ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ลากด้วยแรงศรัทธา "ประเพณีชักพระ" งานบุญใหญ่ชาวใต้

ไลฟ์สไตล์
17 ต.ค. 67
08:28
4,689
Logo Thai PBS
ลากด้วยแรงศรัทธา "ประเพณีชักพระ" งานบุญใหญ่ชาวใต้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"อีสาระภา เฮโล เฮโล"

คำขึ้นต้นบทร้องเพลงเมื่อเริ่มจบเชือกลากพระ หรือ ชักพระ หรือแห่พระ ผสมกับ โพน ฆ้อง ระฆัง เครื่องตีให้จังหวะในการชักพระ ตามประเพณีที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนานของภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่รอบเมืองในวันหลังวันออกพรรษา คือ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 สำหรับประเพณีชักพระในปี 2567 จะตรงกับวันที่ 18 ต.ค.

อ่านข่าว : เข้าใจความหมาย "วันมหาปวารณา" หรือ "วันออกพรรษา"

ประวัติประเพณีชักพระ

สันนิษฐานว่า ประเพณีชักพระน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียตามศาสนาพราหมณ์ ซึ่งนิยมนำเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่าง ๆ เช่น การแห่เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ เป็นต้น

พุทธศาสนิกชนจึงนำแนวคิดนี้มาดัดแปลงให้สอดคล้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา ที่เล่ากันว่า หลังจากพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปราบเดียรถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี แล้วได้เสร็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เพื่อโปรดพุทธมารดา พระพุทธองค์ได้เสด็จกลับมนุษยโลกทางบันไดทิพย์ที่พระอินทร์นิมิตถวาย ประกอบด้วยบันไดทอง บันไดเงินและบันไดแก้ว

พระพุทธองค์เสด็จมาถึงประตูนครสังกัสสะตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา พุทธศาสนิกชนได้ราบกำหนดการเสด็จกลับของพระพุทธองค์จากพระโมคคัลลาน์ ต่างมารอรับเสด็จพร้อมกับเตรียมภัตตาหารไปถวายด้วย แต่เนื่องจากไม่สามารถเข้าไปถวายภัตตาหารถึงพระพุทธองค์ได้ทุกคน จึงจำเป็นที่ต้องเอาภัตตาหารห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ แต่ก็ไม่สามารถส่งได้ทันใจจึงต้องโยนบ้าง ปาบ้าง เหตุการณ์นี้จึงเกิดประเพณี ห่อต้ม หรือ ห่อปัด จากนั้นได้อัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบก แห่ไปยังที่ประทับของพระองค์ ภายหลังจึงมีประเพณีเช่นนี้สืบต่อกันมาในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11

ก่อนถึงวันชักพระจะมี การคุมพระ ที่วัด คือ จะตีตะโพนหรือกลองเพลก่อนจะถึงวันชักพระประมาณ 10–15 วัน เพื่อเป็นการเตือนชาวบ้านว่าจะมีการชักพระ หลังจากนั้นพระสงฆ์และชาวบ้านจะช่วยกันเตรียมเรือ ถ้าเป็นการชักพระทางบก จะมีการจัดเตรียมขบวนผู้คนที่จะชักพระ ชุดแต่งตัวสำหรับการลากเรือพระ หรือมีการฟ้อนรำหน้าเรือพระ หากเป็นการชักพระทางน้ำ ชาวบ้านจะเตรียมตัวตกแต่งเรือพาย สรรหาฝีพาย และเตรียมเครื่องแต่งตัว

เรือพระ คือ รถหรือล้อเลื่อนที่ประดับตกแต่งให้เป็นรูปเรือแล้ววางบุษบก ซึ่งภาษาพื้นเมืองของภาคใต้เรียกว่า "นม" หรือ "นมพระ" ยอดบุษบก เรียกว่า "ยอดนม" ใช้สำหรับอาราธนาพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานแล้วลากในวันออกพรรษา 

การชักพระจะเริ่มตอนเช้าตรู่ของวันออกพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 11 และเริ่มชักพระเป็นวันแรก ประชาชนจะเดินทางไปวัด เพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตร หลังจากที่พระฉันภัตตาหารเสร็จ ชาวบ้านจะนิมนต์พระภิกษุในวัดขึ้นนั่งประจำเรือพระ แล้วชาวบ้านจะช่วยกันชักเรือพระ ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ หากเป็นทางน้ำจะใช้เรือพายลาก

เรือพระมีวิวัฒนาการมาจากหนวน ซึ่งมีไม้ท่อนสองท่อนใหญ่ ส่วนหัวและท้ายมีรูปลักษณ์คล้ายเรือ วางเคียงกันมีระยะห่างประมาณ 15 เมตร สำหรับวางกระบะไม้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ไม้แผ่นเรียบด้านล่างและตีกั้นรอบ ๆ ทั้งสี่ด้านเพื่อบรรทุกสิ่งของต่าง ๆ ใช้สัตว์ชักลาก ต่อมามีการใช้ล้อเลื่อน ทำรถสำหรับบุษบกซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปเพื่อชักลาก

ทางบกบุษบกจะตั้งอยู่บนพาหนะ ทำเป็นรูปเรือหรือพญานาคเรียกกันว่า นมพระ (พนมพระ) หากเป็นทางน้ำเรียก เรือพระ คือการเอาเรือหลายลำมาเทียบเรียงขนานผูกติดกันเป็นแพขนาดใหญ่ ประดับตกแต่งอย่างปราสาทมณฑปวิจิตรงดงาม แห่แหนมีเครื่องดนตรีประโคมไปตามทางน้ำ ทำให้เกิดประเพณีการละเล่นตามมา เช่น การเล่นเพลงเรือ การประชันปืด (ตะโพน) การประชันโพน(กลอง) การแข่งเรือ และการประกวดประชันอื่น ๆ ตลอดจนการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่ เพื่อใช้ในงานประเพณีเป็นต้น

ปัจจุบันเรือพระส่วนใหญ่นิยมใช้รถกระบะ ตกแต่งด้วยโฟมแกะสลักเป็นลวดลายไทย สีสันสวยงามมาก

ประเพณีชักพระมี 2 แบบ คือการชักพระทางบก คือ แต่ละวัดการอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนนมพระ แล้วชักไปบนบก ตามถนน

และชักพระทางน้ำ เป็นการอัญเชิญพระพุทธรูปปางขึ้นประดิษฐานบนบุษบกในเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ ประเพณีลากพระ ที่มักกระทำด้วยวิธีนี้ เป็นของวัดที่ส่วนใหญ่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลอง

อ่านข่าว : ประวัติ ความสำคัญ วันออกพรรษา และกิจกรรมชาวพุทธ

พระแม่เศรษฐี "เรือพระ" ไม่มีล้อ

นายวีระ เจริญชน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตําบลร่อนพิบูลย์ หมู่ที่ 2 อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงประเพณีชักพระของชาวใต้ ในส่วนของ จ.นครศรีธรรมราช ที่ถือปฏิบัติกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งแต่ละวัดจะมีการตกแต่งเรือพระเพื่อร่วมประเพณี ปัจจุบันมีการจัดประกวดเรือพระของแต่ละวันเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน สำหรับใน อ.ร่อนพิบูลย์ จะมีการลากเรือพระในแต่ละวัดมารวมกันที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์ 

สำหรับวัดร่อนนา อ.ร่อนจะพิบูลย์ จะมีการอัญเชิญพระแม่เศรษฐีเป็นพระลากประจำทุกปี ซึ่งเรือพระแม่เศรษฐีจะมีเอกลักษณ์และมีความแตกต่างจากเรือพระอื่นๆ ที่ยังอนุรักษ์เรือพระแบบดั้งเดิม คือทำจากต้นไม้ทั้งต้นมาแกะสลักเป็นลวดลาย ไม่มีล้อ ซึ่งสมัยก่อนมีน้ำหนักมาก ประมาณ 3-4 ตัน แต่ปัจจุบันมีน้ำหนักน้อยลงเพื่อให้ง่ายต่อการชักลาก

ซึ่งคืนก่อนประเพณีชักพระจะเกิดขึ้น จะมีการแห่โพน เป็นการป่าวประกาศไปตามหมู่บ้าน เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมประเพณีชักพระ ซึ่งการแห่โพนก็ยังยึดถือปฏิบัตินถึงทุกวันนี้ 

นายวีระ ยังกล่าวว่าสำหรับพระแม่เศรษฐีเป็นพระที่นับถือ คู่บ้านคู่เมือง อ.ร่อนพิบูลย์ ตามความเชื่อของชาวบ้านในการลากพระแม่เศรษฐี ท่านจะหยุดพักเป็นระยะๆ ระหว่างทาง และถ้าท่านยังไม่พร้อมที่จะให้ชักลาก แม้จะใช้คนจำนวนเยอะเพียงใดก็จะชักเรือพระไม่ไป แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ท่านจะไป ต่อใช้คนไม่มากก็จะลากเรือพระไปได้

โดยในปี 2567 ประเพณีลากพระจะตรงกับวันที่ 18 ต.ค.2567 โดยกำหนดการของวัดร่อนนา ในคืนวันที่ 16 ต.ค.จะมีการแห่โพน เช้าวันที่ 17 ต.ค.จะมีการสรงน้ำพระแม่เศรษฐี ก่อนมีพิธีสมโภชน์ มีมหรสพ และมหรสพที่ขาดไม่ได้ คือ หนังตะลุง ซึ่งจะแสดงจนถึงของวันรุ่งขึ้น ก่อนจะชักพระในเช้าวันที่ 18 ต.ค.ตามฤกษ์ยามที่วางไว้ และมีการทำบุญตักบาตรตามประเพณี โดยจะมีชาวบ้านทุกวัยมาร่วมลากเรือพระ ทั้งคนหนุ่มสาว คนแก่ เด็กๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และ สืบทอดประเพณีอันดีงาม รวมถึงความสามัคคีของคนในชุมชน 

อ่่านข่าว : "ข้าวต้มลูกโยน" สืบสานประเพณีตักบาตรเทโว วันออกพรรษา

“ต้ม” ขนมคู่กับประเพณีชักพระ

ขนมต้ม หรือ ต้ม เป็นข้าวต้มลูกโยนชนิดหนึ่ง ถือเป็นขนมอยู่คู่กับประเพณีชักพระ โดยก่อนวันลากพระจะมาถึง ชาวบ้านแต่ละครอบครัวจะทำขนมต้ม หรือ ที่ภาษาใต้จะเรียกว่า "แทงต้ม" เพื่อนำไปทำบุญตักบาตร ถวายพระสงฆ์ ในวันออกพรรษา การตักบาตรเทโว ประเพณีชักพระ และแขวนที่เรือพระวัดต่างๆ ที่จะมาร่วมขบวนแห่ในงานประเพณีลากพระ รวมทั้งแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่มาทำบุญและร่วมงานประเพณีชักพระ

โดยขนมต้มจะทำมาจาก ข้าวเหนียวผัดกับน้ำกะทิ น้ำตาล และเกลือ ผัดให้น้ำกะทิแห้ง หรือบางคนใส่ถั่วตำ หรือถั่วขาวเพื่อเพิ่มรสชาติ ผัดให้น้ำกะทิแห้ง นำไปห่อด้วยยอดใบกระพ้อ เป็นรูปสามเหลี่ยม และจะเหลือก้านใบทำเป็นหางไว้สำหรับหยิบจับ หรือ ทำเป็นช่อได้ ก่อนนำไปต้มหรือนึ่งจนสุก

อ่านข่าว : 

"เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์" สุดล้ำค่าถูกยกย่องเป็น "เรือมรดกโลก"

ดีเดย์ 17 ต.ค.นี้ กองสลากฯ เปิดขายหวย N3 ใบละ 20 บาท

น้ำตาจระเข้คนดัง เรียกร้องความสนใจหรือบังคับคนให้อภัย ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง