สงกรานต์ 4 วัน ตาย 158 บาดเจ็บ 1,431

สังคม
15 เม.ย. 66
10:58
677
Logo Thai PBS
สงกรานต์ 4 วัน ตาย 158 บาดเจ็บ 1,431
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศปถ. สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย.2566 เกิดอุบัติเหตุ 368 ครั้ง เสียชีวิต 44 ราย บาดเจ็บ 368 คน สถิติอุบัติเหตุสะสม 4 วัน (11-14 เม.ย.2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,422 ครั้ง เสียชีวิต 158 ราย บาดเจ็บ 1,431 คน

วันนี้ (15 เม.ย.2566) นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 14 เม.ย.2566 ซึ่งเป็นวันที่สี่ของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 368 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 44 ราย ผู้บาดเจ็บ 368 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 35.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 28.53 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.07

ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.77 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.96 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 78.80

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 19.01 – 20.00 น. ร้อยละ 11.68 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 17.96

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ น่าน (16 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครสวรรค์ และพิษณุโลก (จังหวัดละ 3 ราย)

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,862 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 54,368 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 351,228 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 52,422 ราย มีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่ 15,467 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,144 ราย

สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสม 4 วัน (วันที่ 11 – 14 เม.ย.2566) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,422 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 158 ราย ผู้บาดเจ็บ 1,431 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช และน่าน (จังหวัดละ 45 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (12 ราย) และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ นครศรีธรรมราช (48 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต 12 จังหวัด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง