เปิดสถิติ "หญิงไทย" ถูกกระทำรุนแรง-ล่วงละเมิด 7 คนต่อวัน

สังคม
7 มี.ค. 67
10:50
1,547
Logo Thai PBS
เปิดสถิติ "หญิงไทย" ถูกกระทำรุนแรง-ล่วงละเมิด 7 คนต่อวัน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
8 มี.ค. "วันสตรีสากล" กสม.เรียกร้องทุกภาคส่วนส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ พบหญิงไทยหลายคนตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว สถิติถูกกระทำรุนแรง-ล่วงละเมิดทางเพศ 7 คนต่อวัน

วันนี้ (7 มี.ค.2567) พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า สหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 8 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงความหาญกล้าของผู้หญิงในอดีตที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิของตน และเพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีที่ยั่งยืน

ปัจจุบันยังคงมีวัฒนธรรมแบบชายเป็นใหญ่ ทำให้ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญความเหลื่อมล้ำและเลือกปฏิบัติ หลายคนตกเป็นเหยือความรุนแรงในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ มีรายงานระบุว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ตัว เช่น อดีตคนรัก บุคคลในครอบครัว หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา และพบว่าผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงและถูกล่วงละเมิดทางเพศ มากกว่า 7 คนต่อวัน ซึ่งเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

พรประไพ กล่าวว่า ผู้หญิงจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อม ขณะที่ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อถูกทำร้ายหรือกระทำทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตร บางกรณีไม่มีพนักงานสอบสวนหญิง และในหลายกรณี เจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัยให้ผู้หญิงได้ เช่น ตำรวจไม่รับแจ้งความจากหญิงรายหนึ่งซึ่งถูกอดีตสามีทำร้ายถึง 3 ครั้ง และปัญหาเหล่านี้ยังมีความอ่อนไหวมากขึ้นเมื่อเกิดขึ้นกับกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้หญิงและเด็กหญิงที่อยู่ในพื้นที่การสู้รบ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานข้ามชาติ หญิงพิการ หรือหญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี

กสม.กำหนดให้การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนปีที่ผ่านมา ซึ่งเสนอรัฐบาลกำหนดให้การยุติความรุนแรงในครอบครัวเป็นวาระแห่งชาติ และให้มีแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยพิจารณาจากต้นเหตุรากเหง้าของความรุนแรง ตลอดจนพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่อจัดเก็บข้อมูลความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอย่างเป็นระบบ โดยจำแนกข้อมูลตามอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ ท้องที่ภูมิศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายกับผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW)

นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนของสังคมให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการจัดบริการที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง เช่น บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย การจัดให้มีพนักงานสอบสวนหญิงที่เพียงพอ การสร้างเสริมศักยภาพของผู้หญิง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิงในทุกระดับ เพื่อนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม ปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และปลอดภัยจากการใช้ความรุนแรง

"เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลประจำปี 2567 กสม.ขอเป็นกำลังใจให้ผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงและเด็กหญิงที่กำลังเผชิญกับความรุนแรงทุกรูปแบบ ให้กล้ายืนหยัดในสิทธิของตนที่จะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการใช้อำนาจ รวมทั้งขอให้ทุกคนในสังคมไม่ว่าเพศใด เคารพสิทธิและความเสมอภาคทางเพศ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง