เล่นมือถือ-จ้องจอนาน เสี่ยงนิ้วล็อก-มือชา-ปวดคอบ่าไหล่

สังคม
23 เม.ย. 67
12:53
123
Logo Thai PBS
เล่นมือถือ-จ้องจอนาน เสี่ยงนิ้วล็อก-มือชา-ปวดคอบ่าไหล่
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
แพทย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตือนภัยเงียบจากไลฟ์สไตล์ชอบเล่นมือถือ จ้องจอนาน เสี่ยงนิ้วล็อก มือชา เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ และปวดคอบ่าไหล่

วันนี้ (23 เม.ย.2567) ในกิจกรรม "เพลย์ลิสต์+หมอกระดูกและข้อ" ให้ความรู้เฉพาะทางป้องกันโรคกระดูกและข้อ ออฟฟิศซินโดรม รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.จุฬาภรณ์ ประธานกิจกรรม กล่าวว่า กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงเอ็นต่างๆ ในร่างกาย เป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวใช้งานตั้งแต่เด็กถึงสูงอายุ อยากให้คนตระหนักถึงความสำคัญ สร้างเสริมสุขภาพตนเอง ตรวจวิเคราะห์ตนเองเบื้องต้น ว่ามีปัจจัยในการเจ็บป่วยหรือไม่

ความรู้เรื่องการดูแลตนเอง ความรอบรู้ทางสุขภาพมีความสำคัญ

ใช้สมาร์ตโฟนนาน! เสี่ยงนิ้วล็อก มือชา ออฟฟิศซินโดรม

ทุกวันนี้หลายคนใช้สมาร์ตโฟน แท็ปเล็ต เป็นประจำ และวันละนานๆ ซึ่งเป็นภัยเงียบนำมาสู่โรคที่ซ่อนเอาไว้ เช่น นิ้วล็อก มือชา เส้นเอ็นข้อมืออักเสบ หรือออฟฟิศซินโดรม การปวดคอบ่าไหล่ แนะนำให้ปรับท่าทาง เปลี่ยนพฤติกรรม จะทำให้อาการดีขึ้นได้ การดูแลปกป้องสุขภาพร่างกาย กล้ามเนื้อ ต้องป้องกันปัจจัยเสี่ยงให้มีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง มีข้อเคลื่อนไหวที่ดี เสริมสร้างสมดุลให้ร่างกาย

แต่หากมีอาการมากขึ้นควรพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการรักษาต่อไป นพ.เติมพงศ์ พ่อค้า รักษาการ ผอ.ศูนย์กระดูกและกล้ามเนื้อ แพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์ทางมือ ข้อศอก และจุลยศัลยศาสตร์ กล่าว

ด้าน นพ.พิชยา ธานินทร์ธราธาร แพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางสาขามะเร็งกระดูกและเนื้อเยื่ออ่อน กล่าวว่า ในปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของคนในสังคมเป็นยุคที่ใช้มือถือและคอมพิวเตอร์ค่อนข้างสูง ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับการใช้งานที่ไม่ถูกท่าและถูกวิธี ส่งผลต่อโรคกระดูกและข้อตามมา ควรปรับเปลี่ยนท่าทางเพื่อดูแลตนเองเบื้องต้น

นพ.วรายศ ตราฐิติพันธุ์ แพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางสาขากระดูกสันหลัง เสริมว่า ประเทศไทยอยู่ในสังคมผู้สูงอายุ ในอนาคตจะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมีโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะกระดูกและข้อเสื่อม หรือมีอาการกระดูกสันหลังเสื่อม หากปรับเปลี่ยนอิริยาบถ ดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรมาพบแพทย์เฉพาะทาง

ข้อเข่าเสื่อมไม่น่ากลัว ปรับพฤติกรรมดูแลสุขภาพเองได้

สำหรับโรคกระดูกและข้อ เป็นโรคยอดฮิตที่พบได้ตั้งแต่อายุน้อยจนถึงผู้สูงอายุ นพ.ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย แพทย์ออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางสาขาศัลยศาสตร์บูรณสภาพในข้อสะโพกและข้อเข่า กล่าวว่า ในผู้สูงอายุจะพบกับโรคข้อเสื่อมได้บ่อย แต่อยากให้มองว่า เมื่ออายุมากขึ้นข้อเข่าคล้ายกับล้อรถที่มีการเสื่อมไปตามวัย แต่ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว เพราะมีวิธีการดูแลตนเองและการรักษา

โดยปัจจัยสำคัญเป็นเรื่องของอายุ พฤติกรรม การใช้ชีวิต รวมถึงน้ำหนักตัวที่มีผล ทำให้น้ำหนักลงที่เข่าเยอะ ส่วนโรคร่วม เช่น ผู้ป่วยที่เคยเกิดอุบัติเหตุจะทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้ง่าย รวมถึงกลุ่มโรคที่ทำให้ข้ออักเสบ เช่น โรคเก๊าท์ โรคเก๊าท์เทียม และโรครูมาตอยด์

ถ้าเริ่มมีเสียงกรอบแกรบที่ข้อเข่า ตื่นเช้ามาข้อยึดข้อตึงข้อฝืด เหล่านี้เป็นอาการทั่วไปที่พบได้ในโรคข้อเข่าเสื่อม หากอาการปวดอยู่นาน ทำกิจวัตรประจำวัน เดินขึ้นเดินลงบันได ลุกขึ้นยืน แล้วมีอาการเจ็บตลอดเวลา หรือข้อเข่าโป่งผิดรูป ควรมาพบแพทย์ นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

อ่านข่าวอื่น :

ฮ.กองทัพเรือมาเลเซีย 2 ลำชนกันกลางอากาศ ทหารตาย 10 นาย

วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นผู้ได้รับสารพิษ "จากการสูดดม"

อาลัย "เทิดภูมิ ใจดี" อดีต สส.ศรีสะเกษ - แนวร่วม พธม. เสียชีวิต อายุ 80 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง