ส.แท็กซี่สาธารณะไทยจ่อพบ "สุริยะ" ทวงแก้ปัญหาแท็กซี่รายย่อย

เศรษฐกิจ
8 ก.ย. 66
14:08
442
Logo Thai PBS
ส.แท็กซี่สาธารณะไทยจ่อพบ "สุริยะ" ทวงแก้ปัญหาแท็กซี่รายย่อย
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทยขอเข้าพบ “สุริยะ” รมว.คมนาคม 14 ก.ย.นี้ เพื่อติดตามการแก้ปัญหาแท็กซี่รายย่อยที่เหลืออีก 5 ข้อ หลังรัฐบาลชุดก่อนยังแก้ปัญหาไม่หมด

วันนี้ (8 ก.ย.2566) นายศดิศ ใจเที่ยง นายกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย เปิดเผยว่า สมาชิกสมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย จะเดินทางไปกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. เพื่อขอเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม คนใหม่ เพื่อแสดงความยินดีและจะติดตามปัญหาผู้ประกอบการรถรับจ้างสาธารณะรายย่อย (แท็กซี่)

ก่อนหน้านี้สมาคมและคณะทำงานได้เร่งรัดการแก้ปัญหาของแท็กซี่ ซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ขับขี่รถรับจ้างสาธารณะแท็กซี่ และเป็นตัวแทนในการเรียกร้องแก้ปัญหาของรถแท็กซี่ในรัฐบาลที่ผ่านมา ในสมัยที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ซึ่งได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่ยังเหลือปัญหาที่แก้ไข 5 ข้อ ดังนี้

  1. การแต่งตั้งอนุกรรมการ ปรับโครงสร้างราคาค่าโดยสารแท็กซี่มิเตอร์ทั้งระบบ
  2. การจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านระบบแอปพลิเคชัน
  3. ขอให้กระทรวงคมนาคมสนับสนุนการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาจดทะเบียนเป็นรถแท็กซี่ โดยมีส่วนลดภาษี 300,000 บาทต่อคัน เพื่อลดต้นทุนของผู้ประกอบการแท็กซี่ และประกันพลังงานไฟฟ้าให้คงที่
  4. ติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างอาคารที่พักคอยแท็กซี่ในลานจอดแท็กซี่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งได้รับการเห็นชอบจาก รมว.คมนาคม ในรัฐบาลที่แล้ว เมื่อปี 2562 ขณะนี้ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง และขอให้ก่อสร้างหลังคากันความร้อนที่จอดรถแท็กซี่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
  5. ขอเสนอโครงการรถแท็กซี่ (รถไฟฟ้า) เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย หลังจากที่ได้ต่ออายุจาก 9 ปีเป็น 12 ปี มาตั้งแต่ปี 2564 รถทยอยหมดอายุอย่างต่อเนื่องประมาณ 20,000 คัน จากผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยที่มีทั้งหมด 45,000 คัน ซึ่งสมาชิกได้รับความทุกข์ยากจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

นายศดิศ กล่าวอีกว่า อยากให้ รมว.คมนาคม ผลักดันโครงการรถแท็กซี่ (รถไฟฟ้า) ให้เป็นรูปธรรม โดยเสนอต่อ ครม.และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รัฐบาลค้ำประกัน 50% ให้ผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อยที่จะออกรถแท็กซี่ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลพิษและฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้

สำหรับโครงการรถแท็กซี่ไฟฟ้า มีดังนี้ 1.จำนวนรถแท็กซี่ที่ต้องการล็อตแรก 10,000 คัน, 2.ขนาดรถไฟฟ้าที่จดทะเบียน 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 90 กิโลวัตต์ และขนาด 120 กิโลวัตต์, 3.ให้สมาคมหรือนิติบุคคลรับรอง, 4.ให้ผู้ที่จะออกรถแท็กซี่ไฟฟ้าให้พ่อแม่ ภรรยา หรือลูกรับรู้ว่ามาออกรถเซ็นต์รับรอง, 5.หลักประกันสำคัญต้องมีโฉนดหรือเงินเดือนของผู้ค้ำสมาชิกผู้ที่ออกรถแท็กซี่ไฟฟ้า, 6.รัฐบาลต้องค้ำประกัน 50% เพื่อจูงใจให้สมาชิกแท็กซี่ และ 7.ให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เป็นผู้รับผิดชอบและห้ามล็อกสเป็กสำหรับผู้ประกอบการแท็กซี่รายย่อย

อ่านข่าวอื่นๆ

"แท็กซี่" ยื่นหนังสือคมนาคม ทวงสัญญา​รัฐบาลขึ้นค่าโดยสาร 25%

"สุริยะ" ขอเวลา 2 ปี ดันรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2566 เดือน ก.ย. จ่ายอะไรบ้าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง