รัฐจุดพลุแก้หนี้ใน-นอกระบบ “ทนายเดชา” ฟันธงทำไม่ได้

การเมือง
24 พ.ย. 66
16:52
528
Logo Thai PBS
รัฐจุดพลุแก้หนี้ใน-นอกระบบ “ทนายเดชา” ฟันธงทำไม่ได้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ระหว่างรอลุ้นโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ผู้คนคาดหวังอยากจะได้ ว่าจะออกหัวออกก้อย แต่นโยบายแก้ปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำหนดแถลงใหญ่ไว้แล้ว จะสร้างความคาดหวังและทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้ลุ้นได้ตื่นเต้น

หนี้นอกระบบที่นายเศรษฐาบอกว่า เป็นเรื่องใหญ่กว่าหนี้ในระบบ กำหนดแถลงใหญ่วันที่ 28 พ.ย. ส่วนหนี้ในระบบ กำหนดแถลง 12 ธ.ค. ระหว่างนั้น วันที่ 8 ธ.ค. จะเริ่มต้นการขับเคลื่อนโดยเรียกประชุมตำรวจระดับผู้กำกับและผู้การ กับนายอำเภอทั่วประเทศ เพื่อวางรูปแบบและวิธีการปฏิบัติกรณีหนี้นอกระบบ

เพราะส่วนหนึ่ง ต้องใช้ข้าราชการและตำรวจเหล่านี้ เป็นทั้งผู้รวบรวมข้อมูลของนายทุนเงินกู้ในพื้นที่ และให้เป็นผู้นัดหมายเจรจาเพื่อหาทางประนีประนอมกับลูกหนี้ คือประชาชนลูกหนี้คนกู้ และอาจจะมีส่วนอื่นเข้าเสริม อาทิ เรื่องอาชีพ การเพิ่มรายได้ และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบดังที่นายกฯใช้คำว่า แก้แบบบูรณาการ

เรื่องหนี้สินประชาชนไม่ใช่เพิ่งจะเกิดในยุคนี้ แต่เกิดมานานและสะสมจนไม่มีใครรู้ว่า คนไทยเป็นหนี้รวมกันทั้งในและนอกระบบเป็นวงเงินเท่าไหร่ แค่ตัวเลขของเครดิตบูโร ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 หนี้ครัวเรือนไทยทั้งก้อนหลังการปรับปรุงข้อมูลโดย ธปท. อยู่ที่ 15.96 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.6%ของ GDP (รวมหนี้ของสหกรณ์ออมทรัพย์ / หนี้ กยศ./ หนี้ครู)

สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยยังสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก พอๆ กับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ขณะที่ตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2566 พบว่า ช่วงปี 2560 ถึง 2565 สัดส่วนคนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นจาก 30 % เป็น 37 % ของประชากรทั้งหมด และ 57 % ของคนไทยที่มีหนี้นั้น มีหนี้เกิน 100,000 บาท เฉลี่ยหนี้ต่อคน 520,000 บาท และคนไทย 32 % หรือเกือบ 1 ใน 3 มีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป

ตัวเลขหนี้ของแบงก์ชาติ น่าจะเป็นเฉพาะหนี้ในระบบ แต่สำหรับตัวเลขหนี้นอกระบบ ไม่รู้เท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่ หนี้นอกระบบจะก่อตัวหลังมีหนี้ในระบบมากเกินกว่าจะกู้ได้แล้ว และอีกส่วนหนึ่งเป็นการกู้แบบสังคมอุปถัมภ์ แต่ไม่ว่าจะแบบไหน ส่วนใหญ่ต้องใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน หรือจำนองการกู้เงิน

นอกจากไทม์ไลน์ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศแจ้งแล้ว ปรากฎมีการขานรับจากกระทรวงมหาดไทย เมื่อปลัดกระทรวง นายสุทธิพงศ์ จุลเจริญ ระบุว่า ประชาชนที่ประสงค์ขอรับการช่วยเหลือ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2566 เป็นต้นไป

ลงทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ https://debt.dopa.go.th ที่ว่าการอำเภอ และสำนักงานเขต(กรุงเทพฯ) รวมทั้งช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567

ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลประกาศแก้หนี้ให้กับประชาชน เพราะหลายรัฐบาลที่ผ่านมา มักมีแนวทางแก้ไขเยียวยาเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่จะแก้หนี้ในระบบเสียมากกว่า เช่น ปลอดดอกเบี้ย และ/หรือ เงินต้นจากธนาคารและสถาบันการเงิน หรืออาจช่วยในรูปบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน อย่างในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่การแก้หนี้ทั้งในและนอกระบบ เคยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะในครั้งแรก ที่เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนคนจนตั้งแต่ปลายปี 2546 พร้อมสัญญาว่า ภายใน 6 ปีคนจนจะหมดไปจากประเทศไทย

ครั้งที่ 2 เป็นการประกาศแก้หนี้นอกระบบ เริ่มวันที่ 18 ต.ค.2548 ที่สร้างความฮือฮามาก คือเปิดให้ลูกหนี้แจ้งรายละเอียดว่าเป็นหนี้ใคร โดยรัฐบาลสัญญาว่าจะเชิญตัวเจ้าหนี้มาเจรจาหาทางแก้ปัญหาหนี้สินให้ แต่ปรากฏว่า ลูกหนี้ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ยอมแจ้งชื่อเจ้าหนี้ต่อเจ้าหน้าที่ เพราะเกี่ยวกับสวัสดิภาพความปลอดภัย รวมทั้งเป็นเรื่องระบบอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น

โครงการนี้ถูกจับตาว่าจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ไม่นานเกิดรัฐประหารเดือน ก.ย.2549 เสียก่อน โครงการนี้จึงต้องยุติไปโดยปริยาย กระทั่งถูกปัดฝุ่นรื้อฟื้นกลับมาใหม่ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา

นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความคลายทุกข์ และเป็นทนายความให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเรื่องหนี้ ฟันธงผ่านรายการ “ประจักษ์จับประเด็น” ว่า ไม่เชื่อว่าโครงการนี้จะแก้ไขปัญหาหนี้ได้จริง เพราะสถานการณ์ทุกธนาคารขณะนี้หนักมาก ทั้งเงินกู้เครดิต สินเชื่อบุคคล หรือการกู้ยืมผ่านการค้ำประกัน มีปัญหาผิดนัดชำระสารพัดสาเหตุ

บางส่วนแม้จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ แต่ได้ผลประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนใหญ่สุดท้ายกลับเป็นหนี้ NPL หรือหนี้สูญเช่นเดิม สาเหตุสำคัญ คือคนไม่มีเงิน รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย สภาพเศรษฐกิจแย่ จนไม่มีความสามารถในการชำระหนี้

ยิ่งกรณีหนี้นอกระบบยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะแค่ชื่อก็สะท้อนชัดว่าทุกอย่างเถื่อนหมด ทั้งดอกเบี้ย หรือวิธีการทวง จึงเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขได้ แม้แต่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ยังทำไม่สำเร็จ

ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง คือคนที่เป็นนายทุนเงินให้กู้ เกี่ยวโยงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวข้องกับนักการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หรือเป็นสปอนเซอร์ หรือกลุ่มคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองทั้งสิ้น

นายเดชาย้ำว่า ฝ่ายการเมืองต้องพูดความจริงทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่หวังสร้างภาพ ให้ความหวังกับประชาชนเพียงเพื่อประโยชน์ทางฐานคะแนนเสียงสนับสนุนเท่านั้น

ได้รับฟังข้อมูลจากอีกด้านหนึ่งอย่างนี้ คงพอมองเห็นได้ล่วงหน้าว่า ปลายทางการแก้ปัญหาหนี้สิน จะเป็นอย่างไร

วิเคราะห์ : ประจักษ์ มะวงศา

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับกระแสการเมือง : 24 พ.ย.66 ขุดคลังสมบัติ 2 ลุง "ตู่ - ป้อม" รวยไม่ลด ขับปอร์เช่ มีแหวนแม่

ย้าย "องค์นครสิงห์ฯ" รอรับ "เศรษฐา" ค้างคืนทำเนียบฯ

"ธรรมนัส" เผยนักการเมืองใหญ่อยู่เบื้องหลัง "ค้าหมูเถื่อน"

ป.ป.ช.เปิดบัญชี "ดอน" ทรัพย์สิน 137 ล้าน - "บิ๊กช้าง" ทรัพย์สิน 36 ล้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง