สทนช. จับตาพายุ "ยางิ" เตือนใต้เขื่อนเจ้าพระยารับมือน้ำท่วม

ภัยพิบัติ
4 ก.ย. 67
19:26
732
Logo Thai PBS
สทนช. จับตาพายุ "ยางิ" เตือนใต้เขื่อนเจ้าพระยารับมือน้ำท่วม
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
สทนช. ประชุมแผนรับมือพายุโซนร้อนยางิ ที่ไทยอาจจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งปริมาณน้ำฝนมีปริมาณมากกว่าปกติ พร้อมเตือนจังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เช่น ชัยนาท อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ให้เตรียมรับมือจากการระบายน้ำจากเขื่อน

วันที่ (4 ก.ย.2567) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยหลังจากเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ สถานการณ์ในเดือนนี้ พบว่าหลายพื้นที่มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติ โดยขณะนี้ได้เฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น "ยางิ" ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวมาจากประเทศฟิลิปปินส์

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ประเมินทิศทางของพายุ ว่าจะเคลื่อนตัวมาทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และคาดว่าจะเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม ในช่วงวันที่ 6 – 7 ก.ย. นี้ ซึ่งได้มีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

โดย ช่วงวันที่ 5-7 ก.ย.2567 ร่องมรสุมกำลังปานกลางเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงได้ที่พัดปกคลุมภาคได้ ภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

สำหรับพายุโซนร้อน "ยางิ" (YAGI) บริเวณทะเลจีนได้ตอนบนมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ ประเทศจีน และขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำมากกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังพวัดเชียงไหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา กิ่วลม และ แม่จาง จ.ลำปาง อำงเก็บน้ำหัวยหลวง จ.อุดรธานี อ่างเก็บน้ำนฤบอินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ซึ่ง สทนช. ได้มีการแนะนำให้มีการพร่องน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำในเดือน ก.ย. และ ต.ค. โดยให้พิจารณาไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนพื้นที่ท้ายน้ำ

เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า จากการประเมินฝนช่วงนี้ ที่มีปริมาณมากกว่าปกติ และคาดการณ์ว่าระดับน้ำที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำที่ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะเพิ่มขึ้นจาก 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ซึ่งอาจจะทำให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ต้องปรับเพิ่มจากวันละ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันละ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีได้และคาดว่า 1-7 วันข้างหน้า จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจากการระบายของเขื่อนเจ้าพระยา

โดยประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยา เช่น จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี เตรียมรับมือน้ำท่วม ยกของขึ้นที่สูง

และในพรุ่งนี้ (4 ก.ย.) สทนช.จะลงพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อประชุมร่วมกับหน่วยบริหารจัดการน้ำ วางแผนรับมือช่วยเหลือและสร้างความเชื่อมั่นด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับประชาชน

ส่วนกรณีโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ใน จ.แพร่ หลังน้ำท่วมหลายพื้นที่ของลุ่มน้ำยม

ทำให้ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ พื้นที่วางโครงการ ประกาศคัดค้านปิดพื้นที่ไม่ให้มีการสำรวจ

เลขาธิการ สทนช. ระบุว่า ต้องมีการพูดคุย หากมีแผนดำเนินงานที่ชัดเจน แต่ขณะนี้ยังต้องผ่านกระบวนการ เอสอีเอ หรือ แนวทางการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในลุ่มน้ำยมก่อน

อ่านข่าว :

น้ำท่วมลดแล้ว ชุมชนมัสยิดท่าอิฐยังเฝ้าระวังใกล้ชิด

สภาพอากาศวันนี้ เหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้ ฝนตกหนักบางแห่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง