ที่มาที่ไป "ดอกมะลิ" สัญลักษณ์สื่อแทนความรัก - ความกตัญญู วันแม่

ไลฟ์สไตล์
6 ส.ค. 66
15:17
7,957
Logo Thai PBS
ที่มาที่ไป "ดอกมะลิ" สัญลักษณ์สื่อแทนความรัก - ความกตัญญู วันแม่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"ดอกมะลิซ้อน" ถูกกำหนดให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่มาตั้งแต่ปี 2519 แล้ว ด้วยลักษณะต่างๆ ที่ใช้สื่อถึงความรักของแม่ที่มีต่อลูกได้ อาทิเช่น สีขาวแสดงถึงความรักอันบริสุทธื์ และยังมีดอกไม้วันแม่จากทั่วโลกที่ไม่ได้มีเพียงแค่ดอกมะลิ เช่น ดอกคาร์เนชั่น ดอกลิลลี่

"ดอกมะลิ" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ แต่ดอกมะลิก็มีหลากหลายพันธุ์ และไม่ใช่ทุกพันธุ์ที่สามารถใช้เป็นสื่อส่งความรักให้กับแม่ได้ ข้อมูลจาก อุทยานหลวงราชพฤกษ์ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับความหมายและที่มาของดอกมะลิ สื่อความหมายดีๆ ในวันแม่

"มะลิซ้อน" ถือเป็นดอกไม้ที่ใช้สื่อความหมายในวันแม่ ได้ด้วยลักษณะต่างๆ ทั้งสีขาวของดอกที่แสดงถึง "รักที่บริสุทธิ์" มะลิซ้อนที่ออกดอกตลอดปี กลิ่นที่หอมแรงและทนทาน สื่อได้ถึง "ความรักที่ยาวนาน ไม่เสื่อมคลาย" และลักษณะกลีบที่เรียงซ้อนอัดแน่นโดยปลายกลีบห่อเข้ากลางดอก ก็สื่อถึง "อ้อมแขนของแม่ที่โอบลูกน้อยไว้"

ดอกมะลิซ้อน สัญลักษณ์วันแม่ของประเทศไทย

ดอกมะลิซ้อน สัญลักษณ์วันแม่ของประเทศไทย

ดอกมะลิซ้อน สัญลักษณ์วันแม่ของประเทศไทย

จนทำให้ดอกมะลิซ้อนถูกกำหนดให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ในปี พ.ศ.2519 นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดให้วันที่ 12 ส.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นวันแม่แห่งชาติ

อ่าน : 10 สายพันธุ์ "ดอกมะลิ" น่าปลูก ดอกไม้แทนรักบริสุทธิ์ของแม่

ดอกมะลิกับวิถีวัฒนธรรมนานาชาติ

รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา ชาวฮาวายนิยมนำมาร้อยเป็นพวงมาลัยที่เรียกว่า "Pikake lei" เพื่อใช้สำหรับงานเฉลิมฉลองหรือมอบเป็นของขวัญเพื่อแสดงออกซึ่งความรักที่มีให้กัน

จีน ชาวจีนนับถือ ดอกมะลิเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่ง ชาวจีนเรียกดอกมะลิว่า "Mo Li Hua" (茉莉花) ซึ่งมีความหมายว่า "หญิงสาวที่มีความสวยงามและมีเสน่ห์"

ปากีสถาน มะลิ ชนิด J. officinale L. หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ "Chambeli" หรือ "Yasmin" เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติ

โอมาน ดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญในวันเกิดปีแรกๆ สำหรับเด็กๆ โดยที่พวกเด็กๆ จะใช้ดอกมะลิโปรยบนศีรษะของกันและกัน 

อินเดีย ดอกมะลิจะใช้ในงานแต่งงาน ซึ่งเจ้าสาวจะประดับดอกมะลิบนผมของพวกเธอ ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความงดงามและความรัก และการประดับตกแต่งเนื่องในโอกาสต่าง ๆ

ศรีลังกา ดอกมะลิเป็นดอกไม้สำคัญชนิดหนึ่งที่ชาวศรีลังกานิยมใช้ในพิธีการทางพระพุทธศาสนา และร้อยมาลัยดอกมะลิใช้สำหรับพิธีการในโอกาสต่าง ๆ

อินโดนีเซีย นอกจากดอกมะลิจะได้รับการยกย่องในฐานะดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติชนิดหนึ่งแล้ว ยังถือว่าเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญมากที่สุด ในพิธีการแต่งงานของชาวพื้นเมืองของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนเกาะชวา 

กัมพูชา ดอกมะลิใช้สำหรับถวายพระพุทธเจ้า ระหว่างช่วงฤดูที่ดอกมะลิบานซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน ชาวกัมพูชาจะเหลาไม้ไผ่เป็นเส้นเล็ก ๆ นำดอกมะลิที่ยังตูมอยู่มาเรียงร้อยเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา

ไทย ดอกมะลิซ้อนใช้เป็นสัญลักษณ์แทนความรักที่บริสุทธิ์ของผู้เป็นแม่ที่มีต่อลูก และดอกมะลิชนิดอื่นๆ ยังใช้สำหรับงานศิลปหัตถกรรม งานฝีมือ การร้อยพวงมาลัยดอกมะลิสำหรับถวายเป็นพุทธบูชา นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าผู้หญิงที่มีประจำเดือน ห้ามเข้าไปใกล้ต้นมะลิที่กำลังตูมดอก เพราะจะทำให้มะลิต้นนั้นแห้งเหี่ยวเฉาหรือเป็นโรคเป็นแมลงและตายไปในที่สุด ถือว่าดอกมะลิเป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญ เป็นดอกไม้ที่สะอาด บริสุทธิ์ เป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าสูงส่ง 

ดอกไม้สัญลักษณ์วันแม่จากนานาประเทศ

ดอกลิลลี่ ดอกเบญจมาศ ดอกคาร์เนชั่น ดอกกุหลาบ ตัวแทนวันแม่แต่ละประเทศ

ดอกลิลลี่ ดอกเบญจมาศ ดอกคาร์เนชั่น ดอกกุหลาบ ตัวแทนวันแม่แต่ละประเทศ

ดอกลิลลี่ ดอกเบญจมาศ ดอกคาร์เนชั่น ดอกกุหลาบ ตัวแทนวันแม่แต่ละประเทศ

จีน  คือ ดอกลิลลี่ มีความหมายว่า ดอกไม้ลืมทุกข์ คนจีนจึงนิยมให้ดอกลิลลี่แก่คุณแม่ เพื่อขอให้คุณแม่ของพวกเขาพ้นจากความทุกข์และมีแต่ความสุขเข้ามาในชีวิต

แคนาดา มีดอกกุหลาบเป็นดอกไม้ประจำวันแม่ เป็นสัญลักษณ์ของพระนางมารีอา โดยนอกจากดอกกุหลาบจะนิยมให้มอบให้กับแม่แล้ว ชาวแคนาดาก็นิยมมอบให้กับคุณยายและผู้หญิงที่สำคัญของครอบครัวอีกด้วย

ออสเตรเลีย ใช้ดอกเบญจมาศเป็นดอกไม้วันแม่ เพราะดอกไม้ชนิดนี้จะออกดอกอย่างสวยสะพรั่งในเดือนพฤษภาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงวันแม่ของออสเตรเลียพอดี และชื่อภาษาอังกฤษของดอกเบญจมาศ (Chrysanthemum) ยังพ้องเสียงกับคำว่าแม่ (mum) อีกด้วย

สหรัฐอเมริกา ใช้ดอกคารเนชั่นเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนวันแม่ และแบ่งความหมายออกเป็น 2 แบบ คือ ดอกคาร์เนชั่นสีชมพู สำหรับคุณแม่ที่ยังมีชีวิตอยู่ และ ดอกคาร์เนชั่นสีขาว สำหรับคุณแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว

ญี่ปุ่น มีวันแม่วันเดียวกับวันแม่ของสหรัฐฯ และใช้ดอกคาร์เนชั่น เช่นเดียวกัน 

รู้หรือไม่ : ในปี ค.ศ.1908 แอนนา มารี จาร์วิส (Anna Marie Jarvis) คุณครูชาวอเมริกันจากรัฐฟิลาเดลเฟีย ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดงานวันแม่อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของแม่ หลังจากที่เธอสูญเสียคุณแม่ไป เธอต้องใช้ความพยายามราว 2 ปี กว่าจะประสบผลสำเร็จในปี ค.ศ.1914 หลัง ปธน.วูดโรว์ วิลสัน มีคำสั่งให้ถือ วันอาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม เป็นวันแม่แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา และของสากลด้วย โดยใช้ดอกคาร์เนชั่นเป็นดอกไม้สัญลักษณ์

ที่มา : อุทยานหลวงราชพฤกษ์, สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ, Wikipedia

อ่าน : หนุนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนถึง 6 เดือน หลังพบเด็กได้กินเพียง 28%

อ่าน : 12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ 2566" มีความเป็นมาอย่างไร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง