นักกฎหมายชี้ "พิธา" ยังถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯได้ หากศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

การเมือง
14 มิ.ย. 66
10:35
803
Logo Thai PBS
นักกฎหมายชี้ "พิธา" ยังถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯได้  หากศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักนิติศาสตร์ ชี้ "พิธา" ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯได้ หากศาลให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เทียบกรณี "ธนาธร" แม้ศาลฯสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ยังถูกเสนอชื่อในฐานะแคนดิเดตนายกฯได้

นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงกรณีการตรวจสอบสมาชิสภาพ ส.ส. และ การเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า 

หลายท่านสอบถามมากรณีของคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับกลไกการตรวจสอบสมาชิกภาพ ส.ส. และการเสนอชื่อบุคคลซึ่งสมควรได้รับความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (แคนดิเดตนายกฯ) ว่าเป็นเช่นไร เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจข้อกฎหมาย (รัฐธรรมนูญ) และข้อเท็จจริงที่ถูกต้องไม่คลาดเคลื่อน ผมจึงขออธิบายโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

1. ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) ไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนอย่างฉบับปี 2540 และ 2550)

2. จากข้อ 1. หากปรากฏว่ามีการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของคุณพิธาว่าสิ้นสมาชิกภาพไปแล้วหรือไม่ (เพราะถือหุ้น itv) และศาลเห็นควรให้มีการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย (ม.82) จึงย่อมไม่ส่งผลทางกฎหมายกับการเสนอชื่อคุณพิธาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ (ม.159)

3. กรณีตามข้อ 2. เคยเกิดขึ้นแล้วกับกรณีคุณธนาธร ขณะนั้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยมีการอ่านคำสั่งในวันแรกของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อลงมติเลือกประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (25 พ.ค.2562)

ต่อมามีการนัดประชุมรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. 2562 เพื่อลงมติเลือกนายกฯ ขณะนั้นมีการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ หาได้มีปัญหาทางกฎหมายใด ๆ โดยผลการลงมติของรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ ชนะจนได้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ดังนั้น ทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงกรณีคุณพิธาหากเกิดขึ้นจึงพึงต้องเป็นเช่นนี้ครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง