ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลุ้น "อุทยานฯ ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 26-29 ก.ค.นี้

สังคม
4 ก.ค. 67
07:15
5,072
Logo Thai PBS
ลุ้น "อุทยานฯ ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 26-29 ก.ค.นี้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่อินเดีย ไทยลุ้นขึ้นทะเบียน “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เป็นแหล่งมรดกโลก และการพิจารณาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น วันที่ 26-29 ก.ค.นี้

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวการเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ที่กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-31 ก.ค.2567 ณ กรุงนิวเดลี อินเดีย

การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกครั้งนี้ ไทยจะเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์การประชุม โดยมีวาระสำคัญและนำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้กับชาวไทยทุกคนที่จะมีการพิจารณาในช่วงระหว่างวันที่ 26-29 ก.ค.2567 จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่

การพิจารณาบรรจุแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก ซึ่งการนำเสนอแหล่งดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567 โดยพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 4 พื้นที่ ได้แก่ เมืองโบราณพังยาง เมืองโบราณพะโคะ และเมืองโบราณสีหยัง, เมืองโบราณสทิงพระ, เมืองป้อมค่ายซิงกอร่า ณ เขาแดง และแหลมสน, เมืองเก่าสงขลา บ่อยาง ทั้งนี้ ขั้นตอนภายหลังจากคณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาให้การรับรอง ไทยจะสามารถจัดส่งเอกสารนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลกต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาได้

การพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” เป็นมรดกโลก โดยพื้นที่นำเสนอประกอบด้วย 2 พื้นที่ คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา ขณะนี้ (ร่าง) ข้อมติเสนอให้ขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นแหล่งมรดกโลก ประเภทภูมิทัศน์วัฒนธรรม และเสนอให้เปลี่ยนชื่อแหล่งเป็น Phu Phrabat, a testimony to the Sima stone tradition of the Dvaravati period” หรือ ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี

รวมทั้งขอให้ดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ภายหลังจากการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก ด้วยคุณค่าความโดดเด่นของการที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี โดยนับเป็นแหล่งสีมาที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพทางธรณีวิทยาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นต้นมาในฐานะของการเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และพื้นที่ประกอบพิธีกรรม

นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม สงขลาฯ เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้นของศูนย์มรดกโลก เป็นดำริและดำเนินการขับเคลื่อนโดยมูลนิธิสงขลาสู่มรดกโลก ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมในระดับท้องถิ่นที่ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ ต้องการยกระดับความภาคภูมิใจในคุณค่าและความสำคัญของแหล่งในท้องถิ่นของตนให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ในส่วนของการขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทนั้น หากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก จะเป็นแหล่งมรดกโลกแหล่งที่ 8 ของไทย และ จ.อุดรธานี นับเป็นจังหวัดแรกที่มีแหล่งมรดกโลกจำนวน 2 แหล่งในพื้นที่ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกประเภทต่าง ๆ นั้น นอกจากเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศในเวทีนานาชาติ และก่อให้เกิดความภาคภูมิใจให้กับประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น สร้างรายได้และการสร้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการท่องเที่ยว การส่งเสริมการอนุรักษ์ และปกป้องคุ้มครองอัตลักษณ์แลทรัพยากรของท้องถิ่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งมรดกโลก และการยกระดับการวิจัยร่วมกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการปกป้อง คุ้มครอง อนุรักษ์และบริหารจัดการแหล่งฯ

อ่านข่าว ครม. เห็นชอบเสนอ "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" ขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลก 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง