รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 "ปิดสวิตช์ สว." คืออะไร ทำไมต้องแก้

การเมือง
4 ส.ค. 66
09:07
8,630
Logo Thai PBS
รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 "ปิดสวิตช์ สว." คืออะไร ทำไมต้องแก้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รัฐสภาบรรจุวาระประชุมดำเนินการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ สว. ในการเลือกโหวตนายกรัฐมนตรี และ มาตรา 272 คืออะไร ทำไมต้องแก้ไข รวมถึงขั้นตอนในการแก้ไข

วันนี้ (4 ส.ค.2566) รัฐสภานัดประชุมดำเนินการเพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจวุฒิสภา หรือ สว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ตามพรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ

ทั้งนี้ในเวลา 11.27 น. ประธานรัฐสภา ใช้อำนาจตามข้อบังคับการประชุมร่วมกันของรัฐสภาข้อ 22 เลื่อนการประชุมวันนี้ออกไปก่อน

อ่านข่าว : ก้าวไกลยื่นแก้ ม.272 ปิดสวิตช์ สว.

ภายหลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มติที่ประชุมรัฐสภาโหวตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนไม่ถึง 376 เสียง ทำให้ไม่ได้รับการเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 234 เสียง ไม่เห็นด้วย 182 เสียง และงดออกเสียง 199 เสียง ซึ่งในส่วนของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ส่วนใหญ่ ลงมติ งดออกเสียง-ไม่เห็นชอบ

อ่านข่าว : ผลโหวตนายก : "พิธา" ไม่ผ่านรอบแรก

จึงกลายเป็นที่มาให้พรรคก้าวไกลยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ที่ให้อำนาจวุฒิสมาชิกมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี หรือเรียกว่าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้กับประชาชน หรือ ปิดสวิตช์ ส.ว.

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา

สำหรับ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 272 ได้บัญญัติไว้ว่า

ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

สรุปความตามวรรคแรกได้ว่า ใน 5 ปีแรก การเลือกนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้กับ กกต. จะต้องเป็นการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา ซึ่งจะต้องมีมติเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ซึ่งทำให้ ส.ว. มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี

ซึ่งหากมีการแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งจะเป็นการปลดล็อกทำให้การเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างของ สส. เท่านั้น ตามมาตรา 159 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 กำหนดไว้ว่าญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจาก

  • คณะรัฐมนตรี
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่า 1ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร
  • สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจํานวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
  • ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจํานวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องเสนอเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อรัฐสภาและให้รัฐสภาพิจารณาเป็น 3 วาระ

1. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

2. การพิจารณาในวาระที่สองขั้นพิจารณาเรียงลําดับมาตรา โดยการออกเสียงในวาระที่สองนี้ ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย

เมื่อการพิจารณาวาระที่สองเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอไว้ 15 วัน เมื่อพ้นกําหนดนี้แล้วให้รัฐสภาพิจารณาในวาระที่สามต่อไป

3. การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจํานวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดํารงตําแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎรหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน และมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของ 250 สมาชิกวุฒิสภาชุดเฉพาะกาลไว้จำนวน 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 2562 ซึ่งทำให้ สมาชิกภาพของสมาชิกวุฒิสภาจะครบกำหนด 5 ปี ในวันที่ 11 พ.ค.2567

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

'วันนอร์' สั่งเลื่อนโหวตนายกฯ รอบ 3 รอศาลวินิจฉัยปมเสนอชื่อ "พิธา" ซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง