เตือนนักวิ่ง! พบปี'65 หมดสติคางาน 24 คน "ฮีทสโตรก" ตาย 1 คน

สังคม
7 มิ.ย. 66
12:03
3,334
Logo Thai PBS
เตือนนักวิ่ง! พบปี'65 หมดสติคางาน 24 คน "ฮีทสโตรก" ตาย 1 คน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมควบคุมโรค เตือนนักวิ่ง นักกีฬากลุ่มเสี่ยงเผชิญภาวะฮีทสโตรก หลังพบปี 2565 สถิติจัดงานวิ่ง 832 งาน หมดสติคางาน 24 คน ตาย 1 คน หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน 11 คน แนะ 10 ข้อวิ่งอย่างปลอดภัย

วันนี้ (7 มิ.ย.2566) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เนื่องในวันพุธแรกของเดือน มิ.ย.ของทุกปีเป็นวันวิ่งโลก (Global Running Day) ปัจจุบันการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง เป็นที่นิยมเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย แต่จากการเฝ้าระวังของกองโรคไม่ติดต่อกรมควบคุมโรค กรณีภาวะวิกฤตหัวใจและหลอดเลือด ฮีทสโตรก หรือการเสียชีวิตขณะวิ่งในงานวิ่ง

พบว่าปี 2565 จากการจัดงานวิ่ง 832 งาน พบเหตุการณ์หมดสติในงานวิ่งจำนวน 24 คน เสียชีวิต 1 คน พบหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถึง 11 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุระหว่าง 50-59 ปี

อ่านข่าวเพิ่ม อาการแบบไหนเสี่ยง "ฮีทสโตรก" ภัยหน้าร้อนที่ต้องระวัง

พบผู้หมดสติ-เสียชีวิตเป็นนักวิ่ง-นักกีฬา

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในจำนวนนี้ 23 คนที่หมดสติรวมถึงผู้เสียชีวิตเป็นนักวิ่ง นักกีฬา หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ระยะทางขณะวิ่งที่เกิดเหตุการณ์มากที่สุดคือ ระยะทางสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย (Quarter 4) ส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตนเองมีโรคประจำตัว หรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว แต่ขาดการรักษาทานยาไม่ต่อเนื่อง

สาเหตุที่ทำให้นักวิ่งหมดสติ หรือเสียชีวิต ได้แก่ 1.การเร่งทำลายสถิติตนเอง 2.ดื่มน้ำไม่เพียงพอ 3.กินยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจ 4.การฝึกฝนที่ไม่เพียงพอต่อระยะทางที่ลงแข่งขัน 5.ความถี่ของการลงแข่งขันที่บ่อยและหักโหมเกินไป

ดังนั้นนักวิ่งต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของตนเองเป็นอันดับแรก และสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดรูปแบบการวิ่ง ให้เหมาะสมกับตนเอง

10 คำแนะนำวิ่งอย่างปลอดภัย

นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่การวิ่งมาราธอนที่ขาดการเตรียมตัวหรือหักโหมเกินไปในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง จะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเกิดภาวะวิกฤตได้ ข้อแนะนำก่อนการลงแข่งขันสำหรับนักวิ่ง ดังนี้

  • เตรียมพร้อม ฝึกฝนร่างกายให้เพียงพอกับระยะทางการลงแข่งขัน
  • ไม่ลงแข่งขันวิ่งระยะทางไกลในช่วงเวลาที่ติดต่อกันมากเกินไป
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม
  • ไม่ควรรับประทานยาที่มีฤทธิ์กดการเต้นของหัวใจทั้งก่อนวิ่งและขณะวิ่ง
  • นักวิ่งที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ก่อนลงแข่งขันทุกครั้ง
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันวิ่ง
  • ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี
  • ให้ข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริง เพื่อประโยชน์กับทีมแพทย์ในการเตรียมความพร้อมให้การดูแล และเฝ้าระวังเหตุการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์
  • ตรวจสอบอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และค่าฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้าก่อนถึงวันแข่งขันจริง เพื่อเตรียมพร้อมร่างกาย วางแผนการดื่มน้ำระหว่างวิ่งให้เหมาะสม
  • หากมีอาการ แน่นหน้าอกหรือหน้ามืด ควรหยุดพักและแจ้งหน่วยแพทย์ในงานวิ่งทันที

นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผอ.กองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า การวิ่งครั้งละ 30 นาที 5 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยให้หัวใจแข็งแรงขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง ลดเสี่ยงอัลไซเมอร์ ช่วยให้อารมณ์ดี และที่สำคัญนอนหลับได้ดีขึ้น จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์เพื่อสุขภาพที่ดี การวิ่งที่ดี คือไม่วิ่ง ระยะทางไกลมากเกินไป ไม่วิ่งเร็วเกินไป ไม่วิ่งติดต่อกันจนเกินไป ควรเว้นวันพักผ่อนให้เหมาะสมกับระยะทาง และต้องวิ่งอย่างปลอดภัยโดยการเตรียมความพร้อมก่อนลงแข่งขัน  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก "ฮีทสโตรก" ภัยความร้อนเกิน 40 องศาฯ ตายเฉลี่ย 33 คนต่อปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง