ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตลาด Art Toyไทยรุ่ง “กรมพัฒน์” ชี้ กลุ่ม Kidult แห่ซื้อเก็งกำไร

เศรษฐกิจ
26 มิ.ย. 67
16:12
1,754
Logo Thai PBS
ตลาด Art Toyไทยรุ่ง “กรมพัฒน์” ชี้ กลุ่ม Kidult แห่ซื้อเก็งกำไร
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
กรมพัฒน์ฯ เผยธุรกิจ Art Toy มาแรง หลังเกิดกลุ่ม Kidult (Kid+Adult) กำลังซื้อสูงที่หาของเล่นสนองความต้องการวัยเด็ก ดันธุรกิจขนาดเล็กครองตลาดมากถึง 1,024 ราย สร้างรายได้เกือบ 20,000 ล้าน ชี้ ปี 2567 ไทยส่งออกของเล่นไปตลาดจีน สูงสุด รองลงมา สหรัฐ ญี่ปุ่น

วันนี้ (26 มิ.ย.2567) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้วิเคราะห์แนวโน้มของกระแส Art Toy ของเล่นสะสมที่สร้างสรรค์งานศิลปะโดยศิลปินจากต่างประเทศและศิลปินไทย พบว่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2562-2566) การเติบโตจะผันผวนจากโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบเชิงลบ

      นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ธุรกิจ Art Toy ได้กลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult  ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก การสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ก็ยิ่งทำให้ Art Toy เติบโตเพิ่มขึ้น

โดยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Art Toy ในไทย พบว่า ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย

และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตจำนวน 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขายจำนวน 2,782.60 ล้านบาท โดยปี 2566 ธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท และทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท

สำหรับครึ่งปีแรกของ ปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) พบว่า การขยายตัวของมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 51.38% เทียบกับ ปี 2566 โดยมีมูลค่า 4,127 ล้านบาท ตลาดส่งออกสำคัญของไทยคือ จีน มีมูลค่าส่งออก 1,230 ล้านบาท รองลงมาเป็นสหรัฐฯ มูลค่า 1,031 ล้านบาท และญี่ปุ่น มูลค่า 428 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นของเล่นที่มีล้อ ตุ๊กตารูปคนและสัตว์ เป็นต้น

อธิบดียังกล่าวอีกว่า กรมได้นำข้อมูลนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค.2566 และได้ส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พ.ค.2567 จำนวน 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% จากนิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินทั้งหมด 671,823 ราย และคงเหลือนิติบุคคลที่ไม่ได้นำส่งอีกจำนวน 89,967 ราย คิดเป็น 13.4%

โดยได้นำข้อมูลนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินมาวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจ พบว่า นิติบุคคลทั่วประเทศมีรายได้ปี 2566 กว่า 57.86 ล้านล้านบาท มีผลกำไรกว่า 2.34 ล้านล้านบาท พบว่า กลุ่มภาคการผลิต ทำรายได้สูงสุด 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

รองลงมา คือกลุ่มภาคขายส่ง ปลีก ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% และกลุ่มภาคบริการ ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% เป็นผลกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40%

หากวิเคราะห์ต่อเนื่องลงลึกไปถึงรายธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม ทำรายได้ 3.84 ล้านล้านบาท 2.ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ทำรายได้ 3.12 ล้านล้านบาท 3.ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท

4.ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.56 ล้านล้านบาท 5.ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่นๆ สำหรับยานยนต์ ทำรายได้ 1.55 ล้านล้านบาท 6.ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.45 ล้านล้านบาท 7.ธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้ 1.11 ล้านล้านบาท

8.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำรายได้ 1.07 ล้านล้านบาท 9.ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ทำรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท และ 10.ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ทำรายได้ 0.96 ล้านล้านบาท โดยธุรกิจทั้ง 10 อันดับดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดไซส์ L

สำหรับนิติบุคคลที่ไม่ได้ส่งงบการเงินภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด กรมจะออกหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา โดยอัตราค่าปรับจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ล่าช้า จึงขอเตือนให้นิติบุคคลที่ยังไม่ได้นำส่งงบการเงินเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมถึงนิติบุคคลอื่น ๆ ที่จะกำลังจะถึงรอบการนำส่งงบการเงิน โปรดเตรียมตัวให้พร้อมและนำส่งงบการเงินให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนการการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ เดือน พ.ค.2567 มีจำนวน 7,499 ราย เพิ่มขึ้น 0.83% มีทุนจดทะเบียน 21,887.12 ล้านบาท ลดลง 22.97% ธุรกิจที่จัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร

และธุรกิจเลิกประกอบกิจการ จำนวน 1,004 ราย ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ รวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีตั้งใหม่ 39,032 ราย ทุนจดทะเบียน 117,099.53 ล้านบาท เลิก 4,623 ราย ทุนจดทะเบียน 71,844.77 ล้านบาท โดยคาดว่าครึ่งปี 2567 จะมีการตั้งใหม่ 44,000-47,000 ราย และทั้งปี 90,000-98,000 ราย

อ่านข่าว:

 เลือกตั้งฝรั่งเศส ทำตลาดทองคำผันผวน แนะรอจังหวะเข้าซื้อ

สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯรอบใหม่ สนค.ชี้โอกาสส่งออกสินค้าไทย

ราคาทองคำ เปิดตลาดเช้านี้ ร่วง 150 บาท เหตุดอลลาร์แข็งค่า-เฟดอาจปรับดอกเบี้ย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง