ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตา สว.พิจารณาร่าง กม.สมรสเท่าเทียม เช็กสถานะคู่รักหลากเพศทั่วโลก

การเมือง
18 มิ.ย. 67
07:11
3,304
Logo Thai PBS
จับตา สว.พิจารณาร่าง กม.สมรสเท่าเทียม เช็กสถานะคู่รักหลากเพศทั่วโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ที่ประชุม สว. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมในวาระที่ 2-3 หากลงมติเห็นชอบ ไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้ ขณะที่กิจกรรมการสาบานรักของกลุ่ม LGBTQIA+ และงานฉลองเกิดขึ้นทั่วโลกเนื่องในเดือน Pride Month

วันนี้ (18มิ.ย.) ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ "ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม" ได้ถูกบรรจุเป็น 1 ในระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ และหลายฝ่ายคาดว่า อาจมีมติเห็นชอบ โดยหากที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบ ร่างกฎหมายดังกล่าว จะถูกส่งไปยัง ครม. จากนั้นนายกฯ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยจะมีผลใช้บังคับหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 120 วัน หรือประมาณช่วงปลายปีนี้

ขณะที่ช่วงเย็นวันนี้ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จะมีการจัดงานเลี้ยงเพื่อแสดงความยินดีกับจุดเริ่มต้นของกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยในเวลาประมาณ 16.30 น. ภาคประชาชนจะเริ่มเดินขบวนพร้อมแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียม จากรัฐสภามายังทำเนียบรัฐบาล จุดนี้ จะจัดเป็นถนนสายรุ้งแห่งความเท่าเทียม และมีกิจกรรมทั้ง เพ้นท์สีแห่งความเท่าเทียม ตู้สติกเกอร์ ซุ้มดอกไม้ จุดถ่ายภาพแสดงสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมทั่วทั้งงาน พร้อมของที่ระลึก

ตามกำหนดการณ์เดิม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ จะต้องเข้าร่วมงาน แต่เนื่องจากติดโควิด-19 จึงได้มอบหมายให้ น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมงานแทน

ขณะที่ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ชวนเกาะติด สว.โหวตสมรสเท่าเทียม โดยระบุว่า ถึงแม้รายงานจากคณะกรรมาธิการของชั้นสมาชิกวุฒิสภา จะมีสมาชิกบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายสมรสเท่าเทียมและอยากให้ใช้คู่ชีวิตแทน แต่เป็นเพียงส่วนน้อยและเชื่อว่าเสียงสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่จะเห็นชอบ และไม่มีการแก้ไขจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรผ่านในวาระ 3 ที่ผ่านมา จึงอยากเชิญชวนประชาชน รับฟังการพิจารณาของชั้นสมาชิกวุฒิสภาในวันนี้ (18 มิ.ย.)

สำรวจสถานะ "สมรสเท่าเทียม" ทั่วโลก

ทันทีที่ผู้พิพากษา Mary Yu ถามว่าคุณจะให้คำมั่นสัญญาต่อคนรักอีกครั้งหรือไม่ ทุกคนก็พร้อมใจตะโกนว่า YES!! บรรยากาศชื่นมื่นอบอวลไปด้วยความรักแบบนี้เกิดขึ้นบนเรือสำราญที่มีชื่อว่า "Love For All Boat" ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่รักกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ 56 คู่ จูงมือควงแขนก้าวลงเรือเพื่อร่วมทำพิธีสาบานรักอีกครั้ง โดยผู้พิพากษาหญิงที่รับหน้าที่เป็นประธานในพิธี เป็นผู้พิพากษาคนแรกของรัฐวอชิงตันที่เปิดตัวว่าเป็น LGBTQIA+

นอกจากแต่ละคู่จะได้มาเติมความหวานกันแล้ว ทุกคนยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการทุบสถิติโลก โดย RecordSetter บันทึกให้เป็นงาน Vow renewal ของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่มีคนเข้าร่วมงานมากที่สุด ซึ่ง Vow renewal ก็คือการกล่าวคำมั่น คำสาบานต่อคนรักอีกครั้งนั่นเอง ในพิธีแต่งงานของชาวคาทอลิกจะมีการกล่าวคำสัญญาว่าจะรักกัน อยู่ด้วยกัน งานนี้ก็เหมือนกลับไปทำอีกครั้ง ย้ำคำสัญญา

เรียกได้ว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์ โดยเฉพาะคู่ที่คบกันมานาน ๆ ซึ่งจากพิธีหวาน ๆ ตอนกลางวัน ตกดึกก็ได้ปาร์ตี้กันแบบสนุกสุดเหวี่ยงอีกด้วย

งานนี้จัดขึ้นโดย Visit Seattle ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองซีแอตเทิล โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงให้เห็นถึงการยอมรับและการให้เกียรติชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งปีนี้ยังถือเป็นการครบรอบ 50 ปี การเฉลิมฉลองเทศกาลไพรด์ของซีแอตเทิลด้วย

ปัจจุบันโลกเราไปไกลแค่ไหนแล้วในเรื่องความเท่าเทียม โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า

สิทธิมนุษยชนของ LGBTQIA+ ที่มีเท่าเทียมกับทุก ๆ คน ควรได้รับการเคารพ

ดังนั้น สิทธิในการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันจึงเป็นสิทธิมนุษยชนที่ชุมชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศผลักดันในประเทศต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน

ประเทศแรกที่มีกฎหมายรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันคือเนเธอร์แลนด์ในปี 2544 โดยปัจจุบัน มี 37 ประเทศและดินแดนที่อนุญาตให้คนเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งในทวีปยุโรปมีจำนวนมากที่สุดถึง 21 ประเทศ ขณะที่ปัจจุบัน ในเอเชียมีเพียงแค่ไต้หวันและเนปาลเท่านั้นที่อนุญาตให้มีการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกันได้ และคาดว่าไทยกำลังจะได้มีรายชื่ออยู่ในกลุ่มนี้เป็นที่ที่ 3 ของเอเชียด้วย ซึ่งจะทำให้เราเป็นชาติแรกของเอเชียตะวันออกฉียงใต้

ผลสำรวจทัศนคติของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน ซึ่งจัดทำโดยศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ในปี 2566 พบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจชาวเวียดนามให้การสนับสนุนร้อยละ 68 รองลงมาคือไทยร้อยละ 65 กัมพูชาร้อยละ 58 และสิงคโปร์ร้อยละ 45 ซึ่งสวนทางกับมุมมองของชาวอินโดนีเซียที่คัดค้านมากถึงร้อยละ 92  และมาเลเซียร้อยละ 82

George Radics อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ แสดงความคิดเห็นว่า ค่านิยมและวัฒนธรรมแบบเอเชีย ซึ่งอาจไม่สอดรับไปในทิศทางเดียวกับหลักความเป็นสากลของสิทธิกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลายเป็นอุปสรรคหนึ่งที่ทำให้การผลักดันความเท่าเทียม รวมถึงการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน ได้ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

สมรสเท่าเทียม ผ่านแล้ว!

วันนี้ (18 มิถุนายน 2567) ร่างกฎหมาย "สมรสเท่าเทียม" หรือร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เข้าสู่การพิจารณาในชั้นสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในวาระ 2 และ 3 โดยมีผู้ลงมติทั้งหมด 152 คน และได้ผลพิจารณาว่า มีผู้เห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และ งดออกเสียง 18 เสียง

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างกฎหมายดังกล่าวว่าไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย จากนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 120 วัน

กฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของ สว. วาระที่ 3

กฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของ สว. วาระที่ 3

กฏหมายสมรสเท่าเทียมผ่านการพิจารณาของ สว. วาระที่ 3

อ่านข่าวอื่น :

ทั่วโลกจับตา "ปูติน" เยือน "เกาหลีเหนือ" รอบ 24 ปีกระชับสัมพันธ์

18 มิ.ย.ชี้ชะตา "ทักษิณ" อัยการสูงสุดนัดส่งฟ้องคดี ม.112

ข่าวที่เกี่ยวข้อง