ชาวสวนจันทบุรี ยอมซื้อน้ำ "รดทุเรียน" สู้ภัยแล้ง

ภัยพิบัติ
24 เม.ย. 67
13:30
597
Logo Thai PBS
ชาวสวนจันทบุรี ยอมซื้อน้ำ "รดทุเรียน" สู้ภัยแล้ง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ปัญหาภัยแล้งเนื่องจากฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน กำลังสร้างผลกระทบให้ชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก ที่ ต.จันทเขลม จ.จันทบุรี เป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่กำลังประสบปัญหาในเวลานี้

ชาวสวนทุเรียนหลายคนวิกฤติไม่มีน้ำใช้ จำเป็นต้องซื้อน้ำมาหล่อเลี้ยงลำต้น โดยต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

รถบรรทุกหกล้อ และ 10 ล้อ ต้องรอต่อแถวเข้าคิวซื้อน้ำจากบ่อน้ำขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ต.จันทเขลม อ.เขาคิชฌกูฎ จ.จันทบุรี ตลอดทั้งวัน เพื่อนำน้ำไปส่งตามสวนทุเรียน ที่กำลังเติบโตและให้ผลผลิต แต่ละวันจะมีรถบรรทุกมาขนน้ำไปส่งตามสวนต่าง ๆ วันละกว่า 150 เที่ยว

น.ส.ฐิติพร บุญเปี่ยม เจ้าของบ่อน้ำ ต.จันทเขลม บอกว่า ปีนี้ความต้องการใช้น้ำจากชาวสวนมากกว่าทุกปี เนื่องจากฝนทิ้งช่วง ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย ในแต่ละวันจะมีชาวสวนโทรัพท์มาจองคิวซื้อน้ำหลายราย แต่รับได้จำนวนจำกัด

สำหรับค่าบริการน้ำดิบ ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและระยะทาง ความยากง่ายในการเข้าไปส่ง เช่น ถ้าเป็นรถบรรทุกหกล้อ บรรทุกได้ 10,000 ลิตร ส่งในระยะ 2 กิโลเมตร อยู่ที่เที่ยวละ 800 บาท แต่หากเป็นรถบรรทุก 10 ล้อ บรรทุกได้ 20,000 ลิตร ราคาจะอยู่ที่เที่ยวละ 1500 บาท ในระยะเท่ากัน

ด้าน นางชลดา ก้อนเงิน เจ้าของสวนทุเรียน ต.จันทเขลม บอกว่า มีสวนทุเรียน 13 ไร่ ต้องสั่งซื้อน้ำมารดต้นทุเรียนที่กำลังออกผลผลิตอย่างน้อยวันละ 5 เที่ยว เพราะบ่อที่ขุดไว้ 2 บ่อ ไม่มีน้ำ ส่วนน้ำบาดาลก็มีน้อยมาก ขณะที่คลองสาธารณะไม่มีน้ำเช่นกัน จำเป็นต้องซื้อน้ำมาเติมในบ่อที่ขุดไว้ เพื่อรดต้นทุเรียน ซึ่งการให้น้ำก็ทำได้จำกัด เพราะต้นทุนสูง โดยให้น้ำทุเรียนเพียงร้อยละ 40 เท่านั้น

นางภิญญามาศ ร่มโพธิ์ เจ้าของสวนทุกเรียน บอกว่า ปลูกทุเรียน 10 ไร่ อายุต้นทุเรียนเพียงปีเศษ ตอนนี้เริ่มใบหลืองเพราะขาดน้ำ และทยอยตาย เพราะไม่สามารถซื้อน้ำมารดต้นทุเรียนนั้นได้ เพราะต้นทุนสูง

ขณะที่ นายนนธวัช เต่าทอง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 ต.จันทเขลม บอกว่า สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้หนักกว่าทุกปี เพราะพื้นที่ปลูกทุเรียนขยายมากขึ้น ทำให้ชาวสวนเดือดร้อน ส่วนบ่อน้ำสาธารณะในหมู่บ้าน 3 แห่ง ก็ไม่มีน้ำตั้งแต่เดือน ก.พ. จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ระยะสั้น ต้องการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องมาส่งน้ำให้กับชาวบ้านเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงนี้ส่วนระยะยาวคือการเพิ่มอ่างเก็บน้ำให้เพียงพอ

นายธนัท ประสาททอง หัวหน้าฝ่ายช่างกล โครงการชลประทานจันทบุรี ระบุว่า ขณะนี้โครงการ ชลประทานจันทบุรี ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำน้ำไปให้บริการตามจุดต่าง ๆ เช่น อ.ท่าใหม่ อ.เขาคิชฌกูฎ นอกจากนี้กรมฝนหลวงฯ ยังมีการทำฝนเทียม เชื่อว่าหากมีฝนตกลงมาจะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายลง

อ่านข่าว : โฆษกรัฐบาล ยัน 50 ปีปัญหา ถ.พระราม 2 ต้องยุติลงใน "รัฐบาลเศรษฐา"

พบเชื้อไวรัสโรตา-ไวรัสโนโร ปมอุจจาระร่วงอุโมงค์น้ำสงกรานต์

สำรวจโกดังโรงงานเฟอร์นิเจอร์ ใกล้จุดเกิดเหตุ "คดีฆ่าหั่นศพ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง