สังเกตอาการ "เลือดกำเดาไหล" อาจไม่ใช่เรื่องเล็กที่มองข้าม

ไลฟ์สไตล์
25 เม.ย. 67
15:32
246
Logo Thai PBS
สังเกตอาการ "เลือดกำเดาไหล" อาจไม่ใช่เรื่องเล็กที่มองข้าม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อากาศร้อนๆ แบบนี้มีโอกาสที่เส้นเลือดฝอยในจมูกจะขยายจนแตก และทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้ อาการนี้มักพบบ่อยในเด็ก แต่ในผู้ใหญ่ก็พบได้เช่นกัน แต่ไม่ได้มีแค่สภาพอากาศร้อนเท่านั้น ยังมีสาเหตุอื่นที่ควรใส่ใจ เพราะเลือดกำเดาอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความอันตรายแฝงก็ได้

เลือดกำเดาไหล (Epistaxis) คือ ภาวะเลือดออกทางจมูก แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า และภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหลังโพรงจมูก ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุที่อันตรายกว่าภาวะเลือดออกทางจมูกด้านหน้า ดังนั้นเมื่อเลือดกำเดาไหล อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยของโรค เช่น

เนื้องอก

สาเหตุ : มะเร็ง หรือ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยง เกิดขึ้นในจมูก ไซนัส หรือหลังโพรงจมูก
อาการ : เลือดออกเป็นบางครั้ง หรือเลือดออกจมูกปริมาณมากควรส่องกล้องตรวจโพรงจมูก หรือเอ็กซเรย์เพื่อตรวจวินิจฉัย

การระคายเคือง หรือบาดเจ็บในจมูก

สาเหตุ : แคะจมูกบ่อย ได้รับแรงกระแทกที่จมูก สั่งน้ำมูกแรงๆ อากาศแห้งความกดอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ขึ้นเครื่องบิน
อาการ : เลือดมักออกไม่มาก และเป็นระยะเวลาสั้น ๆ อาจมีเลือดออกช้ำในช่วงที่ใกล้หาย

การอักเสบในโพรงจมูก

สาเหตุ : จากการติดเชื้อไวรัส ภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบ ใช้เครื่องอัดอากาศขณะหลับ
อาการ : มีเลือดออกปนมากับน้ำมูก

ความผิดปกติทางกายวิภาค

สาเหตุ : ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีกระดูกงอกผิดที่ รวมถึงมีรูทะลุทำให้เกิดความไม่สมดุลของอากาศ
อาการ : เลือดมักไหลในจมูกข้างเดิม และเป็นซ้ำในจุดที่ผนังกั้นช่องจมูกคดหรือมีกระดูกงอก

ติดเชื้อในโพรงจมูก

สาเหตุ : อาการภูมิแพ้แบบเรื้อรัง อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในโพรงจมูก จนเป็นโพรงจมูกอักเสบ หรือโรคไซนัสอักเสบได้ 
อาการ : เลือดกำเดาไหลบ่อยๆ จนเกิดการติดเชื้อ

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ภาพประกอบข่าว

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเลือดกำเดาไหล

  1. นั่งตัวตรงหรือนอนศีรษะสูง ก้มหน้าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้สำลักเลือด
  2. ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบปีกจมูก 2 ข้างเข้าหากัน ให้แนบเข้ากับผนังกั้นจมูก ค้างไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วจึงลองคลายออก ระหว่างนี้ให้หายใจทางปาก
  3. ไม่ควรบีบจมูก แล้วเงยหน้า จะทำให้เลือดไหลย้อนลงคอหรือลอดลม มีโอกาสสำลักได้ 
  4. หากปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วเลือดไม่หยุดไหล หรือเลือดไหลออกปริมาณมาก หรือมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม ควรไปโรงพยาบาลทันที
  5. เมื่อเลือดหยุดไหลดีแล้ว ควรนัดพบแพทย์ประจำตัว หรือ โสต ศอ นาสิกแพทย์ หากเลือดกำเดาไหลบ่อยๆ ไหลออกมาเป็นปริมาณมาก หรือมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หน้ามืด คัดจมูก ปวดหรือชาบริเวณใบหน้า มีเลือดออกในตำแหน่งอื่น ๆ ของร่างกาย อ่อนเพลีย การได้กลิ่นผิดปกติ หรือมีโรคประจำตัวหรือใช้ยาบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของเลือดกำเดา
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

ไหลแบบนี้ต้องพบแพทย์แล้ว

เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่จะไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่ถ้ามีเลือดกำเดาไหลออกมามากกว่าปกติ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายแรงที่ซับซ้อน ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการอย่างละเอียด ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้

  • เลือดกำเดาไหลไม่หยุดเกินกว่า 5-10 นาที
  • เลือดไหลออกมาเป็นลิ่มเลือด
  • ตัวซีด ปากซีด มีอาการหน้ามืด เวียนหัว คล้ายจะเป็นลม
  • สำลักหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด
  • ชีพจรเต้นเร็ว หายใจลำบาก
    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

    ภาพประกอบข่าว

วิธีป้องกันไม่ให้เลือดกำเดาไหล 

  • ไม่แคะ แกะ หรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง
  • ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้า
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่ที่มีควันบุหรี่ สารเคมี หรือฝุ่นละออง
  • ใช้น้ำเกลือหยอดจมูกป้องกันเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

อ่านข่าวอื่น : 

FC แนะ “บิ๊กโจ๊ก” เล่นการเมือง เส้นทางกลับ สตช.ตีบตัน

เปิดโพล! เด็กไทยชั้นประถม 15% ครอบครัวให้ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า

ทส.ไฟเขียวตั้ง "ท้องถิ่น" จับลิงลพบุรี-ช่วยดับไฟป่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง