หรือจะซ้ำรอย ? หาก "พิธา" ถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.

การเมือง
12 ก.ค. 66
17:02
6,603
Logo Thai PBS
หรือจะซ้ำรอย ? หาก "พิธา" ถูกสั่งยุติปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อาจจะซ้ำรอยทั้งกรณี "ธนาธร-ถือหุ้นสื่อ" และ "พล.อ.ประยุทธ์-ปมนายกฯ 8 ปี" รวมกันใน "พิธา-หุ้นสื่อ itv" หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและมีคำวินิจฉัยให้ยุติหน้าที่ ส.ส. หลากหลายฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดบนเส้นทางตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์"

หลังจากที่วันนี้ (12 ก.ค.2566) กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่ จากเหตุมีชื่อถือครองหุ้นสื่อ บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น รวมทั้งมีคำขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ไว้จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

ทำเอาเจ้าตัวหัวเสีย เดินออกจากที่ประชุมรัฐสภาในการประชุมสภาฯ วันแรกทันทีที่ทราบข่าว ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และสมาชิกพรรค ร่วมแถลงที่รัฐสภาระบุ กกต.ดำเนินการไม่ถูกต้องตามระเบียบ เร่งรีบส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปม "พิธา" ถือหุ้นไอทีวี ถามเหตุใดไม่ให้ "พิธา" ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ยันไม่สามารถนำคดีกู้เงินพรรคอนาคตใหม่มาเทียบเคียงกับคดีถือหุ้นไอทีวีได้ เล็งฟ้อง กกต. ม.157

กกต.ทำงานรวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม ถ้าระบบราชการไทยทำงานรวดเร็วเช่นนี้ ประเทศชาติเจริญแน่นอน 
คำแถลงการณ์จากพรรคก้าวไกล

คำแถลงการณ์จากพรรคก้าวไกล

คำแถลงการณ์จากพรรคก้าวไกล

ส่วนความเคลื่อนไหวด้านนอกสภาฯ กลุ่มผู้สนับสนุนประชาธิปไตยและหนุนนายพิธา เป็นนายกฯ อาทิ นายอานนท์ นำภา, กลุ่ม KoratMovement จ.นครราชสีมา, กลุ่มคบเพลิง จ.อุบลราชธานี, กลุ่มพิราบขาวเพื่อมวลชน จ.ลำปาง, กลุ่มประชาคมมอชอ จ.เชียงใหม่, กลุ่ม Surin Movement จ.สุรินทร์ เป็นต้น ได้นัดรวมพลผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงพลังประชาธิปไตย ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของ กกต.

แต่ยังไงก็ได้โหวต

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159

ตามมาตรา 158 วรรคสาม ในรัฐธรรมนูญ 2560 บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ดังนั้นนายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ ทั้งนี้สภาผู้แทนราษฎรต้องให้ความเห็นชอบ 

แปลไทยเป็นไทยให้ใจเย็นคือ ในวันที่ 13 ก.ค.2566 "พิธา" ยังสามารถถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ได้อยู่ 

แม้วันนี้ (12 ก.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญเปิดเผยว่าจะยังไม่พิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับคำร้องที่ กกต. ยื่นเรื่องให้ เพราะต้องเข้าตามกระบวนการเพื่อความรอบคอบในการพิจารณา ฉากทัศน์ที่จะเกิดขึ้นก็แบ่งออกได้เป็น 2 ทาง 

  1. หากศาลรัฐธรรมนูญ ไม่รับ คำร้องจาก กกต. - พิธา ก็ยังมีสิทธิถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ อ้างอิงตาม ม.158 วรรคสาม นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส.
  2. หากศาลรัฐธรรมนูญ รับ คำร้องจาก กกต. - พิธา ก็ยังมีสิทธิถูกเสนอชื่อโหวตเป็นนายกฯ ได้ อ้างอิงตาม ม.158 วรรคสาม นายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. 

กรอบการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคือ พิจารณาตามข้อเรียกร้อง ในเมื่อ กกต. ยื่นเรื่องให้พิจารณา ให้พิธายุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หากศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและพิจารณาว่า พิธามีความผิดกรณีถือหุ้นสื่อไอทีวีจริง จะส่งผลให้มีคำวินิจฉัยให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ได้

เงื่อนเวลาของ "พิธา" 

"วันโหวตนายกฯ" 13 ก.ค.2566 ในฉากทัศน์ที่ศาลรัฐธรรมนูญ "ยัง" ไม่รับคำร้องจาก กกต. พิธาก็ยังมีสถานภาพเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และสามารถเดินเข้ารัฐสภาเพื่อร่วมโหวตตัวเองเป็นนายกฯ ร่วมกับอีกทั้ง 8 พรรคร่วมได้

แต่เมื่อถึงช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง และ พิจารณาคำร้อง และ วินิจฉัยว่าพิธาผิด ก็จะมีคำสั่งให้ "พิธา" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) และอาจถูกพิจารณาโทษตามมาตรา 151 ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิสมัคร ส.ส. แต่ยังลงสมัคร ก็มีความเป็นไปได้ที่ "พิธาจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง 20 ปี" ตามบทลงโทษ

อีกฉากทัศน์ที่ต้องจับตาให้ไวกว่านั้นคือ หากช่วงเช้าของวันที่ 13 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ "รับ" คำร้องและสั่งให้ พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นกรณีเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกสั่งเมื่อให้ยุติหน้าที่นายกรัฐมนตรีในวันที่ 30 ก.ย.2565 กรณีปมนายกฯ 8 ปี 

พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาล รธน.สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ปมนายกฯ 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาล รธน.สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ปมนายกฯ 8 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ ถูกศาล รธน.สั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ปมนายกฯ 8 ปี

นั่นหมายถึงพิธาจะไม่มีสิทธิเดินเข้ารัฐสภา จนกว่าศาลจะมีคำสั่ง

ตามกำหนดการของวันโหวตนายกฯ ที่ "วันนอร์" ประธานสภาฯ เปิดเผย เคาะเริ่มโหวตนายกฯ 5 โมงเย็น และจะแบ่งเวลาอภิปราย ส.ส. 4 ชม. - ส.ว. 2 ชม. ซึ่งในขั้นตอนนั้นจะมีช่วงเวลาที่ พิธา ต้องอภิปรายเช่นกัน

แต่เมื่อ พิธา ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จึงไม่มีเหตุผลใดที่ บุคคลที่ไม่ได้ทำหน้าที่ ส.ส. จะเดินเข้าสภาฯ แล้วความสง่างามของการเป็นนายกรัฐมนตรีที่ชื่อพิธา ที่ทำให้ ส.ส.ฝ่ายตรงข้าม และ ส.ว. เชื่อมั่น จะมาจากไหน ในเมื่อเจ้าตัวยังไม่สามารถมาปรากฏกายในรัฐสภาอันทรงเกียรติได้ 

อ่านข่าวเพิ่ม :

"ศาล รธน." เผย วันนี้ ยังไม่ได้พิจารณาคำร้องวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส."พิธา" ปมหุ้นสื่อ

ด่วน กกต.มีมติ ส่งศาล รธน.วินิจฉัยสมาชิกภาพ "พิธา" ปมถือหุ้นสื่อ

ก้าวไกล โต้ กกต. ส่งศาล รธน. ปม "พิธา" ถือหุ้น ผิดขั้นตอน ไม่เปิดช่องให้ชี้แจง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง