ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"คนผีขุด" 40 ปี วิถีนาเกลือฉะเชิงเทรา

ไลฟ์สไตล์
29 ม.ค. 67
14:28
1,338
Logo Thai PBS
"คนผีขุด" 40 ปี วิถีนาเกลือฉะเชิงเทรา
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ห่างจากเมืองหลวงไป 60 กิโลเมตร ปัจจุบันยังคงมีการทำนาเกลือแบบวิถีดั้งเดิม มากว่า 40 ปี หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ณ เมืองแปดริ้ว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา

จ.ฉะเชิงเทรา มีพื้นที่ที่ยังคงทำนาเกลืออยู่ ร้อยละ 0.2 ของพื้นที่การทำนาเกลือทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย มีการทำนาเกลือทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ปัตตานี

เมื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำนาเกลือ เกษตรกรจะปรับพื้นที่นาให้เรียบและมีความหนาแน่น จากนั้นทำการปล่อยน้ำทะเลให้เข้าสู่แปลงนาขัง เพื่อให้น้ำทะเลตกตะกอนจากนาขังสู่นาตาก ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำให้น้ำทะเลระเหยออกเพื่อเพิ่มระดับความเค็ม

ลุงแมว สมพงษ์ แก้วมรกต วัย 74 ชาวนาเกลือ บ้านผีขุด อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เล่าถึงขั้นตอนเบื้องต้นให้ฟังว่า นาเกลือ ขั้นตอนมันเยอะ ตั้งแต่เริ่มทำใหม่ๆ ต้องมีการเซาะร่อง แต่งคันนา ส่วนนี้ต้องทำทุกปีเมื่อเริ่มทำ และ จ้างเค้าคราดนา จากนั้นต้องตีละเลงให้เรียบ มันไม่ใช่ง่ายๆ

ปัจจัยหลักคือ ดิน-น้ำ-ลม-ไฟ พร้อมเลย ทั้ง 4 อย่างนี้ประกอบกัน มีลม ไม่มีแดดก็ไม่ดี เพราะ "แดด" จะเผาให้ร้อน ส่วน "ลม" จะหมุน "น้ำ" ในนาให้จับเป็นเม็ดเกลือ คือ เพาะเม็ดเกลือให้มันโตขึ้น นี่คือ วิถีทางการทำนาเกลือแบบธรรมชาติ ไม่มีวิธีลัด

"พอทำร่องเสร็จก็เริ่ม "กลิ้ง" และราดน้ำที่มีความเค็มประมาณ 3 ดีกรี ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาเป็นเดือน ทำซ้ำไปซ้ำมา โดยอาศัยแดด ในการเคี่ยว พอผ่านไป 2 คืน จะขึ้นถึง 6 ดีกรี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในการวัดค่าความเค็มของน้ำ จะใช้ปรอทวัดความเค็ม ซึ่งต้องวัดค่าทุกวัน หลังจากเริ่มทำ" ลุงแมวกล่าวอย่างออกรส

เมื่อถึง 25 ดีกรี ก็สามารถปล่อยเป็นเกลือได้ โดยเราต้องคำนวณน้ำด้วยว่า ตอนปล่อยเป็นเกลือประมาณอีก 15 วัน เรา ต้องหาน้ำมาเตรียมไว้ เพราะหลังจากปล่อย 2 วันน้ำจะแห้ง ขั้นตอนนี้ต้องค่อนข้างละเอียดพอสมควร ไม่ใช่เอาน้ำมาแช่เฉยๆ แล้วเป็นเกลือ จะไม่มีคุณภาพ

หลังจากเก็บเกลือแล้วก็จะทำกระบวนการเดิมซ้ำอีกและประมาณ 3 วัน จะเริ่มเก็บได้อีกครั้งเพราะมีหัวเชื้อแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ และต้องวัดดีกรีตลอด ซึ่ง 1 กระทง (นาเกลือ ประมาณ 1 ไร่) จะทำได้ประมาณ 4-5 ครั้ง

เมื่อคราดขึ้นกองเสร็จเรียบร้อย ก็จะเก็บไว้ในยุ้งเกลือก่อนนำออกจำหน่าย หรือมีลูกค้าขาประจำจะมารอรับที่นาเลย

ความแตกต่างของเกลือที่ฉะเชิงเทรา จะมีความอ่อนกว่าที่อื่นๆ ที่อื่นเกลือจะมีความแกร่ง ซึ่งทางนั้นน้ำจะมีความเค็มทั้งปี ส่วนบ้านเรา ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. น้ำจะจืด จากน้ำที่มาจากทางปราจีนบุรีมาที่ปากอ่าวมาเยอะ สิ่งที่ต้องกังวลที่สุดคือฝนตก เพราะต้องเริ่มใหม่ทันที และจะทำให้เกลือดำ

ในส่วนของค่าจ้างในการเกลี่ยทำร่อง ทำคัน 1 กระทง เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ค่าจ้างกระทงละ 3 บาท ปัจจุบัน 200 บาท และจ้างแรงงานเก็บเกลืออีกต่อ 1 รอบการเก็บเกือบ 6,000 บาท

1 กระทงจะได้ 8-9 เกวียน (1 เกวียน 100 ถังหรือ 1.6 ตัน) ส่วนราคาเกลือนั้นไม่ตายตัว ถ้าปีไหนเกลือในประเทศไม่ขาดก็จะถูก ปัจจุบันที่นี่เราขายเกวียนละ 3,000 บาทขึ้นอยู่กับคุณภาพ แต่บางปีได้ไม่ถึงพันก็มี และส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ ส่วนขาจรแทบจะไม่มีแล้วในปัจจุบัน

"ทำนาเกลือมันไม่ได้ร่ำรวย มันก็ได้พอกินพอใช้ ปัจจุบันคนทำก็น้อยลง ส่วนใหญ่จะเลิกทำและขายที่ทิ้งไป รุ่นๆ ลุงก็แทบจะล้มหายตายจากกันไปหมดแล้ว ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั้งชีวิต ตอนนี้ก็มีลูกชายมาช่วยงาน ลุงก็ทำแต่อาชีพนี้ นี่ก็เข้าปีที่ 40 ทำจนมันกลายเป็นวิถีชีวิตของผมไปแล้ว" ลุงแมว คนผีขุด กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง