินอวกาศผู้ควบคุมยานในภารกิจอาร์ทิมิส 2 ซึ่งเขาได้เข้าร่วมมาทำงานกับองค์การนาซา เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งในฐานะสมาชิกสมาคมนิติบัญญัติประจำวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. 2013

โดยภารกิจแรกที่เขาได้รับในฐานะนักบินอวกาศนั้น ก็คือหน้าที่กัปตันผู้ควบคุมยานอวกาศครูว์ดรากอน (Crew Dragon) ของ SpaceX และรองผู้บังคับบัญชาการภายใต้ภารกิจเดียวกัน เพื่อพาตัวเขาและเพื่อนนักบินคนอื่น ๆ เดินทางไปประจำการอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งในขณะที่เขาอยู่บนสถานีฯ นั้นเขาก็ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นวิศวกรเป็นหลัก

ก่อนที่ วิคเตอร์ โกลเวอร์ จะเดินทางกลับมาสู่พื้นผิวโลกเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ปี ค.ศ. 2021 ซึ่งภารกิจนี้ถือเป็นภารกิจครั้งที่สองที่นักบินอวกาศได้เดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติด้วยยานพาหนะของ SpaceX

แต่หากพูดถึงประสบการณ์ของเขาก่อนหน้าที่จะเป็นนักบินอวกาศแล้ว ก็เรียกได้ว่าโชกโชนไม่แพ้กัน ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2001 เมื่อ วิคเตอร์ กลายเป็นหนึ่งในนักบินของฝูงบินวีเอฟเอ 34 (Strike Fighter Squadron VFA-34) ฝูงบินสำคัญที่ร่วมปฏิบัติการขนส่งกองกำลังสนับสนุนในสงครามปลดแอกอิรัก

หลังจากนั้นเขาก็รับเลือกให้ไปเข้าเรียน ณ โรงเรียนฝึกกัปตันกองทัพอากาศสหรัฐฯ (Air Force Test Pilot School) ซึ่งทำให้เขาสามารถควบคุมอากาศยานประเภทต่าง ๆ ได้มากกว่า 30 ชนิด ก่อนที่เขาจะกลายเป็นกัปตันผู้คัดเลือกนักบิน และผู้ฝึกอบรมทางด้านศาสตร์การบินของเครื่องบินเจ็ทอยู่ 2-3 ปี จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2012 ที่เขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสมาคมนิติบัญญัติตามที่กล่าวไปข้างต้น ถือได้ว่า วิคเตอร์ โกลเวอร์ คืออัจฉริยะแห่งวงการอวกาศเลยก็ว่าได้

วิศวกรสาวผู้แข็งแกร่ง : คริสตินา ค็อค (Cristina H. Koch)

นักบินอวกาศหญิงวัย 44 ปีอย่าง "คริสตินา ค็อค" นั้น ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนักบินอวกาศของนาซาภายในปี ค.ศ. 2013 เช่นเดียวกันกับ วิคเตอร์ โกลเวอร์ ซึ่งเธอได้รับหน้าที่เป็นวิศวกรการบินบนสถานีอวกาศนานาชาติ สำหรับภารกิจ Expedition 59, 60 และ 61 มิหนำซ้ำเธอเป็นยังนักบินอวกาศหญิงคนแรกที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่บนอวกาศได้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 328 วัน และยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้ออกไปทำภารกิจนอกตัวสถานีฯ อีกด้วย

อย่างไรก็ดี จุดเริ่มต้นของ คริสติน่า ค็อค นั้น อาจจะแตกต่างจากนักบินอวกาศท่านอื่น ๆ ไปสักหน่อย เพราะเธอนั้นมีอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟ้าประจำศูนย์การบินก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center - GSFC) ของนาซา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เธอได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสู่อวกาศของนาซา

หลังจากนั้นเธอได้กลายมาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยประจำโครงการสำรวจขั้วโลกใต้ของสหรัฐฯ เธอได้อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกใต้อยู่เป็นปี ก่อนจะกลับมาสู่โครงการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับวิทยาการทางอวกาศในฐานะวิศวกรไฟฟ้าที่มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ (Johns Hopkins University) พร้อมกับทำงานทางไกลไปกลับที่สถานีพาล์มเมอร์ (Palmer Station) ณ ขั้วโลกใต้ และที่สถานีซัมมิท (Summit Station) บนเกาะกรีนแลนด์ใกล้ขั้วโลกเหนือ ช่วงฤดูหนาว

จึงทำให้ต่อมาเธอได้รับตำแหน่งเป็นวิศวกรพื้นที่ในเมืองเมือง Utqiagvik หรือ เมือง Barrow รัฐอะแลสกา ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นผู้บัญชาการสถานีของศูนย์วิจัยอเมริกันซาโมอา (American Samoa Observatory) ในปี ค.ศ. 2012 ซึ่งในช่วงนี้เองเธอก็ได้ฝึกพัฒนาเทคนิคการบรรยายและได้เป็นอาสาสมัครด้านการศึกษาให้กับสถาบันต่าง ๆ อีกด้วย

ภายหลังที่เธอได้ร่วมในโครงการการศึกษาของนาซาที่ศูนย์การบินก็อดดาร์ดในปี ค.ศ. 2001 และได้ทำงานในองค์การนาซาหลังจากนั้น เธอก็ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสมาชิกของชั้นเรียนนักบินอวกาศรุ่นที่ 21 จากทั้งหมด 8 คน ก่อนที่จะสำเร็จการฝึกฝนในปี ค.ศ. 2015 และได้รับมอบหมายภารกิจสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 2018 เพื่อทำภารกิจแสนยาวนานบนสถานีอวกาศนานาชาติ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2023 เธอก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอาร์ทิมิส 2 ซึ่งถือว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษจากฝูงบินขับไล่ของแคนาดา : เจเรมี แฮนเซน (Jeremy Hansen)

ชายชาวแคนาดาคนแรกที่กำลังจะได้ทะยานสู่ดวงจันทร์อย่าง "เจเรมี แฮนเซน" นั้นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจอาร์ทิมิส 2 ในวัย 47 ปี ซึ่งเส้นทางสู่อวกาศของเขานั้นเรียกได้ว่าเริ่มต้นตั้งแต่ที่เขาอายุได้เพียง 12 ปีเพียงเท่านั้น จากการที่เขาได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนเยาวชน ของกองทัพอากาศแคนาดา ก่อนจะได้รับใบอนุญาตนักบินส่วนบุคคลด้วยอายุแค่ 17 ปีเพียงเท่านั้น ซึ่งการฝึกฝนด้านการบินของเขาได้นำไปสู่การยอมรับจากราชวิทยาลัยการทหารแซงต์ฌอน (Royal military College Saint-Jean) ที่รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา

อนึ่งการที่ เจเรมี แฮนเซน สามารถพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และมีความมั่นใจในความสามารถของตนเองนั้น ได้ทำให้เขาได้เข้ารับการฝึกในกองทัพแคนาดา และได้จบการศึกษาจากราชวิทยาลัยการทหารแคนาดาในสาขาวิทยาศาสตร์อวกาศ หลังจากนั้นเขาก็สำเร็จการฝึกสำหรับฝูงบินซีเอฟ 18 (CF-18) และได้รับตำแหน่งเป็นกัปตันในฝูงบินหมายเลข 441 และ 409 ก่อนที่จะได้รับเลือกไปฝึกฝนในโครงการการนักบินอวกาศในปี ค.ศ. 2009 ซึ่งเป็นรุ่นที่ 20 ของนาซา และสำเร็จการศึกษาในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งเขาได้ทำงานที่ศูนย์ควบคุมภารกิจระหว่างพื้นดินกับสถานีอวกาศนานาชาติ และในปี ค.ศ. 2013 เขาได้เข้าร่วมโครงการ CAVES ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) บนเกาะซาร์ดิเนีย ประเทศอิตาลี เพื่อฝึกฝนการใช้ชีวิตในอวกาศด้วยการอยู่อาศัยในที่พักใต้ดินแคบ ๆ ถึง 6 วัน

ท้ายที่สุดแล้ว เจเรมี แฮนเซน ได้กลายมาเป็นหนึ่งแรงบันดาลใจของเยาวชนในประเทศแคนาดา จากการแสดงในงานแอร์โชว์ด้วยการขับเครื่องบินเจ็ทขับไล่รุ่นเก๋าอย่าง ฮอว์กวัน เอฟ 86 (Hawk One F-86) ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องบินรบยุคเก่าที่ดีที่สุดที่เคยร่วมรบในสงครามเกาหลี และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในภารกิจนีโม 19 เหมือนกันกับภารกิจนีโม 21 ที่ รีด ไวส์แมน ได้เข้าร่วมในภายหลัง

และทั้งหมดนี้ก็เรื่องราวของลูกเรือทั้ง 4 คนในจะเดินทางไปยังดวงจันทร์ในภารกิจอาร์ทิมิส 2 ซึ่งนับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ครั้งต่อไปที่จะนำพามวลมนุษย์ไปสู่ดวงดาว

ที่มาข้อมูล: NASA
ที่มาภาพ: NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง