นักวิจัยพบแบคทีเรีย ยับยั้งการผลิตกรดไขมันสามารถหยุดเชื้อดื้อยาได้

Logo Thai PBS
นักวิจัยพบแบคทีเรีย ยับยั้งการผลิตกรดไขมันสามารถหยุดเชื้อดื้อยาได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัยพบว่าแบคทีเรียอ่อนแอลงต่อยาปฏิชีวนะถ้าแบคทีเรียไม่สามารถผลิตกรดไขมันได้

แบคทีเรียได้มีการวิวัฒนาการเพื่อให้ดื้อต่อยาปฏิชีวนะตั้งแต่ครั้งที่เริ่มผลิตยาขึ้นมาเป็นเวลานับศตวรรษ ทุกวันนี้มีเพียงยาแค่กลุ่มเล็ก ๆ เพียงเท่านั้นที่พอจะรักษาโรคบางชนิดได้ แต่ในขณะเดียวกันประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ก็กำลังลดลงอีกด้วย

อีรีค บราวน์ (Eric Brown) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (Mcmaster University) และคณะจากประเทศแคนาดาได้ศึกษาการแสดงผลร่วมของยาปฏิชีวนะกับแบคทีเรียสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นแบคทีเรียที่ดื้อยาโคลิสติน (colistin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะทางเลือกสุดท้ายที่ถูกใช้ในการรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียที่ดื้อยาหลายขนาน อีกกลุ่มเป็นแบคทีเรียที่ไม่ดื้อยา

จากการทดลองพบว่า แบคทีเรียที่ดื้อยาโคลิสตินจะผลิตไบโอติน (biotin) หรือวิตามินบี 7 ออกมา นักวิจัยจึงได้ลองใช้ยาโคลิสตินร่วมกับยาที่ขัดขวางการผลิตไบโอตินจากแบคทีเรีย และเทียบประสิทธิผล (efficacy) กับแบคทีเรียทั้ง 2 กลุ่มนี้โดยดูจากค่า FIC (fractional inhibitory concentration) ซึ่งยิ่งมีค่า FIC ที่น้อยเท่าไร ประสิทธิผลก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น โดยจะมีช่วงค่าอยู่ที่ 0-1

จากการวัดค่า FIC พบว่ากลุ่มของแบคทีเรียที่ดื้อยาโคลิสตินจะมีค่า FIC อยู่ที่ 0.3 ในขณะที่กลุ่มของแบคทีเรียไม่ดื้อยาจะอยู่ที่ 0.5 จากค่าดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการลดการผลิตไบโอตินจะทำให้แบคทีเรียอ่อนแอลงต่อยาปฏิชีวนะ แต่จะมีผลแค่กับแบคทีเรียที่ดื้อยาอยู่แล้วเท่านั้น

"ไบโอติน มีความจำเป็นในแบคทีเรียด้วยเหตุผลอย่างหนึ่ง นั่นคือการทำหน้าที่เป็นสารอนินทรีย์ที่จำเป็นในการทำงานของเอนไซม์หรือโคแฟกเตอร์ (co-factor) สำหรับผลิตกรดไขมัน" บราวน์กล่าว

ทางทีมวิจัยจึงได้ศึกษาต่อด้วยการนำไปทดสอบกับหนูทดลอง 18 ตัว โดยทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย Klebsiella pneumoniae ซึ่งก่อให้เกิดโรคปอดบวม (pneumonia) และมีสถานะดื้อยาโคลิสตินอยู่ จากนั้นก็แบ่งหนูออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกทดลองกับยาโคลิสตินเพียงอย่างเดียว อีกกลุ่มทดลองกับยาโคลิสตินและยาที่ยับยั้งการสร้างกรดไขมัน พบว่าหนูที่ได้รับยาทั้งสองชนิดจะมีจำนวนแบคทีเรียน้อยกว่าถึง 99.9% แสดงให้เห็นว่าการยับยั้งการผลิตกรดไขมันจะสามารถเอาชนะการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรียได้ 

อย่างไรก็ตาม ยาที่ยับยั้งการผลิตกรดไขมันก็ยังไม่สามารถเอามาใช้กับมนุษย์ได้ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ แต่ถึงอย่างนั้น การค้นพบในครั้งนี้ทำให้เราเข้าใจกลไกการดื้อยาของเชื้อมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาวิธีรักษาเพื่อต่อสู้กับเชื้อดื้อยาต่อไป

ที่มาข้อมูล: New Scientist
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง