ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีตอธิบดีกรมพินิจฯ ชี้ "เด็กก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่ภัยคุกคามบ้านเมือง"

อาชญากรรม
22 ม.ค. 67
18:12
724
Logo Thai PBS
อดีตอธิบดีกรมพินิจฯ ชี้ "เด็กก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่ภัยคุกคามบ้านเมือง"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

“เจนโลก แก่เกินวัย ใจอาชญากร” คือ พฤติกรรมเด็กและวัยรุ่นในยุคนี้ และถูกจับตามองว่า แนวทางแก้ไขปัญหากลุ่มเด็ก วัยรุ่นที่ก่อปัญหาความรุนแรง จากแก๊งตังค์ไม่ออก จ.สระแก้ว ที่ก่อคดีฆาตกรรม “ป้ากบ” นางบัวผัน จันทร์สุ จนถึงกรณี “ตี๋ ท่าทราย” หัวหน้า แก๊งทรายทอง รุมทำร้ายแม่ลูก ย่าน จ.นนทบุรี สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในพื้นที่

แก๊งตังค์ไม่ออก มีสมาชิก 10-20 คน ขณะที่แก๊งทรายทอง มีประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นจากท่าทราย ท่าอิฐ และหมู่บ้านทรายทอง ที่มีพฤติกรรม กลางคืนจะขี่รถจักรยานยนต์ พกอาวุธ ทั้งมีด ปืน ไม้ และอาวุธต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ ตระเวนขี่รถเพื่อหาเหยื่อก่อนจะเข้ารุมทำร้ายร่างกาย

"ตั้งแก๊ง" อยากได้การยอมรับ

นายธวัชชัย ไทยเขียว คณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมระบบข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ในฐานะอดีตอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนที่รวมกลุ่มตั้งแก๊งและก่อเหตุรุนแรงในหลาย ๆ พื้นที่

เคยมีการเคยสำรวจแก๊งเด็กเยาวชนนพื้นที่ต่าง ๆ พบว่า มีกว่า 100 แก๊ง พวกนี้เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเด็ก ที่ต้องการได้รับความสนใจ หรือการยอมรับ มีพฤติกรรมรักพวกพ้อง ฆ่าได้ หยามไม่ได้ และต้องการได้รับการยอมรับภายในกลุ่มและระหว่างกลุ่ม เพื่อเป็นผู้นำ

นายธวัชชัย กล่าวว่า หากเปรียบคือ การที่เด็กริหัดสูบบุหรี่มวนแรก แม้จะไม่อร่อย แต่อยากได้รับการยอมรับว่า ตนเองโตเกินวัย หรือการแว้นมอเตอร์ไซค์ แล้วหนีตำรวจได้ คือ ความภูมิใจของเขา เพื่อได้คุยอวดกับเพื่อนว่า “กูเป็นหนึ่งเหมือนกัน” ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมตามวัยปกติ แต่ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เนื่องจากเด็กไม่มีผู้ใหญ่ที่สามารถชักนำให้เกิดความสุขทางใจได้

ดังนั้นการแก้ปัญหา คือ ต้องทำกิจกรรมเสริมทักษะทางบวก ที่ผ่านมาเคยทดลองแก้ปัญหาเด็กเกเรที่พ่อแม่ไม่ลี้ยงดู โดยนำเด็กไปช่วยดูแลคนเฒ่าคนแก่ ไปทำบุญที่วัด และเมื่อเสร็จภารกิจแล้ว ถามตา ยายว่า อยากพูดหรือบอกอะไรกับเด็ก

ภาพ : ธวัชชัย ไทยเขียว

ภาพ : ธวัชชัย ไทยเขียว

ภาพ : ธวัชชัย ไทยเขียว

“ตา ยาย ก็กล่าวขอบคุณเด็ก ว่า ไม่ใช่ลูก หลาน แต่เด็ก ๆ เสียสละ พาตา ยาย ที่ไม่เคยรู้จักกันมาเที่ยวทำบุญ เด็กฟังแล้วเขาอึ้ง ร้องไห้ รู้สึกตนเองมีคุณค่า และมีความสุขใจที่ได้ทำสิ่งดี ๆ เขาได้รับการยอมรับระดับกลุ่ม แต่ทุกวันนี้เด็กไม่มีใครนำ เขาก็ต้องมานำกันเอง ยอมรับกันเอง

คณะกรรมการฯ พ.ค.ตร.กล่าวว่า สิ่งเร่งด่วนที่ต้องทำ คือ การเสนอให้มีการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นวาระแห่งชาติ เปลี่ยนกระบวนการใหม่จากการสอนด้วยวิธีการบอกเล่า เป็นการคิดวิเคราะห์ เสริมทักษะและให้พลังกับเด็ก พ่อแม่ต้องเลิกใช้ความคาดหวังกับประสบการณ์เดิม ๆ ของตนเอง ต้องทราบว่าเด็กชอบอะไร ก็ส่งเสริมเขา ชักจูงสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ให้ได้

เด็กก่อเหตุรุนแรง "อาการฝีแตก" 

นายธวัชชัย กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เหมือนฝีกำลังจะแตก หรืออาการทางสังคมเริ่มระเบิดออกมา ดังนั้นรัฐบาลจะต้องกลับมาคิด ไม่มองเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเดียว ต้องเร่งแก้ปัญหาในกลุ่มเยาวชนที่กำลังจะเติบโต เป็นกำลังสำคัญของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎหมายควบคุม ไม่สามารถแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนได้ ต้องแก้ที่พฤติกรรม โดยเฉพาะเด็กวัยระหว่าง 13-15 ปี

นายธวัชชัย บอกว่า การนำเด็กเข้าเรือนจำ ทำผิด หากรับสารภาพได้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกตลอดชีวิต คือ 50 ปี กรณีที่ไม่ถูกขังลืม จะต้องมีกระบวนการพัฒนาการ และได้นักโทษ ชั้นดี ชั้นเยี่ยม ได้ลดวันลงโทษ ได้พักโทษ

ได้ลดโทษน้อยสุดจากจำคุก 50 ปี เหลือ 25 ปี ถามว่า เขาพ้นโทษตอนอายุ 40 ปี แต่อายุเฉลี่ยคนไทย 75 ปี เขายังสามารถอยู่ได้อีก 30 ปี ซึ่งอาจกลับมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ หรือพลเมืองที่ทำร้ายสังคมก็ได้

นายธวัชชัย กล่าวว่า หากเด็กเจริญเติบโตมาในเรือนจำ ถือว่าไม่เหมาะสมกับพฤติกรรมตามวัย เมื่อพ้นโทษออกมาจะมีเวลาทำร้ายสังคมอีก 30 ปี และกลายเป็นทรัพยากรที่ไม่มีคุณค่า จึงต้องคิดดี ๆ ว่า หากเพิ่มโทษเพื่อให้ติดคุกนาน ๆ แล้วเมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว จะมีผลกระทบอย่างไร

กรณีที่มีความพยายามจะแก้กฎหมายข่มขืน เท่ากับโทษประหาร ต้องคิดหลาย ๆ ชั้น เพราะคดีข่มขืน ประจักษ์พยานจะมีคนเดียวเท่านั้น หากข่มขืนเท่ากับประหาร พยานก็จะถูกฆ่าตาย ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความรุนแรง จะต้องคิดหลาย ๆ ชั้น

เพิ่มโทษเยาวชน ทำร้ายประเทศระยะยาว

นายธวัชชัย กล่าวว่า ในต่างประเทศ วิธีการแก้ปัญหาจะไม่ใช่ความรุนแรง แต่การคิดวิเคราะห์ เสริมทักษะ และสร้างพลัง ดังนั้นการแก้ปัญหา ด้วยการแก้กฎหมายเพิ่มโทษเยาวชนที่กระทำความรุนแรง ไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการซ้ำเติมปัญหา

และจะเกิดพฤติกรรมเป็นกระสวยย้อนกลับมาทำร้ายประเทศในระยะยาว มากกว่าที่จะเกิดผลดี

อดีตอธิบดีกรมพินิจฯ กล่าวว่า ทางออกในการแก้ปัญหา คือ ต้องกลับมาทบทวนกระบวนการเด็ก เยาวชน ขบวนการดูแลเด็กทั้งหมดต้องทำใหม่หมด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาแก๊งวัยรุ่นที่มีอยู่ในหลายจังหวัด หากพนักงานสอบสวนมีข้อค้นพบ และรู้จริง สามารถเรียกมาแล้วใช้กระบวนการพฤติกรรมกลุ่มมาถอดบทเรียน

ความรุนแรงแก้ปัญหาไม่ได้ การใช้กฎหมายกับเด็ก ก็คือความรุนแรง ยิ่งถ้าเด็กไม่รู้ว่า สิ่งที่เขาทำ คือ ความผิด หากเด็กเข้าไปอยู่ในเรือนจำ แล้วมีความคิดอยากจะแก้แค้นสังคม เพราะเขาไม่รู้วาเขาผิด ก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น

เด็กอาจจะรู้ว่าการทำร้าย หรือการฆ่าคน คือความผิด แต่เขาไม่รู้ว่า ดีกรี ระดับไหนของความรับผิด รับชอบ

นอกจากนี้ เด็กไม่รู้ว่า ทุนของพ่อ แม่ ที่ต้องใช้จ่ายในสิ่งที่เขาทำ เท่าไหร่ คือ อะไร เงินประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี เคยชวนเด็กคุย ถามว่า รู้ไหมว่า ทุนที่พ่อ แม่ ต้องจ่ายในคดีของลูก การที่ต้องลางาน เงินประกันตัว พอเด็กรู้ เขาก็เกิดอาการซึมเศร้าว่า ทำไมพ่อแม่ต้องเดือดร้อน พ่อแม่ต้องทำงานกี่วัน เพื่อจะหาเงินประกันตัวมาได้

ถามเขาว่า ในระหว่างประกันตัว เด็กต้องการให้พ่อแม่ มาเยี่ยมกี่วัน เด็กสรุปว่า ไม่ต้องมาเยี่ยมผมหรอก เพราะพ่อแม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เด็กก็จะเริ่มคิดได้ จึงต้องใช้ต้องใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์ ทำให้เด็กต้องระเบิดจากข้างใน ให้รู้ผิดชอบ ชั่วดี ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกมิติ ไม่ว่ากับใคร หากรัฐบาลสนใจ เราก็มีทีมที่จะช่วย

ผลิตซ้ำความคิด "เปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก"

การเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก จะต้องผลิตซ้ำทางความคิด จนเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ ตัวอย่างการแก้ปัญหา เคยให้เด็กบ้านกาญจนา เปลี่ยนจากผู้เล่นมาเป็นผู้ดู โดยเอาเด็กที่ทำความผิดในคดีข่มขืน และนำเด็กที่ทำความผิดในคดีอื่น และมีลูกติดในท้อง แล้วมานั่งเผชิญหน้ากัน

โดยให้เล่นเกม หญิง-ชาย ในดวงใจพึงประสงค์ โดยให้บอกมาว่า หญิงและชาย อยากได้ผู้ชายและผู้หญิงประเภทไหน เป็นสามีและภรรยา แล้วก็ให้ตอบมา แล้วก็ถามเด็กกลับไปว่า แล้วที่เราเข้าไปข่มขืนกระทำชำเรา จนเข้ามาอยู่สถานพินิจฯ ตรงกับผู้หญิงในดวงใจหรือไม่ สิ่งที่เขาเขียนไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เด็กเริ่มคิดได้

เด็กที่แย่ พ่อแม่ไม่เอา สังคมไม่เอา มันเปลี่ยนได้ และกลับมาทำความผิดซ้ำ ไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ นี่คือ เด็กที่เสียแล้วกู้คืนกลับมาได้ แต่ที่อยู่ข้างนอก ใช้ต้นทุนต่ำว่านี้มาก

การแก้ปัญหาต้องเข้าใจ ครอบครัวพ่อแม่ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ต้องช่วยกัน เพราะการฟื้นฟูเด็กต้องทำทั้งระบบ ที่สำคัญคนจะเข้ามาแก้ปัญหาจะต้องกล้า ๆ อย่าห่วงหน้าพะวงหลัง

นายธวัชชัย ยังเสนอว่า อยากให้นำแนวทางของสหรัฐอเมริกามาเป็นกรณีศึกษา ด้วยการห้ามเด็กและเยาวชนออกนอกบ้านยามวิกาลที่เกินกว่าชั่วโมงความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน (Curfew) ในใช้หลายรัฐของประเทศสหรัฐอเมริกา

เช่น New Orleans, Atlanta และ Washington D.C. กำหนดให้ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี ต้องเข้าบ้านก่อน 23.00 น. วัยรุ่นที่ฝ่าฝืนจะถูกควบคุมตัวไว้ที่สถานที่ออกแบบสำหรับควบคุมการหนีเรียนหรือเร่ร่อน จนกว่าผู้ปกครองจะมารับตัวไป

หรือกรณีที่พบว่าผู้ปกครองมีส่วนสนับสนุนให้เด็กละเมิด Curfew จะถูกปรับและต้องทำงานบริการสังคม ซึ่งสามารถตรวจสอบ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก เด็กสามารถแสดงข้อเท็จจริงได้ ซึ่งการ Curfew เด็ก มีการใช้ในประเทศพัฒนาหลายประเทศ

โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ควรแบ่งกลุ่มเด็กที่ยังไม่ได้กระทำผิด แต่มีพฤติกรรมเสี่ยงตั้งกลุ่มตั้งแก๊ง ผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรท้องถิ่น ศธ. กรมสุขภาพจิต และตำรวจ เข้าไปบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองเด็กได้ทันที ก่อนจะมีการก่อเหตุ

เพราะการไม่ให้ความรัก สวมกอด และไม่ให้อภัย จะเป็นเครื่องมือที่ทำร้ายเด็กและเยาวชน และนำไปสู่การพัฒนาไม่สมวัย ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามชาติบ้านเมือง แบบน้ำซึมบ่อทราย และกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว” คณะกรรมการพิทักษ์ฯระบบข้าราชการตำรวจ ทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"โจ๋" ก่อคดีพุ่ง ข้อมูลคุกเด็ก "ผิดชีวิตร่างกาย-ยาเสพติด" มาแรง 

เยาวชนในสถานพินิจโคราช ยกพวกตะลุมบอน เจ็บ 24 คน 

"บิ๊กต่อ" ลั่นวันนี้จบคดี "ป้าบัวผัน" ยันทำตรงไปตรงมา-ไม่มีอิทธิพล 

ตร.เชิญผู้ปกครอง 5 เยาวชน สอบปากคำคดีทำร้าย "ป้าบัวผัน" จนเสียชีวิต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง