ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

น้ำท่วมไม่กระทบ ! จับตา”ข้าวไทย”เสี่ยงเสียแชมป์ “เวียดนาม”

เศรษฐกิจ
21 ก.ย. 67
12:59
555
Logo Thai PBS
น้ำท่วมไม่กระทบ ! จับตา”ข้าวไทย”เสี่ยงเสียแชมป์ “เวียดนาม”
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

งบกลาง 3,045 ล้านบาท คือตัวเลขเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัย แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่า ภาคเกษตรโดยเฉพาะพื้นที่นาข้าว รัฐจะเยียวยาให้ไร่ละเท่าไหร่ ข้อมูลจากสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ตั้งแต่ กลางเดือนก.ค.-ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ย.2567) ไทยมีพื้นที่ประสบภัยถึง 43 จังหวัด และยังคงมีน้ำท่วมอยู่ 16 จังหวัด อีก 27 จังหวัดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อเกษตรกร กลุ่มผู้ปลูกพืชไร่ ประมงและปศุสัตว์ กว่า 223,948 ราย

ล่าสุดที่ จ.นครพนม น้ำโขงทะลักท่วมพื้นที่การเกษตร เสียหายกว่า 80,000 ไร่ พื้นที่หนักสุดพื้นที่ อ.ศรีสงคราม มีพื้นที่นาข้าวได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมประมาณ 50,000 ไร่ และหากระดับน้ำโขงไม่ลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ คาดว่าจะได้รับความเสียหายทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม หากพายุดีเปรสชัน และพายุโซนร้อนที่ยังจ่อเข้ามาถล่มทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ภายในสัปดาห์นี้ อาจทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มส่งผลกระทบผลผลิตด้านการเกษตร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก และบริโภคภายในประเทศ

“น้ำท่วม” ไม่กระทบผลผลิตข้าวไทย

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกรุงศรีอยุธยาฯ คาดการณ์ว่า ช่วงครึ่งหลังปี 2567 (ก.ค.-ธค. ) ปริมาณน้ำฝนจะมากกว่าค่าปกติ5/ 15.0-16.0% และตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป ไทยจะเผชิญกับความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลันมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ท่วมซ้ำซาก (Flood-prone Areas หรือ Flood Bed)

อย่างไรก็ตาม ด้วยปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนสะสมทั้งปีลดระดับลงมาอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อยที่ 1,688 มิลลิเมตร ซึ่งใกล้เคียงกับค่าปกติหรือค่าเฉลี่ย 30 ปี ย้อนหลัง แต่ยังต่ำกว่าระดับมหาอุทกภัยปี 2554 ที่มีปริมาณฝนสะสมถึง 1,948 มิลลิเมตร

สำหรับความเสียหายภาคการเกษตรและกิจกรรมที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยกรุงศรีได้ประเมินพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งปี 2567 โดยจำลองสถานการณ์ 3 รูปแบบ คือ กรณีที่เกิดความเสียหายน้อยสุด จะมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 6.2 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 2.2 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 31.2 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 33.4 พันล้านบาท หรือราว -0.19% ของ GDP

กรณีฐาน (Base case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 8.6 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 3.1 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 43.4 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 46.5 พันล้านบาท หรือราว -0.27% ของ GDP

และกรณีเสียหายมากสุด (Worst case) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 11.0 ล้านไร่ มูลค่าทรัพย์สินเสียหาย 4.0 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย 55.5 พันล้านบาท คิดเป็นความเสียหายรวม 59.5 พันล้านบาท หรือราว -0.34% ของ GDP

แม้นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะยอมรับว่า ปัญหาน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ปลูกข้าว อาจจะกระทบผลผลิตและมีผลต่อการส่งออกบ้าง แต่จะไม่กระทบเป้าส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2567

และในอนาคตรัฐบาลพร้อมที่จะหามาตรการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดโซนนิ่งในการปลูกพืชเกษตรที่ให้ความเหมาะสมต่อไป เพราะข้าวเป็นสินค้าไทยที่มีคุณภาพ และเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญของประเทศ ที่สร้างรายได้ให้กับชาวนาและรายได้ให้กับประเทศมาโดยตลอด

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์

แต่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินผลผลิตที่เสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งมีบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบแต่ถ้าปริมาณน้ำลดลงเร็วและไม่แช่ขังนาน เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง แต่สิ่งที่เป็นห่วง คือ ภาคอีสานที่เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวหอมมะลิขนาดใหญ่ ผลผลิตข้าวในภาคอีสาน อาจจะกระทบกับปริมาณข้าวที่จะออกมา แต่ขณะนี้ถือว่าโชคดีที่มีเพียงปริมาณน้ำโขงที่เอ่อล้นเข้ามาเท่านั้น ได้แต่หวังว่า ที่จ.หนองคาย และนครพนม จะไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่านี้

นอกจากนี้ยังต้องติดตามอย่างต่อเนื่องว่าจะมีพายุเข้ามาอีกหรือไม่ และจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังต่อเนื่องและระยะเวลานาน ซึ่งต้องรอดูอีก 1 เดือนว่าจากนี้ไปจะสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าผลผลิตปีนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้ แม้จะมีน้ำท่วมในพื้นที่เพาะปลูก

แต่เกษตรกรมีการเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นกว่าปีก่อน เห็นได้จากช่วง 2 ปีก่อน ที่ราคาข้าวดี ชาวนาก็ปลูกข้าวมากขึ้น ดังนั้นภาพรวมแม้จะมีผลกระทบในเดือนนี้ แต่เดือนต.ค.ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ว่าจะมีฝนตกหนัก จะทำให้มีน้ำท่วมหรือไม่ แต่ที่คาดคะเนไว้ผลกระทบอาจจะไม่มาก

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

สำหรับผลผลิตข้าวทั้งปี 2567 ถ้ารวมกับข้าวนาปรังยังคงมีที่มีปริมาณ 24 ล้านตันข้าวสาร ส่วนปี2568 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่มีเพียงพอจะทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังมีผลผลิตดีขึ้น

คาดการณ์ว่า ข้าวนาปรังปี2568 จะมีผลผลิตที่ดีกว่าปีนี้ เพราะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ทุกเขื่อนมีปริมาณมาก สมาคมฯประเมินผลผลิตข้าวปี2568 แบ่งเป็น ข้าวนาปี 24 ล้านตันข้าวเปลือกและข้าวนาปรัง 8 ล้านตันข้าวเปลือก เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 32-33 ล้านตันข้าวเปลือก และถ้าสีเป็นข้าวสารจะได้ 20 ล้านตันข้าวสาร เป็นการบริโภคภายในประเทศ 11 ล้านตันข้าวสาร ที่เหลือ 9 ล้านตันข้าวสารเพื่อส่งออก

ประเมินข้าวโลกปี 2568 “ข้าวไทย” เหนื่อยรอบด้าน

มีการคาดการณ์ สถานการณ์ส่งออกในปี 2568 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับข้าวไทย เนื่องจากทั่วโลกจะมีผลผลิตข้าวออกมาพร้อม ๆ กัน จาก อินเดีย เวียดนาม โดยเฉพาะอินเดีย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย และมีความเป็นไปสูงที่รัฐบาลอินเดียจะยกเลิกการแบนส่งออกข้าวขาว ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาข้าวโลกร่วงลงมา เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ในปีนี้อินเดียมีผลผลิต 130 ล้านตันข้าวสาร บริโภคในประเทศ 105 ล้านตันข้าวสาร เหลือส่งออกประมาณ 25 ล้านตันข้าวสาร มีข้าวสต็อกอีก ประมาณ 50 ล้านตันข้าวสาร

ในช่วงที่อินเดียแบนการส่งออก ทั้งไทย และเวียดนามต่างได้รับอานิสงส์ดังกล่าว จึงต้องจับตาดูว่า หลังจากนี้ อินเดียจะมีมาตรการอะไรเพิ่มหรือไม่ เช่น ภาษีส่งออก หรือจะยกเลิกแบนถาวร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากคาดเดา แต่คาดว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะปรับลงมาอย่างน้อย 30-50 ดอลลาร์สหรัฐ

นายชูเกียรติ กล่าวถึง สถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ ว่า หากเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง จนถึงปี 2568 อาจส่งผลกระทบ เนื่องจากเงินบาทจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะฉุดให้การส่งออกข้าวไทยไม่ขยายตัว ค่าเงินบาทแข็งจะทำให้ราคาข้าวขาว เพิ่มขึ้นมาอีก 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ข้าวหอมมะลิ ราคาจะเพิ่มมาเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน (ปัจจุบันราคข้าวหอมมะลิ FOD อยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อดัน ข้าวขาว ราคา 500 กว่าดอลลาร์สหรัฐต่อ ตัน) ดังนั้น ทุก ๆ 1 บาทที่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาท ไทยต้องขายข้าวแพงขึ้น อีก 15 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ราคาข้าวภายในประเทศไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องส่งออกแพงขึ้น

คาดการณ์ว่าปี2568 การส่งออกข้าวไทยจะลดลงเหลือ 6.5-7 ล้านตัน โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการที่ อินเดีย กลับมาส่งออกอีกครั้ง ดังนั้นข้าวที่ไทยส่งออกไปจะหายไปจากตลาดเกือบ 2 ล้านตัน เพราะผู้นำเข้าประเทศอื่น ๆ เช่น อินโดนีเซีย อาจจะลดปริมาณการซื้อข้าวลงเหลือ 1.5 ล้านตัน

ดีมานด์ที่หายไปในขณะที่ซัพพลายทั่วโลกเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้ผลิตหรือผู้ซื้อเพิ่มขึ้นทั้งหมด เพราะว่าดินฟ้าอากาศดี ส่วนปีหน้าไทยน่าจะส่งออกได้ถึง 9 ล้านตัน

“ไทย” เสี่ยงสูง หลุดแชมป์เบอร์ 2 ส่งออกข้าวโลกให้ “เวียดนาม”

เมื่อปริมาณความต้องการของตลาดโลกลดลง ไทยข้าวที่ส่งออกไปขายตลาดต่างประเทศ ก็จะมีปริมาณลดลงเช่นกัน ในขณะที่ผลผลิตข้าวมีเท่าเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาข้างที่ถูกลง จึงต้องจับตาดูว่า ไทยจะยังรักษาสถานภาพผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 2ของโลก ได้หรือไม่ เนื่องจากผู้ส่งออกจากประเทศเวียดนาม ก็มีวิธิการที่ฉลาดมาก คือ นำเข้าข้าวกล้อง ทั้งจากกัมพูชา ปีละ 2 ล้านตัน และจากอินเดีย ซึ่งมีข้าวกล้องที่ราคาถูก มาสีเป็นข้าวขาวแล้วใช้บริโภคภายในประเทศ

ส่วนข้าวที่ปลูกภายในประเทศ ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม ทั้งข้าวพื้นนุ่ม ข้าวหอมมะลิ เวียดนามจะเน้นการส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น เวียดนามจะสามารถส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งตลาดหลักๆ คือฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และแอฟริกา ซึ่งเป็นตลาดเดียวกับไทย

นายชูเกียรติ อธิบายว่า ในอดีต เวียดนามเคยส่งออกปีหนึ่ง 5-6 ล้านตัน แต่ปัจจุบันส่งออกได้ 8 ล้านตัน ล่าสุด 7 เดือน เวียดนามส่งออกเท่ากับไทย และเป็นสิ่งที่จะได้เห็นในอนาคต สุดท้ายหากไทยไม่ปรับตัว อาจจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 3ของโลก โดนเวียดนามแซงหน้าขึ้นไปแทนที่ ถ้าราคาข้าวไทยยังแพงกว่า ขณะที่ลูกค้าที่ซื้อข้าว จะให้ความสำคัญในเรื่อง “ราคา” เป็นหลัก เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ราคาจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ลูกค้าจะเลือกซื้อ

สำหรับการส่งออกข้าวไทยในปีนี้อยู่ในทิศทางที่ดี 7 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ก.ค.) ไทยส่งออกข้าวแล้วปริมาณ 5.68 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน21.97% และมีมูลค่า 132,396 ล้านบาท หรือ ประมาณ 3,703 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 50.97% เป็นผลมาจากผู้นำเข้าข้าวมีความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อใช้บริโภคและเก็บเป็นสต็อกเพื่อความมั่นคงทางอาหาร คาดว่าในปี 2567 ไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 8.20 ล้านตัน

อ่านข่าว:

“หนานหนิง-ฉงชิ่ง” ประตูสู่จีนแผ่นดินใหญ่ โอกาสทองผลไม้ไทย

"จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี" นายกสมาคมฯ ทองคำ มองทอง ทะลุ เศรษฐกิจ

อาเซียนพร้อมหรือยัง? จีนชู “ผิงลู่” บกเชื่อมทะเล ประตูสู่ตลาดโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง