สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ขยายวันลาคลอด

การเมือง
7 มี.ค. 67
07:27
2,350
Logo Thai PBS
สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ขยายวันลาคลอด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สภาฯ มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ฉบับพรรคก้าวไกล-ภูมิใจไทย ขยายวันลาคลอด พร้อมตีตกร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานพรรคก้าวไกลฉบับ "ทำงาน-พักผ่อน-ใช้ชีวิต" ขณะที่ "ภูมิใจไทย" ซัดนโยบายทำผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุน สุดท้ายแรงงานจะถูก Disruption

วันที่ 6 มี.ค.2567 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน จำนวน 4 ฉบับ ที่นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, น.ส.วรรณวิภา ไม้สน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล, นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.สตูล พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก

ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยนายเซียนั้น มีสาระสำคัญ เช่น การเพิ่มคำนิยามการจ้างงานรายเดือน, การให้การจ้างงานมีความเท่าเทียมทุกด้าน และให้นายจ้างปฏิบัติต่อลูกจ้างอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่แสดงออกถึงการกีดกัน แบ่งแยก จำกัดสิทธิ หรือทำการอื่นใดให้ผู้อื่นไม่ได้รับสิทธิอันพึงได้ตามกฎหมาย รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมให้เวลาทำงานของลูกจ้าง เมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้ว สัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 40 ชั่วโมง เว้นแต่เป็นงานอันตราย ที่จะต้องไม่เกิน 35 ชั่วโมง

พร้อมเพิ่มบทบัญญัติที่นายจ้างจะต้องจ้างงานเป็นรายเดือนทั้งหมด โดยไม่เลือกปฏิบัติ เว้นแต่งานที่มีความเฉพาะไม่มีความต่อเนื่อง หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักของนายจ้าง ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างงานแบบกำหนดระยะเวลาโดยรับรองรายรับ ไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และให้ได้รับสวัสดิการเท่าเทียมกับพนักงานระบบอื่นของนายจ้าง

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันมาแล้วครบ 120 วัน มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่น้อยกว่า 10 วันต่อปี และมีสิทธิให้ลูกจ้าง มีสิทธิลาไปดูแลครอบครัวที่ป่วยได้ปีละไม่เกิน 15 วัน รวมถึงจะต้องมีห้องให้นมบุตร หรือเก็บน้ำนมในที่ทำงาน พร้อมการแก้ไขหลักเกณฑ์การปรับค่าจ้างให้เหมาะต่อค่าครองชีพ และเพียงพอต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามการประกาศของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรืออัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเปลี่ยนชีวิตแรงงานให้ "มีเวลาทำงาน พักผ่อน และใช้ชีวิต"

ส่วนร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานของ น.ส.วรรณวิภา เสนอแก้ไขให้แรงงานสามารถใช้สิทธิลาคลอดจาก 98 วัน เป็น 180 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่า 90 วัน และสิทธิประกันสังคมเพิ่มเติมอีก 90 วัน

ขณะที่ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่พรรคภูมิใจไทยเสนอนั้น มีการแก้ไขเพียงวันลาคลอดได้ ไม่เกิน 98 วัน โดยให้รวมวันลาตรวจครรภ์ก่อนลาคลอดด้วย และให้นายจ้างจ่ายค่าแรงเต็มตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 49 วัน แต่ให้ลูกจ้างชายมีสิทธิลาเพื่อช่วยเหลือภรรยาที่ลาคลอด ตามที่ตกลงในสัญญาจ้างงานด้วย

สำหรับการอภิปรายของ สส.นั้น สส.ฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล ต่างสนับสนุนให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ ที่จะช่วยให้แรงงานได้รับความเท่าเทียม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง ทั้งการให้แรงงานทั้งชาย และหญิง สามารถลางานเพื่อเลี้ยงลูกได้ รวมถึงการการันตีปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้นทุกปี หลังจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยที่ผ่านมาไม่เป็นธรรม จนเกิดความเหลื่อมล้ำ หนี้ครัวเรือน และเด็กเกิดน้อยขึ้น ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่สามารถฝากความคาดหวังได้ เพราะคณะกรรมการปรับอัตราค่าจ้าง ยังใช้สูตรการคำนวณเดิม จนทำให้ค่าแรงถูกปรับขึ้นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

แต่การอภิปรายของ สส.พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่ กลับไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล โดยเห็นว่านวัตกรรมในร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอ หากฟังแล้วอาจดูดี เป็นประโยชน์ต่อแรงงานทั้งประเทศ แต่อาจกลัยกลายเป็นลูกกวาดอาบยาพิษ หรือเป็นเพียงเหรียญด้านเดียว ที่มาตรการตามกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอมานั้น ทั้งวันลาไปเยี่ยมญาติพี่น้องที่ป่วยได้ จะกลายเป็นภาระให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก-รายน้อย SMEs ร้านอาหาร หรือโรงแรม ที่จะต้องแบกรับต้นทุนวันหยุดของแรงงาน ที่เป็นต้นทุนกว่า 20% จนอาจกระทบต่อกิจการ และต้องปิดตัวลง และแรงงานอาจจะถูก Disruption เพราะผู้ประกอบการหันไปใช้เทคโนโลยีมากขึ้น กระทบต่อขีดการแข่งขันของประเทศด้วย เพราะแรงงานตกงาน โดยพรรคภูมิใจไทย ระบุว่าอยากเห็นกฎหมายแรงงานที่คุ้มครองสิทธิแรงงานให้ดีมากขึ้น และไม่ใช่การซ้ำเติมผู้ประกอบการรายย่อยจนอาจต้องล้มละลาย

ด้าน น.ส.จิรัชยา สัพโส สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลถึงการกำหนดค่าจ้างรายเดือน และขึ้นค่าจ้างทุกปี หรือลดชั่วโมงการทำงาน จะเกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาต่อผู้ประกอบการรายย่อย ที่สภาพการเงินอาจไม่คล่องตัว รวมถึงอาจมีผลกระทบต่อการลงทุนจากบริษัทต่างประเทศด้วย เพราะการแข่งขันจากประเทศเพื่อนบ้านสูง จนอาจทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส และอาจกระทบต่ออัตราการจ้างงานคนไทย

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย ได้เสนอให้ที่ประชุมแยกลงมติรายฉบับ เนื่องจากร่างกฎหมายที่เสนอโดยนายเซียนั้น มีเนื้อหาที่ไม่เหมือนฉบับอื่น แต่ น.ส.วรรณวิภา ได้เสนอให้ที่ประชุมลงมติพร้อมกันในคราวเดียว 3 ฉบับ เนื่องจากเนื้อหาของกฎหมายเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อคุ้มครองแรงงาน แต่ที่สุดแล้วที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 255 เสียง ต่อ 149 เสียง ให้ลงมติแยกรายฉบับ

ผลการลงมติร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้ง 3 ฉบับ ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 252 เสียง ต่อ 149 เสียง "ไม่รับหลักการ" ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายเซีย และมีมติ "รับหลักการ" ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดย น.ส.วรรณวิภา ด้วยมติเอกฉันท์ 394 เสียง รวมทั้งมีมติเอกฉัน 401 เสียง ให้ "รับหลักการ" ร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ที่เสนอโดยนายวรศิษฏ์ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาปรับแก้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาต่อในวาระที่ 2 และ 3 พิจารณาตามขั้นตอนอีกครั้ง โดยให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานที่เสนอโดยนายวรศิษฎ์ พรรคภูมิใจไทย เป็นร่างหลักในการพิจารณา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง