ทุนยักษ์-ห้างค้าปลีกแข่งดุเดือด ใครยังรอด?

เศรษฐกิจ
9 ก.ย. 67
20:19
805
Logo Thai PBS
ทุนยักษ์-ห้างค้าปลีกแข่งดุเดือด ใครยังรอด?
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นในวงธุรกิจทุกประเภท แต่ในบางมุมปลาใหญ่ก็เคลื่อนไหวช้า และปลาเล็กก็มีความคล่องตัว สถานการณ์เช่นนี้เหมือนอยู่ที่จะเลือกว่าเราจะเป็นปลาแบบใด

วงการธุรกิจค้าปลีกในไทย แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบหลัก กลุ่มแรกห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เช่น เซ็นทรัล เดอะมอลล์ เมกะบางนา ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มทุนใหญ่ เจ้าสัวตระกูลดังเป็นเจ้าของ เน้นลูกค้าปานกลางถึงสูง มีทั้งสินค้านำเข้าและคุณภาพดี กลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งการตลาด 0.4%

กลุ่ม 2 ดิสเคาท์สโตร์ จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ฐานลูกค้ารายได้ปานกลาง เช่น โลตัส บิ๊กซี กลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งการตลาด 1.9%

กลุ่ม 3 ซูเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายสินค้าหมวดอาหารสดใหม่ เช่น ท็อปส์ วิลล่า มาร์เก็ต กลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งการตลาด 2.4%

 

กลุ่มที่ใหญ่ที่สุด คือ ร้านสะดวกซื้อ จำหน่ายสินค้าในชีวิตประจำวัน เช่น 7/11 บิ๊กซีมินิ ซีเจมอร์ กลุ่มนี้ครองส่วนแบ่งการตลาด 95.3%

ทุกกลุ่มล้วนเจอโจทย์ท้าทาย คือ กำลังซื้ออ่อนแอของคนไทย ห้างที่ยังขายได้คือกลุ่มห้างที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก, การเติบโตของตลาดอีคอมเมริ์ช ข้อมูลจากฝ่ายวิจัย ธ.กรุงไทย ระบุว่า ตลอดอีคอมเมริชของไทยเติบโตก้าวกระโดดจากช่วงโควิด ในปี 2563 อยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท ขึ้นมาเป็น 6.2 แสนล้านบาท ในปี 2566 และจะโตไปถึง 7.47 แสนล้านบาทในปี 2568 โดยกลุ่มเติบโต เป็นกลุ่มสินค้าที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมากกว่า ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าแฟชั่น

อีกปัจจัยท้าทาย คือ การเข้ามาของสินค้าจีน และสินค้าที่ขายส่วนใหญ่ของธุรกิจค้าปลีก จะวนเวียนอยู่กับสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยสินค้าที่จีนเข้ามาตีตลาด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผักผลไม้สดและปรุงแต่ง, เสื้อผ้าและรองเท้า, เครื่องใช้ในบ้านและของตกแต่ง และของใช้ในครัว

นายสมชาย พรรัตนเจริญ​ นายกกิตติมศักดิ์​ สมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย​ ประเมินสถานการณ์ห้างค้าปลีกเก่าแก่ปิดตัวมาจากหลายปัจจัย​ เช่น​ การปรับตัวทำสินค้าราคาถูกได้ไม่ทันจีน, พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดขณะที่ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันสูง​ และมีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าทางรอดของห้างค้าปลีก ต้องทั้งปรับตัว และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ยกตัวอย่าง แสงทองซูเปอร์เซ็นเตอร์ จ.ระยอง ในช่วงโควิด-19 ที่มีคำสั่งต้องปิดให้บริการ จึงลองซื้อแอปพลิเคชันสำเร็จรูป เปิดขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งพบปัญหาการสั่งสินค้าเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ ก็ยังเดินหน้าแก้ปัญหาขายออนไลน์บนแพลตฟอร์มแอปพลิเคชันต่อ จากเคยมีรายได้จากขายหน้าร้านเป็นจำนวนมากก็เริ่มขายได้น้อยลง แต่การขายผ่านแอปพลิเคชันยอดเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ของร้านกว่า 13,000 คน โดยสามารถวิเคราะห์เก็บข้อมูลลูกค้าได้อย่างทันท่วงที



อีกหนึ่งแห่งคือ “ธนพิริยะ” ผู้ประกอบการค้าส่งค้าปลีกรายใหญ่ จ.เชียงราย แต่มี 42 สาขาในภาคเหนือ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ซึม กลับมีรายได้ในปี 2566 สูงถึง 2,600 ล้านบาท โดยมีกลยุทธ์หลักโดยการขยายสาขาไปในชุมชน เพื่อได้ประโยชน์จากโครงการรัฐ และยังได้ประโยชน์จากนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามา รวมทั้งทำศูนย์กระจายสินค้า ส่งสินค้าไปยังโรงแรม ร้านอาหาร

ส่วนภาคใต้ อย่าง “ซุปเปอร์ชีป” ค้าปลีกภูธรแห่งเมืองภูเก็ต กวาดยอดขายหมื่นล้านบาท 3 ปีซ้อน กระจายตัว 50 สาขา 4 จังหวัดภาคใต้ การันตีหากมาที่นี่ลูกค้าจะได้รับสินค้าราคาถูกที่สุดกลับไป แม้พื้นที่นี้ห้างยักษ์ทุนหนาจะพยายามเบียดแทรกมา แต่ก็สามารถใช้กลยุทธ์ด้านราคามาเป็นพระเอก ตัดต้นทุนไม่จำเป็น เอาราคามาก่อน แอร์ไม่เปิด เน้นขายมาก ๆ เพื่อให้ซัพลายเออร์ส่งสินค้าให้ในราคาถูกกว่าเจ้าอื่น

สิ่งสำคัญ คือ การปรับตัว แต่ในส่วนของภาครัฐอาจต้องสนับสนุนการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ด้วยมาตรการป้องกันสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน โดยเฉพาะการจำหน่ายบนอีคอมเมิร์ซ เพื่อไม่ให้กระทบกับโครงสร้างราคาสินค้าของไทย ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลในทุกเวที

แต่ในมุมของนายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มองว่า การที่อุตสาหกรรมค้าปลีกรายเล็กปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และเหลือรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย อาจต้องดูในรายละเอียดว่าการปิดตัวเป็นเพราะอะไร รายเล็กมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดหรือไม่ หรือเป็นเพราะการถูกกดดันจากห้างค้าปลีกรายใหญ่ที่อาจเข้าข่ายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

วิเคราะห์โดย ปรัชญ์อร ประหยัดทรัพย์ บรรณาธิการข่าวเศรษฐกิจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ขีดเส้น 30 ก.ย. พนง.ตั้งฮั่วเส็ง ร้องจ่ายค่าจ้างค้าง-ชดเชย 

อัปเดต แจกเงินสดเงินดิจิทัล 20 ก.ย.นี้ กลุ่มเปราะบางรับหมื่นบาท 

ใช้จ่ายเกินรายได้-ติดหรู สู่การก่อหนี้ครัวเรือนพุ่ง 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง