ทำคลัง DNA "ปลาฉลาม-กระเบน" คุมค้าข้ามแดน

ไลฟ์สไตล์
23 พ.ค. 66
15:30
669
Logo Thai PBS
ทำคลัง DNA "ปลาฉลาม-กระเบน" คุมค้าข้ามแดน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

มีการเปรียบเปรยว่า "ฉลาม" คือ เทพเจ้าแห่งปลา และ "กระเบน" คือปลาแห่งความโชคดี หากชาวประมงหรือใครก็ตามยังพบปลาเหล่านี้ถือว่า ท้องทะเลนั้นๆ ยังมีสภาพแวดล้อมที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากกว่าท้องทะเลใดๆ

ข้อมูลจากสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพาและทีมนักวิชาการกรมประมง ระบุว่า

ทั่วโลกพบ กลุ่มปลาฉลามและกระเบน มากกว่า 1,100 ชนิด แต่ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา
ได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วจนถึงจุดวิกฤต

หลายชนิดความชุกชุมลดลงมากกว่าร้อยละ 70 จากที่เคยมีในอดีต และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง สาเหตุนอกจากการทำประมงผิดกฎหมาย ไร้การควบคุม การประมงที่เกินกำลังการทดแทนของประชากร (Overfishing) และผลกระทบอื่นจากมนุษย์ที่ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยมีสภาพเสื่อมโทรมแล้ว

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ปลาฉลามลดลง คือ ความนิยมบริโภค "ครีบปลาฉลาม" ในภูมิภาคเอเชีย แม้หลายๆ ประเทศทั่วโลกและไทยจะตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว โดยกำหนดมาตรการทางกฎหมายระดับนานาชาติที่ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ ไซเตส (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora : CITES)

และมีกฎหมาย พ.ร.บ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า บังคับใช้
แต่สัตว์กลุ่มนี้ยังคงถูกคุกคามอย่างหนัก

หนุนทำคลัง DNA บาร์โค้ด "ปลาฉลาม-กระเบน"

นางวิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ระบุว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา และ กรมประมง ร่วมกันทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์และบริหารจัดการปลาฉลามและกระเบนของประเทศไทย พ.ศ.2563–2567 ให้สอดคล้องกับมาตรการระดับนานาชาติ สร้างองค์ความรู้ด้านชีววิทยา นิเวศวิทยา และสถานภาพทางการประมง การใช้ประโยชน์จากปลาฉลามและกระเบน

"โดยเฉพาะการสร้างคลังความรู้ด้าน DNA จำแนกชนิดในกลุ่มที่มีสัณฐานใกล้เคียงกัน จนยังไม่สามารถยืนยันชนิดได้ ( Look alike หรือ Cryptic species) ระบุความหลากหลายทางพันธุกรรมของประชากร และพัฒนาเครื่องมือที่จะตรวจสอบชนิดในผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากปลาฉลามและกระเบน ที่ไม่สามารถระบุชนิดได้อย่างชัดเจนจากชิ้นส่วนได้"

ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังกล่าวอีกว่าการทำข้อมูล DNA ปลาฉลามและกระเบน จะช่วยให้เห็นภาพความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์กลุ่มนี้ได้หลายระดับ และยังนำไปประยุกต์ใช้ด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปจากปลาฉลามและกระเบน ที่ขายทั้งในและต่างประเทศ เช่น ครีบปลาฉลามตากแห้ง ครีบปลาฉลามบรรจุกระป๋อง หรือ อาหารที่ทำจากชิ้นส่วนของปลาฉลามหรือกระเบน

"ฉลาม-กระเบน" ถูกคุกคาม-เสี่ยงสูญพันธ์ุ

ปัจจุบันมีการรายงานการพบปลาฉลามและกระเบน ในน่านน้ำประเทศไทยจำนวน 186 ชนิด แบ่งเป็นปลาฉลาม 87 ชนิด และ กระเบน 99 ชนิด ทั้งนี้ ปลาฉลามและกระเบนส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะถูกคุมคามและมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

ร.ศ.ดร.วันศุกร์ เสนานาญ ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญด้วยเกณฑ์ของ IUCN (International Union of Conservation of Nature : IUCN) ประเมินพบปลาฉลามจำนวน 66 ชนิด จาก 87 ชนิด และกระเบน จำนวน 71 ชนิด จาก 99 ชนิด ซึ่งมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ หรือ ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งยังไม่รวมชนิดที่ข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการประเมิน และการออกแบบมาตรการเพื่อควบคุมการค้าปลาฉลามระหว่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่ม : รู้จัก "วาฬสีน้ำเงิน" หลังครม.เห็นชอบบรรจุบัญชีสัตว์ป่าสงวนไทย

"ผลวิจัยจะถูกนำไปใช้เป็นฐานข้อมูล DNA ของปลาฉลามและกระเบนที่พบในน่านน้ำของไทย ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับสัณฐาน เพื่อจำแนกชนิดในปลาฉลามกบและปลากระเบนธง เป็นพื้นฐานเพื่อประเมินสถานะความเสี่ยงของชนิด ประชากร และแบ่งกลุ่มประชากรของปลาฉลามที่เป็นชนิดเด่นของไทย เช่น ปลาฉลามหูดำ ซึ่งกระจายอยู่ในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน" ร.ศ.ดร.วันศุกร์ กล่าว

แม้การพัฒนาคลังข้อมูล DNA บาร์โค้ดของปลาฉลามและปลากระเบนในไทย จะช่วยให้เห็นภาพความหลากหลายทางชีวภาพและสามารถควบคุมการค้าได้อย่างเหมาะสม

แต่หากมีการลักลอบล่าและนำไปบริโภค "ฉลาม" ที่เสมือน เทพเจ้าแห่งปลา และ "กระเบน" ปลาแห่งความโชคดี ก็มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่ม : 

 ข่าวดี คาด "เสือดาว-เสือดำ" เพิ่มเป็น 200 ตัว เล็งติดกล้องสำรวจ

"เสือดำแม่ลูก" โชว์ตัวอุทยานฯ แก่งกระจาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง