"หลุยส์ ปาสเตอร์" ผู้ค้นพบการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์เซชัน และวัคซีนรักษาโรค

Logo Thai PBS
"หลุยส์ ปาสเตอร์" ผู้ค้นพบการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์เซชัน และวัคซีนรักษาโรค
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
20 เมษายน "หลุยส์ ปาสเตอร์" (Louis Pasteur) นักเคมี และนักจุลชีววิทยา ชาวฝรั่งเศส ผู้ค้นพบการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์เซชัน และวัคซีนรักษาโรคสำคัญหลายชนิด ที่ช่วยให้มนุษยชาติอยู่รอดจนถึงทุกวันนี้

ในวันที่โรคระบาดพรากชีวิตมนุษย์ไปหลายชีวิต ชายผู้นี้คือผู้ช่วยชีวิตโดยการคิดค้นวัคซีนที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายจนทำให้มนุษย์สามารถต่อสู้กับโรคระบาดตัวร้ายได้ "หลุยส์ ปาสเตอร์" (Louis Pasteur) เกิดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1822 ที่เมืองโดล (Dole) ประเทศฝรั่งเศส เป็นนักเคมี และนักจุลชีววิทยา นอกจากจะเป็นผู้คิดค้นวัคซีนหลายชนิดแล้วนั้น ยังเป็นผู้คิดค้นการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์เซชันอีกด้วย

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1862 "หลุยส์ ปาสเตอร์" และ "คล็อด เบร์นาร์" นักสรีรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้ร่วมกันทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ “พาสเจอร์ไรซ์เซชัน” (Pasteurization) เป็นครั้งแรก โดยเริ่มมาจากการค้นพบการเน่าเสียของอาหารจุลินทรีย์ และต่อยอดมาเป็นการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ด้วยวิธีการพาสเจอร์ไรซ์เซชัน ที่ทำให้สามารถถนอมอาหารไว้ได้นานมากยิ่งขึ้น

หลุยส์ ปาสเตอร์ และคล็อด เบร์นาร์ ค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ในระหว่างการศึกษาสาเหตุที่ทำให้ไวน์เสียรสขณะบ่ม ซึ่งพบว่าหากนำไวน์ไปอุ่นให้ร้อน จะช่วยฆ่าแบคทีเรียที่จะเปลี่ยนไวน์ให้เป็นน้ำส้มสายชูได้ จึงทำการทดลองโดยการนำของเหลว เช่น นมสด ไปต้มที่อุณหภูมิ 145 องศาฟาเรนไฮต์ จากนั้นทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้จุลินทรีย์ที่อยู่ในนมตายทั้งหมด ก่อนนำไปบรรจุใส่ขวด แล้วใช้สำลีอุดปากขวดเพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไป ซึ่งผลปรากฏว่านมสดนั้นอยู่ได้นานกว่าปกติ โดยไม่เกิดการเน่าเสีย นอกจากการฆ่าเชื้อนมสดแล้ว หลุยส์ ปาสเตอร์ก็ได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น เหล้า เบียร์ และไวน์ ทำให้วิธีการพาสเจอร์ไรซ์กลายเป็นวิธีการถนอมอาหารที่แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นอกจากหลุยส์ ปาสเตอร์ได้ค้นพบวิธีการพาสเจอร์ไรซ์เซชันแล้ว เขาได้ยังช่วยชีวิตมนุษย์ไว้ด้วยการคิดค้นวัคซีนเพื่อเสริมภูมิต้านทานให้กับร่างกายมนุษย์ในการรักษาโรคด้วย ซึ่งวัคซีนที่เขาคิดค้นขึ้นนั้นมีหลากหลาย ได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า อหิวาตกโรค และวัณโรค

เริ่มจากเมื่อปี ค.ศ. 1879 "หลุยส์ ปาสเตอร์" ได้ค้นพบวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคด้วยความบังเอิญ เนื่องจากเขาลืมปิดขวดที่บรรจุไวรัสอหิวาต์เป็นเวลา 1 เดือน และได้ทดลองนำเชื้อไวรัสที่ลืมปิดขวดนี้ฉีดในไก่ พบว่าไก่มีอาการป่วยเล็กน้อยหลังฉีดและหายอย่างรวดเร็ว จึงทำให้เกิดข้อสันนิษฐานที่ว่าไวรัสที่อ่อนแอลงจากการเปิดขวดทิ้งไว้ น่าจะกระตุ้นภูมิต้านทาน ทำให้ไก่ป่วยเพียงเล็กน้อยแต่สามารถหายได้ และไม่ถึงขั้นเสียชีวิต จากนั้นเขาทำการทดสอบข้อสันนิษฐานนี้ ด้วยการลดความแข็งแรงของเชื้อไวรัสลง ก่อนพัฒนามาเป็นวัคซีนที่ใช้กระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์

ทั้งการค้นพบการฆ่าเชื้อแบบพาสเจอร์ไรซ์เซชัน อันนำมาซึ่งวิธีการถนอมอาหารในปัจจุบัน และการคิดค้นวัคซีนเพื่อให้มนุษย์รอดพ้นจากโรคระบาด หลุยส์ ปาสเตอร์ จึงเป็นนักเคมี และนักจุลชีววิทยาที่มีความสำคัญอีก 1 ท่านของโลก และผลงานของเขายังคงตกทอดมาให้นึกถึงจนปัจจุบัน

ที่มาข้อมูล: thelancet, sciencenews, theconversation
ที่มาภาพ: pasteur
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง