ตร.ช่วย นศ.ถูกหลอกสร้างสถานการณ์เรียกค่าไถ่ 2.5 แสนบาท

ภูมิภาค
10 ธ.ค. 66
18:46
718
Logo Thai PBS
ตร.ช่วย นศ.ถูกหลอกสร้างสถานการณ์เรียกค่าไถ่ 2.5 แสนบาท
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ตำรวจอุบลราชธานีช่วยนักศึกษาอายุ 18 ปี ถูกขบวนการคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ถ่ายคลิปสร้างสถานการณ์ว่าลูกลักพาตัว แล้วเรียกค่าไถ่ผู้ปกครอง 250,000 บาท

วันนี้ (10 ธ.ค.2566) ตำรวจเข้าให้ช่วยเหลือนักศึกษาหญิง อายุ 18 ปี ที่ห้องพักแห่งหนึ่งใน จ.อุบลราชธานี หลังถูกขบวนการคอลเซ็นเตอร์หลอกให้ถ่ายคลิปสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัว และเรียกค่าไถ่จากผู้ปกครองของตัวเอง 250,000 บาท

ครั้งแรก คอลเซ็นเตอร์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์พบพัสดุตกค้าง จัดส่งตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย. ซึ่งภายในมีเอกสารผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับคดียาเสพติดและฟอกเงิน เช่น พาสปอร์ต บัญชีธนาคารและบัตรเอทีเอ็ม จากนั้นให้นักศึกษาโอนเงิน 3 ครั้ง รวมกว่า 60,000 บาท แลกกับการไม่ดำเนินคดี

ต่อมาขบวนการคอลเซ็นเตอร์ข่มขู่ให้ผู้เสียหายไปเช่าห้อง เพื่อสร้างสถานการณ์ว่าถูกลักพาตัว ให้ผู้เสียหายลบแอปฯ ที่ใช้ติดต่อสื่อสาร บังคับให้ถ่ายคลิป หลอกว่าจะถูกข่มขืน จากนั้นคอลเซ็นเตอร์ นำคลิปส่งให้แม่ผู้เสียหาย เรียกเงิน 250,000 บาท และห้ามครอบครัวแจ้งตำรวจ พร้อมขู่ว่าหากไม่โอนเงินจะตัดอวัยวะผู้เสียหาย โดยระหว่างนั้นให้แม่โทรคุยกับผู้เสียหายได้ 3 ครั้ง

จุดเปลี่ยนคดีนี้ แม่ผู้เสียหายปรึกษาญาติที่เป็นนายอำเภอ จากนั้นแจ้งตำรวจ ซึ่งตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีได้เข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหาย พบว่าอยู่ในห้องพักแห่งหนึ่งเพียงคนเดียว ขณะที่ขบวนการคอลเซ็นเตอร์ตัดการสื่อสารทางวิดีโอคอลทันทีที่รู้ว่าตำรวจเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า ขบวนการคอลเซ็นเตอร์มีศูนย์สั่งการอยู่ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ตร.แนะ "ตัดสายทันที" หากปลายสายอ้างเป็นเจ้าหน้าที่

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ สอท. ระบุว่า ขณะนี้มิจฉาชีพเปลี่ยนรูปแบบไม่ได้หลอกโดยตรง แต่เลือกคนรอบข้าง หลอกให้ถ่ายคลิป แล้วเรียกค่าไถ่ผู้ปกครอง เพราะรูปแบบเดิมคนไม่เชื่อแล้ว ส่วนคนที่ถูกหลอกไม่ว่าเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักถูกข่มขู่และทำให้กลัว ผู้เสียหายจึงยอมทำตาม หลังจากคดีในลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือน ส.ค. 2 คดี และเพิ่งพบคดีล่าสุดในวันนี้ (10 ธ.ค.)

รองผู้บัญชาการ สอท. แนะว่า หากมีคนอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโทรมา “ให้ตัดสายทันที” แล้วลองโทรกลับ หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐจริงจะติดต่อกลับได้ แต่หากเป็นมิจฉาชีพจะติดต่อกลับไม่ได้

ข้อสังเกตกลุ่มมิจฉาชีพเลือกหลอก นศ.

1. เลือกผู้เสียหายเป็นนักศึกษาที่อยู่หอพักหรืออยู่คนเดียว เพราะห่างจากครอบครัวไม่มีที่ปรึกษา
2. มีการวางแผนและมีสคริปต์ เช่น อ้างเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ, อ้างว่ามีหมายจับ, หลอกว่ามีคนนำข้อมูลไปเปิดบัญชีและเชื่อมโยงกับการฟอกเงิน หรืออาจข่มขู่ดำเนินคดี หากไม่ทำตามจะไม่ได้เรียนต่อ เป็นต้น
3. มิจฉาชีพจะใช้โทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีหมายเลขไม่ถึง 10 หลักและมีเครื่องหมาย “+697” หรือ “+698” ซึ่งหากโทรกลับจะติดต่อไม่ได้
4. มิจฉาชีพพัฒนารูปแบบการหลอกนักศึกษา เพื่อทดแทนกลุ่มผู้เสียหายเดิมที่มักไม่หลงเชื่อวิธีการแบบเดิม
5. สาเหตุเลือกนักศึกษา เพราะเริ่มซื้อของออนไลน์ เริ่มลงทุน และอาจมีประวัติยุ่งเกี่ยวกับการพนัน ซึ่งทำให้เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้ง่าย

ส่วนกรณีแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทยแล้วหลอกให้ทำธุรกรรม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยแจ้งเตือนหลังพบการโจรกรรมข้อมูล ซึ่งได้แก้ไขและปิดกั้นการเข้าถึงทันที โดยขอให้ระวังกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างชื่อไปรษณีย์ไทยและหลอกลวงให้ทำธุรกรรม เช่น แจ้งว่ามีพัสดุตกค้าง, แจ้งว่าพัสดุถูกตีกลับเพราะพบสิ่งผิดกฎหมาย หรือแจ้งให้โอนเงินเพราะมีพัสดุจากต่างประเทศ เป็นต้น

อ่านข่าวอื่นๆ

รวบแล้ว ผู้ต้องขังตัดโซ่ตรวนหนี พบซ่อนตัวใน รพ.

บุกยิงกลางสนามแข่งบอลในคูคตก่อนหนี ไม่มีคนเจ็บ-เสียชีวิต

"ราชทัณฑ์" ชี้แจงปมผู้ต้องขังหญิงทะเลาะวิวาท ยันไม่มีใช้กระจกทำร้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง