100 วัน เส้นทางสู่ทำเนียบ "เศรษฐา" ว่าที่นายกฯ คนที่ 30

การเมือง
18 ก.ค. 66
13:27
8,967
Logo Thai PBS
100 วัน เส้นทางสู่ทำเนียบ "เศรษฐา" ว่าที่นายกฯ คนที่ 30
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
100 วัน หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค. ผลโหวตนายกฯ รอบ 3 "เศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้รับเสียงเกิน 374 นั่งนายกฯ คนที่ 30 ของไทย แม้ช่วงโค้งสุดท้ายจะถูกแรงถาโถมถึงข้อกล่าวหาคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม กรณีโยงแสนสิริใช้นอมินีซื้อขายที่ดิน

ไม่ใช่มือใหม่การเมือง ไม่ใช่หน้าใหม่ แต่เคยอยู่ในม่านเงาการเมืองมาก่อนหน้านี้ สำหรับ “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน อดีตที่ปรึกษาไม่เป็นทางการในยุครัฐบาล “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

แม้จะเป็นเจ้าพ่อในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ แต่เมื่อเสียงปี่กลองการเมืองเร้า ก็กระโดดเข้าร่วมกับงานการเมืองกับพรรคเพื่อไทย

ถ้าไม่พร้อมก็คงไม่มีรายชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เศรษฐา ประกาศความพร้อมลงชิงนายกฯ

แม้จะได้ข้อยุติจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลว่า ยังคงดัน "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ที่ไม่ผ่านโหวตในรอบแรก เข้าชิงตำแหน่งนายกฯรอบ 2 ในวันพรุ่งนี้ ( 19 ก.ค)

เสี่ยนิด หรือ “เศรษฐา” เป็นลูกชายคนเดียวของ ร.อ. อำนวย ทวีสิน และนางชดช้อย จูตระกูล หลังเรียนจบปริญญาโทด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยบัณฑิตศึกษาแคลร์มอนต์ (Claremont Graduate University) รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ปี 2529

เศรษฐา ได้เข้าทำงานที่บริษัทพรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล เป็นเวลา 4 ปี ทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการผลิตภัณฑ์ บริษัท P&G ประเทศไทย (จำกัด) ต่อมาจึงย้ายไปทำงานที่ บจก.แสนสำราญ ของอภิชาติ จูตระกูล ลูกพี่ลูกน้องของเขา และต่อมาประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

ในปี 2553 เศรษฐาก็เคยถูกคำครหา หลังจากที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลราชกรีฑาสโมสรโปโลคลับ แต่เขาแสดงตัวชัดเจนว่าสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยทำเสื้อแดงสกรีนรูปทักษิณไว้ด้านหน้า นำไปแจกผู้เข้าร่วมในสนามราชกรีฑาสโมสร สร้างความไม่พอใจให้กับผู้คนในสนาม

ในการเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงประมุข (กปปส.) ระหว่างปี 2556-2557 เศรษฐา ไม่เห็นด้วย หลังรัฐประหาร เขาถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งเรียกไปรายงานตัวที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์

ต่อมาปี 2562 เกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการประท้วงซึ่งนำโดยกลุ่มเยาวชน เศรษฐาได้ออกมาวิจารณ์การบริหารสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาล

ปี 2565 เศรษฐา ประกาศสมัครเป็นสมาชิกของพรรคเพื่อไทย ผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว ต่อมาในปี 2566 พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งให้ประธานที่ปรึกษา “แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หลังจากนั้นจึงลาออกจากบริษัทแสนสิริโดยไม่รับเงินเดือน

หลังรับตำแหน่งที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยในเดือนมีนาคม 2566 เศรษฐาลงพื้นที่หาเสียงครั้งแรกที่ชุมชนคลองเตย และขึ้นเวทีปราศรัยครั้งแรกที่จังหวัดพิจิตร ปลายเดือนเดียวกัน เศรษฐาให้สัมภาษณ์กรณีความประสงค์เดินทางกลับไทยของทักษิณ ชินวัตร ว่า เป็นความต้องการของทักษิณไม่เกี่ยวข้องกับพรรคฯ

1 เมษายน 2566 เศรษฐา ทวีตข้อความคัดค้านระบบเกณฑ์ทหารโดยการบังคับ ก่อนหน้านั้นเขาได้แสดงหลักฐานการเกณฑ์ทหารของบุตรชายคนโตและคนกลาง เพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาเกี่ยวกับทั้งบุตรชายทั้งสอง

อีกไม่กี่วันต่อมาพรรคเพื่อไทยได้เสนอเขาในบัญชีรายชื่อผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ "แพทองธาร ชินวัตร" และ "ชัยเกษม นิติสิริ"

กลางเดือน เม.ย.ระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยที่ จ.เลย เขาระบุว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่จับมือกับพรรคพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมีส่วนร่วมในการรัฐประหาร

ปัจจุบัน เศรษฐา หรือ”เสี่ยนิด” อายุ 59 ปีแล้ว สมรสกับ พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ความงามด้านผิวพรรณ และคอลัมนิสต์ชื่อดัง มีบุตรด้วยกัน 3 คน

และในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย เขาถูกวางตัวให้มารีแบรนด์ดิ้ง แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน

การสื่อสาร แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และแสดงวิสัยทัศน์การบริหารบ้านเมืองและแก้ปัญหาบ้านเมืองผ่านเวทีต่าง ๆ และโซเชียลทุกช่องทาง โดยเฉพาะใช้ทวิตเตอร์สื่อสารกับคนรุ่นใหม่ ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนทุกเจเนอเรชัน และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากด้อม แฟนคลับและผู้สนับสนุนเพื่อไทย

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"อิ๊งค์" หนุน "เศรษฐา" นายกฯ หาก "พิธา" ชวดรอบ 2 เชื่อไร้งูเห่า 

ลูกไม้ใต้ต้น “แพทองธาร” ว่าที่นายกฯคนที่ 30 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง