ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

CIMBT ชี้ "ทรัมป์" ชนะเลือกตั้ง เทรดวอร์ "สหรัฐ-จีน" ระอุอีกรอบ

เศรษฐกิจ
24 ต.ค. 67
17:22
504
Logo Thai PBS
CIMBT ชี้ "ทรัมป์" ชนะเลือกตั้ง เทรดวอร์ "สหรัฐ-จีน" ระอุอีกรอบ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สำนักวิจัยซีไอเอ็มบีไทย วิเคราะห์ เลือกตั้งสหรัฐ 5 พ.ย. ชี้หากทรัมป์ชนะ สงครามการค้าจีน-สหรัฐเดือดระลอกใหม่ ไทยเตรียมรับมือผันผวนต้นทุนการเงิน-รายได้เกษตรกรลด การค้าโลกชะลอตัว

วันนี้ ( 24 ต.ค.2567) นาย อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)กล่าวว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 5 พ.ย. 2024 ทั่วโลกจับตาว่า ใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี กับ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีในรัฐบาลของนาย โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต กำลังจะส่งผลให้เกิดความผันผวนและความเปลี่ยนแปลง

สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ประเมินฉากทัศน์ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการเลือกตั้งใหม่ เพราะหากรองประธานาธิบดีแฮร์ริสชนะ คงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงที่จะดำเนินนโยบายต่อเนื่องจากประธานาธิบดีไบเดน ดังนั้นหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เศรษฐกิจไทยปี 2025จะเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทาย

ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ซีไอเอ็มบีไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2025 จะเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทาย ด้านบวก เศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐเพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตขึ้น

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐและการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย เป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทยและจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ รวมถึงการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล

ส่วนด้านลบ แม้ว่าการส่งออกของไทยเสี่ยงโตช้า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความกังวลว่าการค้าระหว่างประเทศจะหยุดชะงัก ต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาลอยู่ระดับสูงตามความเสี่ยงทางการคลัง ไม่ใช่เพียงแต่ในสหรัฐแต่รวมถึงไทยด้วย เพราะอัตราผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาลมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และรายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยปี 2025 ในบริบทของภูมิทัศน์เศรษฐกิจและการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ มีประเด็นสำคัญที่น่าจับตา เช่น นโยบายภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์และข้อจำกัดทางการค้า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ทรัมป์ อาจจะกำหนดภาษีนำเข้า 60% สำหรับสินค้าจีน ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศลดฮวบ บริษัทจีนจะเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น เกิดการไหลออกของเงินทุน การย้ายฐานอุตสาหกรรม และบางบริษัทอาจย้ายมาไทย ทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตของจีน สำหรับบริษัทจีนที่ดำเนินงานในไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอยู่แล้วไม่น่าจะถูกกระทบทางตรง

ส่วนผู้ผลิตจีนที่โยกย้ายมาไทยเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐ จะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเครื่องจักร แม้การเปลี่ยนแปลงนี้จะเพิ่มบทบาทของไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตของจีนในภูมิภาค

แต่การย้ายฐานนี้จะไม่สามารถชดเชยการลดลงของการค้าของโลกได้ การค้าภูมิภาคจะชะลอลง เพราะเมื่อจีนส่งออกลดลง จีนจะลดการนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกไทยมีโอกาสช่วงชิงสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐมากขึ้นหรือแย่งส่วนแบ่งการตลาดของจีนในสหรัฐที่ลดลง แม้ว่าไทยจะเผชิญภาษีนำเข้า 10% แต่สินค้าไทยจะยังคงมีราคาถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในสหรัฐ กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง คาดว่าส่งออกของไทยจะขยายตัวราว 1.0% แทนที่จะอยู่ที่ระดับ 2.6%

นาย อมรเทพ กล่าวอีกว่า กรณีแฮร์ริสชนะ ไทยต้องรับมือกับความไม่แน่นอนของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ไทยในฐานะผู้เล่นในภูมิภาคอาเซียนที่ไม่เข้าข้างฝ่ายใดต้องระมัดระวังในการจัดการด้านความสัมพันธ์กับทั้งสหรัฐและจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการตกอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ไทยสามารถเพิ่มบทบาทในเวทีโลกโดยใช้แพลตฟอร์มอาเซียนเพื่อส่งเสริมการค้าขายและการลงทุนในภูมิภาค รวมทั้งใช้ความเข้มแข็งของอาเซียนดึงดูดการลงทุนต่างชาติ (FDI)

ขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงอุปสรรคทางการค้าที่เกิดจากสหรัฐโดยใช้อาเซียนเพิ่มอำนาจต่อรอง นอกจากนี้ไทยสามารถร่วมมือกับอาเซียนในการสกัดสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีนที่คุณภาพไม่ได้มาตรฐานหรือมีจุดประสงค์ในการทุ่มตลาด จนกระทบ SMEs และทำให้ภาคการผลิตของไทยอ่อนแอลง

กรณีทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แม้เฟดอาจปรับลดดอกเบี้ยลงมากกว่าที่คาดไว้เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐรอดพ้นจากภาวะถดถอยจากสงครามการค้า ดอลลาร์สหรัฐน่าจะอ่อนค่าตามทิศทางดอกเบี้ยที่ลดลง

แต่คาดว่าตลาดจะให้น้ำหนักกับความเสี่ยง รวมทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอาจยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนถึงความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าเงินบาทอาจอ่อนค่าลงถึงระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2025 เงินบาทอ่อนค่าจะทำให้สินค้านำเข้าแพงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจักรและวัตถุดิบ ส่งผลให้เกิดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ทางธนาคารแห่งประ เทศไทย (ธปท.) อาจลดดอกเบี้ยนโยบายตามเฟดเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ แม้จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีก ซึ่งธปท. อาจให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าการควบคุมเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ การไหลออกของเงินทุนจากตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทย จะเพิ่มความผันผวนทางการเงิน ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลและธุรกิจอยู่ในระดับสูง ในทางตรงข้าม หากแฮร์ริสชนะการเลือกตั้ง เฟดจะทยอยปรับลดดอกเบี้ยตามทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลง นักลงทุนจะลดความสนใจในเงินดอลลาร์ลง เงินบาทน่าจะแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในปลายปี 2025

สำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ศูนย์วิจัยซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า ไม่น่าเผชิญภาวะถดถอยในปี 2025 และอาจเติบโตได้เหนือระดับ 2.0% มากกว่ากรณีแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง เพราะนโยบายหลายอย่างของทรัมป์จะนำไปสู่การเติบโตที่ช้าลงในระยะกลางถึงระยะยาว รวมทั้งความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้นในปีถัดๆ ไป

นโยบายของทรัมป์ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือการลดภาษีนิติบุคคล จาก 21% เป็น 15% ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาคธุรกิจในสหรัฐ จ้างงานหรือเพิ่มค่าแรงขึ้น อันจะช่วยชดเชยค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้า

นอกจากนี้ ทรัมป์น่าจะสนับสนุนการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐ และสหรัฐมีน้ำมันดิบสำรองในปริมาณมากพอจะใช้ในประเทศและส่งออกได้ โดยไม่น่ากังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภาวะโลกร้อน รวมทั้งมองว่าเทคโนโลยีในการขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐที่ก้าวหน้าจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจสหรัฐ

ขณะที่ภาคต่างประเทศ ทรัมป์จะเจรจาหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศตะวันออกกลางและรัสเซียเพื่อยุติสงคราม เมื่อความเสี่ยงด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์คลี่คลายลง อุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีเสถียรภาพจะทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกปรับตัวลดลง

สำหรับประเทศไทย ราคาน้ำมันที่ลดลงจะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน ทำให้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรจะลดลงตามต้นทุนพลังงานและปุ๋ย และปรับตัวลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรไทย ทำให้กำลังซื้อลดลง

โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่ออุปสงค์ภายในประเทศให้อ่อนแอลง ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเฉลี่ยที่ระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในกรณีที่ทรัมป์ชนะเทียบกับระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในกรณีที่แฮร์ริสชนะ

นาย อมรเทพ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจไทยใต้เงาทรัมป์น่าจะมีความผันผวนมากกว่ากรณีของแฮร์ริส โดยเฉพาะจากความพยายามลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะกดดันการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ สำนักวิจัยฯมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2025 จะขยายตัวได้เพียง 2.5%

ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับ 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส คาดว่านอกจากการส่งออกที่จะชะลอและกดดันการลงทุนภาคเอกชนให้เติบโตช้าลงแล้ว ความต้องการในประเทศจะอ่อนแอตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง โดยเฉพาะ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตรทั่วประเทศ รวมทั้งครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในพื้นที่ชนบทจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการลดลงของกำลังซื้อ

แต่เชื่อว่าการบริโภคภาคเอกชนยังเติบโตได้ด้วยแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและจากมาตรการแจกเงินของรัฐบาล ในส่วนของมาตรการทางการเงิน มองว่า ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศและลดความเสี่ยงด้านภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ

แม้การลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อสินค้านำเข้ามากขึ้นก็ตาม สำนักวิจัยฯ มองว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ระดับ 1.25% ในกรณีของทรัมป์ เทียบกับที่ระดับ 1.50% ในกรณีของแฮร์ริส

 อ่านข่าว:

สายพันธุ์นักล่า “ธุรกิจขายตรง” กลโกงกินรอบวงแชร์ลูกโซ่

เกาะติดเลือกตั้งสหรัฐฯ ไทยหวั่นผลกระทบนโยบายผู้นำคนใหม่

“คลัง” ยันงบ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง”ไม่ถึง 2.4 หมื่นล้าน ย้ำมีแหล่งเงิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง