"มะลิ" เป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาในวงศ์มะลิ มีประมาณ 200 ชนิด ถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่เขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในแถบทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ลักษณะดอกและกลิ่นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดหรือพันธุ์ ส่วนใหญ่มะลิที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมีอยู่ 2 ชนิด คือ มะลิลา และ มะลิซ้อน แต่แท้ที่จริงแล้ว พืชตระกูลมะลิในเมืองไทยมีอยู่หลายพันธุ์ ทั้งพันธ์ุพื้นเมืองของไทย รวมถึงพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ข้อมูลจาก อุทยานสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร รวบรวมพันธุ์มะลิทั้งที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองและพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนี้
มะลิพันธุ์พื้นเมือง
- มะลิไส้ไก่ เป็นไม้รอเลื้อย ใบรูปไข่ถึงรูปใบหอกแคบ โคนใบกลมหรือหยักเว้า ช่อดอกแบบช่อกระจุก มีริ้วประดับรูปร่างคล้ายใบ กลีบดอกสีขาว
- มะลุลี เป็นไม้เลื้อยทุกส่วนมีขนนุ่มปกคลุม ใบรูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว แฉกกลีบเลี้ยงยาว
ดอกไม้วันแม่ 2566 : ซ้าย-มะลิไส้ไก่ ขวา-มะลุลี
ที่มาที่ไป "ดอกมะลิ" สื่อรักวันแม่
มะลิพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
- มะลิซ้อน เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ใบรูปไข่หรือรูปรี ดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวเรียงซ้อนเกยกันเป็นมากกว่า 5 ชั้น เมื่อบานแล้วกลีบดอก ตรงกลางไม่ห่อติดกัน
- มะลิลา เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรีป้อม ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาว โคนกลีบเรียงซ้อนเกยกันเป็น 1 - 2 ชั้น ดอกร่วงง่าย
- มะลิหลวง เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปหอกหนาเรียบเป็นมันวาว ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวขนาดใหญ่ หลอดกลีบสีขาวปนม่วง
- มะลิพุทธชาด เป็นไม้รอเลื้อย ใบรูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง กลีบดอกสีขาวขนาดเล็ก
ดอกไม้วันแม่ 2566 : บนซ้าย-มะลิซ้อน บนขวา-มะลิลา ล่างซ้าย-มะลิหลวง ล่างขวา-มะลิพุทธชาด
- มะลิฉัตรพิกุล เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรี ดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวขนาดเล็กเรียงเป็นชั้นจำนวน 3 - 5 ชั้น สามารถดึงแยกกลีบดอกแต่ละชั้นออกจากกันได้
- มะลิฉัตรดอกบัว เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปไข่หรือรูปรี ดอกเดี่ยวหรือช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวเรียงซ้อนมากกว่า 5 ชั้น กลางดอกมีกลีบดอกห่อกันกลมแน่น
- มะลิจันทรบูร เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก ใบรูปรีหรือรูปไข่กลับ ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกสีขาวขนาดใหญ่ หลอดกลีบดอกสีขาวอมเขียว
- มะลิก้านแดง เป็นไม้เลื้อยเนื้ออ่อน ใบประกอบ 5 - 7 ใบ ช่อดอกแบบช่อกระจุก กลีบดอกตูมสีม่วงแดงเมื่อบานมีสีขาวขนาดใหญ่จำนวน 5 กลีบ
ดอกไม้วันแม่ 2566 : บนซ้าย-มะลิฉัตรพิกุล บนขวา-มะลิฉัตรดอกบัว ล่างซ้าย-มะลิจันทรบูร ล่างขวา-มะลิก้านแดง
"มะลิ" มีอรรถประโยชน์อย่างมากหลาย นอกจากจะใช้เป็นยาสมุนไพร และใช้สำหรับปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับแล้ว ยังนิยมนำดอกมะลิมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันดังเรียกโดยทั่วไปว่า "พวงมาลัยดอกมะลิ" ที่เป็นดั่งคำมั่นสัญญารักที่มีให้ซึ่งกันและกัน ทุกวันนี้พวงมาลัยดอกมะลิมีไว้ใช้สำหรับมอบให้แก่แขกเหรื่อหรืออาคันตุกะ เพื่อแสดงออกถึงการต้อนรับด้วยความจริงใจ มอบให้แด่บุคคลที่มีความสำคัญ ผู้ที่ได้รับเกียรติ และบุคคลที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อแสดงออกถึงความปรารถนาดี หรืออาจจะเป็นเพียงแค่การนำมาประดับตกแต่งภายในบ้านหรือภายในรถยนต์เพื่อให้มีกลิ่นที่หอมสดชื่น
"3 เมนูดอกมะลิ" มื้ออร่อย อิ่มท้อง ชื่นใจ ทำให้แม่กิน
ประโยชน์อื่นๆ จาก "มะลิ"
- รากมะลิ ใช้เป็นยาสมุนไพรสำหรับรักษาบาดแผลจากงูกัด
- รากมะลิสด ใช้สำหรับการรักษาโรคกามโรค
- ใบมะลิ ใช้เป็นยาทาภายนอก สามารถยับยั้งการไหลของน้ำนม ในกรณีที่มีน้ำนมไหลออกมามากเกินกว่าปกติหลังจากการคลอดลูก หรือสามารถนำใบมะลิแห้งมาแช่น้ำใช้เป็นยาพอกเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดเล็กๆ น้อยๆ จากฝี และสำหรับรักษาโรคผิวหนังหรือบาดแผล
- ใบและดอกมะลิ ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับการรักษาอาการไข้สูง โดยนำใบและดอกมะลิมาต้มน้ำดื่ม
- สารละลายแอลกอฮอล์ที่ผลิตได้จากดอกมะลิ ใช้สำหรับเป็นยากล่อมประสาท ยาสลบ และยารักษาบาดแผล
- น้ำมันสกัดจากดอกและใบมะลิ ใช้เป็นส่วนผสมสำหรับทำเทียน ใช้บำบัดคลายความเครียด
- น้ำมันสกัดจากดอกมะลิ เป็นส่วนประกอบสำหรับใช้ในเครื่องสำอาง เช่นน้ำหอม น้ำยาระงับกลิ่นกาย น้ำมันบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ
- สารสกัดจากดอกมะลิ ใช้สำหรับทำสบู่
ประโยชน์จากส่วนอื่นๆ ของดอกมะลิ
ที่มา : อุทยานสวนจตุจักร กรุงเทพมหานคร, อุทยานหลวงราชพฤกษ์, เอกสารลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้ 2, เอกสาร มะลิในเมืองไทย
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
12 สิงหาคม "วันแม่แห่งชาติ 2566" มีความเป็นมาอย่างไร
หนุนเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนถึง 6 เดือน หลังพบเด็กได้กินเพียง 28%