อีสาน-เหนือ การจราจรคล่องตัว ใต้เพิ่มโบกี้รถไฟ รองรับ ปชช.ตกค้าง

ภูมิภาค
17 เม.ย. 66
12:23
172
Logo Thai PBS
อีสาน-เหนือ การจราจรคล่องตัว ใต้เพิ่มโบกี้รถไฟ รองรับ ปชช.ตกค้าง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
วันนี้ยังคงเป็นอีกวันที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวเดินทางกลับมาสู่ กทม. เพื่อเริ่มทำงานกันในวันพรุ่งนี้ สภาพการจราจร อีสาน-เหนือ ยังคล่องตัว ส่วนทางใต้ รถไฟเต็มทุกเที่ยว ต้องเสริมโบกี้รองรับประชาชนที่ตกค้าง

อีสาน การจราจรเคลื่อนตัวสะดวก-ผู้สูงอายุกังวลโควิดระบาดซ้ำ

วันนี้ (17 เม.ย.2566) การจราจร ถ.มิตรภาพ ช่วงลงเนินเขาซับบอน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ตั้งแต่ช่วงเช้ามืดวันนี้ ภาพรวมการจราจร ปริมาณรถที่มุ่งหน้าจากจากภาคอีสานเข้า กทม. ยังไม่มาก สามารถทำความเร็วได้ 70-80 กม./ชม.

แต่ช่วงสายปริมาณรถเพิ่มขึ้น เนื่องจากรถบางคันจอดแวะตามจุดพักต่างๆ ก่อนจะออกเดินทางต่อ ตำรวจทางหลวงได้เปิดเลนพิเศษรองรับปริมาณรถที่จะเพิ่มขึ้นของวันนี้

ส่วนการจราจรบน ถ.มิตรภาพ ตั้งแต่บริเวณแยกตลาดแค อ.โนนสูง ขาเข้า จ.นครราชสีมา ถือว่าคล่องตัวสามารถทำความได้ 70-80 กม./ชม. จุดนี้ตำรวจจะประเมินสถานการณ์หน้างาน หากรถเคลื่อนตัวได้ปกติ จะปรับสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ แต่หากมีปริมาณรถที่วิ่งมาจากขอนแก่น หนาแน่นเพิ่มขึ้น ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยปรับสัญญาณไฟ เพื่อระบายรถจาก ถ.มิตรภาพ 

อีกจุดที่การจราจรหนาแน่น ช่วงของ อ.ปากช่อง ตลอดช่วงเช้าวันนี้ ตั้งแต่หลักกิโลเมตรที่ 52 หน้าฟาร์มโชคชัย ต.กลางดง ไปจนถึงหลักกิโลเมตรที่ 35 หน้าองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อสค.) เข้าเขต จ.สระบุรี ปริมาณรถเบาบางลงจากเมื่อคืนที่ผ่านมา สามารถทำความเร็ว ประมาณ 60-100 กม./ชม.

ต่างจากเมื่อวานนี้ (16 เม.ย.) ที่มีรถหนาแน่นตลอดทั้งวัน ตำรวจทางหลวงคาดการณ์ว่า รถจะไม่ได้มากเท่ากับเมื่อวานเพราะประชาชนเริ่มเดินทางกลับตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาได้มีการประชาสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการเดินทางเพื่อเลี่ยงรถติด หากใครอยู่บ้านไกลก็ให้ออกเช้า ทำให้ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่บนท้องถนนไม่เกิน 10 ชม. หรือใช้เวลาเดินทางมากกว่าช่วงเวลาปกติ 3-4 ชม.

ขณะที่ ประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ กังวลใจกับการระบาดของโควิด-19 อาจจะระบาดอีกรอบ จากการเปิดพื้นที่จัดงานสงกรานต์ นักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำสงกรานต์จำนวนมาก ทั้งในต่างจังหวัด โดยเฉพาะ กทม. ที่ ถ.ข้าวสาร ถ.สีลม ทำให้หลายคนกังวลใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่มองปรากฏการณ์เล่นน้ำสงกรานต์ที่คึกคักในรอบ 3 ปี ว่าอาจจะทำให้การระบาด โควิด-19 เพิ่มขึ้นสูงได้

ทางด้านสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 นครราชสีมา เนืองแน่นไปด้วยประชาชนที่เดินทางกลับไปทำงาน โดยเฉพาะจุดขายตั๋ว เส้นทาง กทม. และภาคตะวันออก ปลายทางชลบุรี ระยอง และจันทบุรี คาดการณ์ว่าวันนี้ ผู้คนจะมาใช้บริการหนาแน่น

เหนือ นทท.จองตั๋วขากลับล่วงหน้า หมดปัญหาตกรถ

วันนี้ (17 เม.ย.2566) ที่ อ.เมืองเชียงใหม่ หลังเสร็จสิ้นเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนและนักท่องเที่ยวทยอยเดินทางไปขึ้นรถที่สถานีขนส่งอาเขต ส่วนใหญ่ ผู้โดยสารได้จองตั๋วล่วงหน้าไว้แล้ว จึงไม่เกิดปัญหารอคิวซื้อตั๋วและรอรถเป็นเวลานาน ส่วนสภาพการจราจรบน ถ.พหลโยธิน ช่วง เชียงใหม่-ลำปาง ยังคล่องตัว รถสามารถทำความเร็วได้

ทางด้าน จ.พิษณุโลก ผู้โดยสารทยอยเข้าซื้อตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางเข้ากรุงเทพฯ บางส่วนเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ และพระภิกษุ หลายคนบอกชอบการเดินทางด้วยรถไฟ เพราะสะดวกกว่าการรถโดยสารสาธารณะ

สำหรับผู้ที่เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว การเดินทางเข้า กทม. เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ พบว่ายังมีปริมาณรถต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างบางตากว่าเมื่อวานนี้ เพราะประชาชนบางส่วน ทยอยกลับล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อวาน โดยถนนสายหลักขาเข้า อย่างทางหลวงหมายเลข 117 นครสวรรค์-พิษณุโลก และ ถ.พหลโยธิน นครสวรรค์-กำแพงเพชร รถสามารถทำความเร็วได้

เส้นทางรถไฟท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดให้บริการอีกครั้ง

วันนี้ (17 เม.ย.2566) ผู้โดยสารรถไฟ สถานียะลาเข้าแถวซื้อบัตรโดยสาร เพื่อเดินทางด้วยขบวนรถไฟท้องถิ่น ยะลา-สุไหงโกลก และ ขบวนยะลา-นครศรีธรรมราช ซึ่งกลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้ง หลังเกิดเหตุลอบวางระเบิดเส้นทางรถไฟระหว่างเส้นทางยะลา – ไม้แก่น บริเวณ ม. 4 บ้านนักโต๊ะโมง ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา จนรางรถไฟได้รับความเสียหาย ใช้งานไม่ได้ กระทั่งเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เร่งเข้าซ่อมแซมจนสามารถเปิดให้บริการได้ ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่

ส่วนที่สถานีรถไฟตรัง ผู้โดยสารทยอยรอรถไฟที่สถานีรถไฟตรัง เพื่อเดินทางกลับหลังฉลองเทศกาลสงกรานต์กับครอบครัว โดยเฉพาะขบวนรถไฟเร็วกันตัง-กรุงเทพฯ ที่มีผู้โดยสารเดินทางเต็มขบวนรถเพื่อกลับไปเตรียมตัวทำงาน

ซึ่งจังหวัดตรัง มีรถไฟขาขึ้น-ล่อง กทม. วันละ 2 ขบวน คือ ขบวนรถเร็ว กันตัง-กรุงเทพฯ และขบวนรถด่วนตรัง-กรุงเทพฯ

เจ้าหน้าได้ขึ้นป้ายประกาศรถไฟ ทั้ง 2 ขบวน มีผู้โดยสารจองเต็มทุกที่นั่ง ซึ่งการรถไฟได้เสริมโบกี้รองรับประชาชนไม่ให้ตกค้างทั้ง 2 ขบวน โดยทางเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย ทั้งภายในสถานีรถไฟและบนขบวนรถไฟ

อ่านข่าวเพิ่ม :

7 วันอันตรายสงกรานต์ 6 วัน ตาย 236 เจ็บ 2,005

รอนาน! ผู้โดยสารหมอชิต 2 เจอปัญหาแท็กซี่ขาดช่วง-ไม่เพียงพอ

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง