ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัยโตรอนโต ใช้ AI ทดสอบเสียง 10 วินาที ตรวจหาโรคเบาหวานประเภท 2

Logo Thai PBS
นักวิจัยโตรอนโต ใช้ AI ทดสอบเสียง 10 วินาที ตรวจหาโรคเบาหวานประเภท 2
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ไม่ต้องไปตรวจที่คลินิกก็รู้ผลได้ นักวิจัยโตรอนโตใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการทดสอบเสียง 10 วินาทีในการตรวจหาโรคเบาหวานประเภท 2

"โรคเบาหวาน ประเภทที่ 2" พบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวานร้อยละ 90 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) ส่งผลให้อินซูลินซึ่งทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดีระดับน้ำตาลในเลือดจึงเพิ่มสูงขึ้น

ในปัจจุบันการตรวจหาโรคเบาหวานประเภทที่ 2 จะต้องอดอาหารก่อนการเจาะเลือดไปตรวจกับทางคลินิก ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าจะรู้ผล แต่ผลการศึกษาใหม่จากนักวิจัยในโตรอนโตค้นพบวิธีที่ง่ายกว่านั้นด้วยการอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วย เพียงแค่ทดสอบด้วยเสียงเป็นเวลา 10 วินาที ก็สามารถวินิจฉัยโรคในผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำมากกว่า 85%

จากผลการศึกษาพบว่า คลิปเสียงของผู้ป่วยเพียง 6-10 วินาที เป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคเบาหวานประเภท 2 ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการคัดกรองโรค ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวินิจฉัยโรคได้ด้วยตัวเองเพียงแค่พูด 2-3 ประโยคลงบนสมาร์ตโฟน

ในการศึกษาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 267 คน เพื่อหาความแตกต่างของผู้ที่ไม่เป็นโรคเบาหวานและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 อาสาสมัครจะต้องบันทึกเสียงพูดลงบนสมาร์ตโฟน 6 ครั้งต่อวัน เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ เมื่อวิเคราะห์ลักษณะของเสียง 14 ลักษณะจากการบันทึก 18,465 รายการ พบว่าระดับเสียงและความเข้มมีความแตกต่างกันระหว่างผู้ที่เป็นและไม่เป็นโรคเบาหวาน โดยถึงแม้ว่าหูของมนุษย์จะไม่สามารถตรวจพบว่าต่างนี้ได้ แต่ซอฟต์แวร์ประมวลสัญญาณสามารถตรวจจับความแตกต่างนี้ได้

จากผลการทดสอบนี้ นักวิจัยจึงสร้างโปรแกรมที่ใช้ระบบ AI ขึ้นเพื่อวิเคราะห์การบันทึกเสียงพร้อมกับข้อมูลของผู้ป่วย เช่น อายุ เพศ ส่วนสูง และน้ำหนัก เมื่อทดสอบกับอาสาสมัคร โปรแกรมดังกล่าวได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีความแม่นยำ 89% ในการระบุผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2 และแม่นยำ 86% ในการค้นหาผู้ชายที่เป็นโรคเบาหวาน

ทั้งนี้ การศึกษาในครั้งนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวินิจฉัยโรค แต่เป็นเพียงวิธีการคัดกรองโรคเบื้องต้นที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้อย่างกว้างขวาง และราคาไม่สูง และทีมนักวิจัยยังมีแผนการต่อยอดการวิจัยโดยการใช้เสียงในการวินิจฉัยโรคอื่น ๆ เช่น ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน สุขภาพของผู้หญิง และความดันโลหิตสูง

ที่มาข้อมูล: newatlas, klick, thestar, studyfinds
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

ข่าวที่เกี่ยวข้อง