จับตา! "เอลนีโญ" ปี 66 กดดันผลผลิตข้าวนาปีลดลง 4.1-6%

ภัยพิบัติ
3 มิ.ย. 66
17:47
1,673
Logo Thai PBS
จับตา! "เอลนีโญ" ปี 66 กดดันผลผลิตข้าวนาปีลดลง 4.1-6%
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน "เอลนีโญ" ปี 2566-2567 ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีในปี 2566 อาจลดลงราว 4.1-6% หรือมีปริมาณอยู่ที่ 25.1-25.6 ล้านตัน ขณะที่กรมชลประทานขอชาวนาลุ่มเจ้าพระยางดทำนาปรังรอบ 2

สถานการณ์ภาวะโลกร้อน ซึ่งองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ประเมินว่า ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศสุดขั้ว โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงภาวะฝนทิ้งช่วง และฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5-10%

ขณะที่กรมชลประทาน ขอความร่วมมือชาวนาในลุ่มเจ้าพระยา งดทำนาปรังรอบที่ 2 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 เป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง

ซึ่งมีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศไปแล้ว 19,682 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 72 % ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 7,113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น79 % จนถึงขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศไปแล้ว 9.96 ล้านไร่

ล่าสุดจากการเริ่มต้นฤดูฝน และฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรไทยในปี 2566 (หลังวันพืชมงคลของทุกปี) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ด้วยราคาข้าวที่ยืนสูง และความความต้องการในตลาดโลกที่สูง จะจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าว และเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น

แม้จะเผชิญต้นทุนการผลิตที่สูง แต่การเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมากขึ้นหลังจากเริ่มปลูกในเดือน พ.ค.จนกระทั่งเก็บเกี่ยว อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวนาปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากเอลนีโญไม่รุนแรงนัก ผลผลิตข้าวนาปีในปี 2566 อาจลดลงราว 4.1-6 % หรือมีปริมาณอยู่ที่ 25.1-25.6 ล้านตัน ซึ่งเมื่อรวมกับผลผลิตข้าวนาปรังที่ราว 7.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 23.4 % จากต้นทุนน้ำในเขื่อนที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้ผลผลิตข้าวรวมของไทยในปี 2566 อาจอยู่ที่ราว 32.7-33.2 ล้านตัน

ก็น่าจะเป็นปริมาณผลผลิตข้าวรวม ที่ยังเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565 แต่หากเกิดภาวะแล้งจัด หรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเสียหายมากขึ้น และอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศให้ต่ำกว่ากรอบที่ประเมินไว้ 

สำหรับในปี 2567 จากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมมาในช่วงปลายปี 2566 ให้ลดลง ซึ่งเป็นน้ำที่ใช้สำหรับปลูกข้าวนาปรังในปี 2567 ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเอลนีโญน่าจะกินระยะเวลานาน จึงมีความเสี่ยงที่ทั้งผลผลิตข้าวนาปรังและนาปีของไทยในปี 2567 คงจะลดลง ดังนั้น การวางแผนบริหารจัดการน้ำ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน

"ติดตามสถานการณ์สภาพแวดล้อม ภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไปกับไทยพีบีเอสใน 1.5 องศาจุดเปลี่ยนโลก"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว

โลกร้อน “ลานีญา” สลับขั้ว "เอลนีโญ"ไทยเผชิญฝนน้อย-แล้งยาว 19 เดือน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง