ทำได้-ไม่ได้ เลือก สว. ลายแทง "แสวง" ถึง ผู้สมัคร สื่อ นักการเมือง

การเมือง
1 พ.ค. 67
15:34
671
Logo Thai PBS
ทำได้-ไม่ได้ เลือก สว. ลายแทง "แสวง" ถึง ผู้สมัคร สื่อ นักการเมือง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

งวดเข้ามาทุกขณะแล้ว สำหรับการเลือกตั้ง สว.ชุดที่ 13 ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กำหนดเปิดรับสมัครวันแรกทั่วประเทศ 12 พ.ค. หลังสมาชิกวุฒิสภายุค คสช. 250 คน จะครบวาระในวันที่ 11 พ.ค.นี้

นายแสวง บุญมี เลขาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ได้รับอนุมัติงบประมาณจำนวน 1,400 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์และบุคคลากรที่เกี่ยวข้องใน 77 จังหวัด จำนวน 928 อำเภอ ทั่วประเทศ เนื่องจากเป็นการคัดเลือก สว.แบบใหม่ โดยใช้วิธีการ "เลือกกันเอง" เพื่อให้ได้ สว.200 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนด ว่า ให้ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปสามารถลงรับสมัครได้ ตามความเชี่ยวชาญในสาขาที่ตนเองถนัด

เลขาฯ กกต.อธิบายว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 การเลือก สว.แบบไขว้จะมาจากผู้สมัคร 20 กลุ่มสาขาอาชีพ เป็นการเลือกกันเองในพื้นที่ตัวเอง หรือพูดง่ายๆ คือ จะมีการเลือกในระดับอำเภอ และแบ่งเป็น 2 รอบ

กล่าวคือ รอบแรกจะเป็นการเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งผู้สมัครสามารถเลือกตัวเองได้ และ ลงคะแนนให้ผู้สมัครคนอื่นในกลุ่มเดียวกันได้ 1 คะแนน จากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับ 1-5 ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบที่ 2

การเลือกรอบ 2 เป็นการเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบ จะแบ่งสาย 4 สาย ผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจากกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจากกลุ่มเดียวกัน หรือ เลือกตัวเองไม่ได้ และผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะผ่านเข้ารอบไปเลือกในระดับอำเภอ ในกลุ่มที่ตนเองสมัคร

ต่อมาจะเป็นการเลือก สว.ระดับจังหวัด แบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรกเป็นการเลือกไขว้ จะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือ ผู้สมัครเลือกกันเองในกลุ่ม และสามารถเลือกตนเองได้ ลงคะแนนให้คนอื่นได้ 1 คะแนน ซึ่งผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าไปเลือกรอบ 2

และเลือกรอบ 2 ให้เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน ซึ่งผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบจะแบ่งสาย 4 สาย โดยผู้สมัครสามารถเลือกผู้สมัครจาก กลุ่มอื่น ที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน แต่จะเลือกจากกลุ่มเดียวกัน หรือ เลือกตัวเองไม่ได้ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2 อันดับแรก ของแต่ละกลุ่มจะเป็นผู้ที่ถูกเลือกระดับจังหวัด ในกลุ่มนั้น เพื่อไปเลือก สว.ระดับประเทศ

ด่านที่ 3 จะเป็นการเลือก สว.ระดับประเทศ แบ่งเป็น 2 รอบเหมือนเดิม คือ เลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน ซึ่งผู้สมัครที่ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดมาแข่งระดับประเทศ จะเลือกกันเองในกลุ่มได้ไม่เกิน 10 คน สามารถเลือกตัวเองได้ แต่จะลงคะแนนให้กับคนอื่นเกิน 1 คะแนนไม่ได้

โดยผู้ที่ได้รับเลือก 1-40 ของกลุ่ม จะเข้าไปเลือกรอบที่ 2 ต่อไป แต่ถ้ากลุ่มไหนไม่ครบ 40 คน ก็ให้ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งระดับประเทศ จะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่นั้น โดยให้เลือกกันเองใหม่จนกว่าจะได้จำนวนอย่างต่ำ 20 คน

"หลังจากเลือก 2 รอบเสร็จก็พอจะมองเห็นภาพ คือ เลือกในกลุ่มตัวเอง ให้เอาคนที่ได้ไป เลือกไขว้ 20 สาขาอาชีพ มี 5 กลุ่ม จากการเลือกรอบแรก และจะมี 4 กลุ่มในสายนั้น ทุกคนมีคนละ 1 คะแนน เลือกได้อีก 4 จะได้ 5,000 คน"

การเลือกครั้งต่อไปจะเหลือ 2 คน จาก 77 จังหวัด จาก 20 คน จะได้ 3,080 คน จะไปเลือกเหลือ 200 คน และสำรองไว้อีก 100 คน พอมาถึงระดับประเทศ เลือกได้ 40 คน จากนั้นเลือกไขว้ ในกลุ่มอื่นได้ไม่เกิน 5 คน ใช้เวลาประมาณ ไม่เกิน 60 วัน จะได้ 200 คน หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ เราจะได้ สว. ในช่วงปลายเดือน กค. ตามที่กฎหมายกำหนด" เลขาฯ กกต.กล่าว

นายแสวง บอกว่า สำหรับข้อปฏิบัติตัวในส่วนของผู้สมัคร สว.จะต้องทราบ อะไรทำได้-ไม่ได้ เช่น การแนะนำตัว ต้องเป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด เพราะ สว.เลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิที่คนในวงการเดียวกัน หรือสาขาอาชีพเดียวกัน รู้จักกันดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแนะนำตัว

หากฝ่าฝืนทำในสิ่งที่นอกเหนือจากนั้น กรณีที่เกี่ยวกับการทุจริต เช่น การซื้อเสียง จ้างคนลงสมัคร รู้ว่าไม่มีสิทธิ แต่ลงสมัคร ไม่แนะนำตัวตามกฎหมายกำหนด การโทรไปขอคะแนนเสียง หรือแลกคะแนนเสียง ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาตัดสินเพิกถอนสิทธิตลอดชีวิต

ในส่วนของนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ต้องไม่ไปให้ช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ว.ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 76 กำหนดชัด

ห้ามไม่ให้กรรมการบริหารพรรค หรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในพรรค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระทำการโดยวิธีการใดๆ หรือให้ช่วยเหลือให้ผู้สมัครผู้ใดได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือทำให้ผู้สมัครผู้ใดไม่ได้รับเลือก

การเลือก สว.ครั้งนี้ ประชาชนทำได้เพียงสังเกตการณ์ ไม่มีสิทธิเลือกเพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้สิทธิในเรื่องดังกล่าว แต่สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารจาก สำนักงาน กกต. เกี่ยวกับประวัติของผู้สมัครทั้งหมด

เลือก สว.ครั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิกับประชาชนในการเลือก เป็นสิ่งเดียวที่ถูกตัดสิทธิไป ส่วนการมีส่วนร่วมอย่างอื่น ประชาชนก็ยังมีส่วนร่วมเหมือนเดิม เหมือนการเลือกตั้งโดยทั่วไป

เลขาฯ กกต. กล่าว ประชาชนสามารถเชียร์ผู้สมัครที่ตนเองชอบได้ แต่การโฆษณาแบบแจกแผ่นป้าย แนะนำตัว ทำให้ไม่ได้ และต้องเข้าใจว่า การชวนไปสมัครกับการเชียร์ มีความแตกต่างกัน หากใครได้ประโยชน์ ต้องไปบอกให้คนเชียร์ หยุดการกระทำ เพราะอาจมีคนจ้องจับผิดคนสมัคร และคนแกล้งเชียร์เพื่อให้ตัวเองตายก็มี จึงควรต้องระวัง โดยเฉพาะกลุ่มคนสมองเพชรที่อยู่เบื้องหลัง

นายแสวง บุญมี เลขาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายแสวง บุญมี เลขาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

นายแสวง บุญมี เลขาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ในขณะที่แนวปฏิบัติของสื่อมวลชนนั้น นายแสวง กล่าวว่า สื่อสามารถนำเสนอข่าวได้ แต่ไม่สามารถนำเสนอรายชื่อผู้สมัครได้ ตามปกติสื่อจะทราบข้อมูลผู้สมัคร สว.ทุกคนอยู่แล้ว แต่ไม่สามารถนำเสนอ เปิดเผยรายชื่อในระหว่างการสมัคร จนกว่าจะปิดการสมัคร หลังจากนั้นจะส่งไปในแอปพลิเคชัน smart vote และเว็บไซต์สำนักงาน กกต. ซึ่งจะนำเสนอได้เพื่อทำให้เห็นภาพรวมทั้งหมด

"การนำเสนอข่าวทำได้หมด บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง แต่ห้ามแนะนำเพื่อช่วยเหลือ เช่น นำเสนอหรือให้ความสนใจ ผู้สมัครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น เพราะระเบียบ คือ ห้ามผู้สมัคร สว.ไปให้สัมภาษณ์ช่วงนั้น" เลขาฯกกต.ทิ้งท้าย

อ่านข่าว :

"เลือกกันเอง" ที่มา สว.ชุดใหม่ ครั้งแรกการเมืองไทย

ร้องหาทางออก "เสียงละหมาด" กระทบผู้พักอาศัยย่านบางบัวทอง

ร้องพระลูกวัด จ.ฉะเชิงเทรา ขโมยเงินวัด 500,000 หลบหนี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง