ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สหรัฐฯ-จีน โจทย์ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47

ต่างประเทศ
4 พ.ย. 67
14:28
3,010
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ-จีน โจทย์ท้าทายประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาไม่ว่าจะเป็น นางคามาลา แฮร์ริส หรือ โดนัล ทรัมป์ ต้องเผชิญสถานการณ์ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และในภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีความตึงเครียด ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะสงครามได้ทุกเมื่อ

ในเอเชียอาคเนย์ สหรัฐฯ จะเผชิญสิ่งท้าทายหลายประเด็นสืบเนื่องมาจากการแข่งขัน ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน เรื่องนี้เป็นปัจจัยใหญ่มาก ๆ ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา การขับเคี่ยวระหว่าง 2 ประเทศนี้ทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สมาชิกอาเซียนและองค์กรต้องปรับตัวแบบครบวงจรกับมหาอำนาจทั้งใหญ่และกลาง ผู้นำอเมริกันคนใหม่ต้องเผชิญความไร้เสถียรภาพและวิกฤตต่าง ๆ ทั่วโลก

ประเด็นที่ 2 คือสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ขณะนี้ตรึงเครียดมาก ๆ เนื่องจากกองทัพเรือฟิลิปปินส์ กับจีน มีการปะทะกันบ่อยครั้งมาก ทั้ง ๆ ที่มีการเจรจาระหว่างกันอยู่เสมอ การปะทะกันแบบไม่ได้ตั้งใจก็ยังมีอยู่เป็นประจำ ในอนาคตอาจส่งผลร้ายต่อความมั่นคงภูมิภาค เป็นต้นเหตุก่อเกิดสงครามได้โดยทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ตั้งใจ

อย่าลืมว่า สหรัฐฯ มีสนธิสัญญาป้องกันประเทศกับฟิลิปปินส์ซึ่งถือเป็น 1 ใน 5 พันธมิตรสหรัฐฯ ในอินโดแปซิฟิก ถึงแม้ว่า กรุงวอชิงตันจะตอกย้ำเสมอว่าต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค แต่พฤติกรรมในพื้นที่ขัดแย้งไม่ตรงกับคำมั่นสัญญา มีโอกาสนำไปสู่ความขัดแย้งทางด้านอาวุธได้

แน่นอนที่สุด ความสัมพันธ์สหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์จะกระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้านความมั่นคงโดยเฉพาะความร่วมมือด้านการป้องกันทางทะเล ทำให้ฟิลิปปินส์มั่นใจในการที่จะประจันหน้ากับจีน

ประเด็นที่ 3 อนาคตความสัมพันธ์สหรัฐฯ ที่มีต่อไทยในฐานะเป็นสมาชิกอาเซียน สหรัฐฯ ได้ให้ความสำคัญต่อพันธมิตรที่มีกับไทย ต้องการเชื่อมโยงกับและเพื่อนพ้องในภูมิภาคนี้ และรักษาความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ดี โดยเฉพาะความร่วมมือการฝึกโคบราโกลด์ (Cobra Gold) หรือการฝึกซ้อมรบทางทหารนานาชาติในอินโด-แปซิฟิก

ความสัมพันธ์ไทยกับสหรัฐฯ มีความสลับซับซ้อนมาก ขึ้น ๆ ลง ๆ แล้วแต่การเมืองภายในประเทศทั้งสอง สหรัฐฯ มีนโยบายต่างประเทศใหม่อยู่ตลอดเวลา สืบเนื่องจาการเลือกตั้งประธานาธิบดีทุก ๆ 4 ปี ผู้นำคนใหม่มักมีแนวนโยบายของตัวเอง โดยทั่ว ๆ ไปการทูตสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคอาเซียนจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ประเด็นที่ 4 ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ และห่วงโซ่อุปทานที่มีอยู่ สหรัฐอเมริกา ต้องการเพิ่มพูนความเข้มแข็งสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ การลงทุน หรือการค้าขายกับภูมิภาค 2 ปีที่แล้ว สหรัฐ ฯ ริเริ่มกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Forum) เพราะต้องการมีพื้นที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือความสัมพันธ์กับพันธมิตรและเพื่อน ๆ ทุกประเทศทางด้านความมั่นคง ในยุคประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ สหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกจากกรอบการค้าภาคพื้นแปซิฟิกในปี 2017 และลดความสำคัญของพันธมิตร

ประเด็นที่ 5 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทูตพหุภาคี สหรัฐฯ ยังต้องการการทูตพหุภาคีซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ร่วมกัน โดยมีกฎบัตรองค์การสหประชาชาติเป็นแกนกลาง บวกกับธรรมาภิบาลสากล กฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตาม 

และแม้ว่า สหรัฐฯ จะเป็นประเทศที่แทรกแซงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศบ่อย แต่สหรัฐฯ ยังเป็นอภิมหาอำนาจ ทางด้านอาวุธนิวเคลียร์และยังมีบารมีในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

เมื่อพิจารณาดูปัจจัยต่าง ๆ แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ต้องให้ความสนใจภูมิภาคนี้มากขึ้น เนื่องจากอภิมหาอำนาจอื่นโดยเฉพาะจีนได้ขึ้นมาท้าทายสหรัฐฯ อย่างเปิดเผย จีนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมาชิกอาเซียน ทั้งความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม รวมทั้งประวัติศาสตร์ร่วมเอเชียอันยาวนาน

ต้องเฝ้าดูต่อไปว่า ประธานาธิบดีคนใหม่จะมีแนวนโยบายอย่างไรต่อภูมิภาคนี้ ที่ปัจจุบันมีประชากรถึง 700 ล้านคนและจะกลายเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีพลังใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกใน 6 ปีข้างหน้า

ความรู้สึกทั่วไปของคนในภูมิภาคต่อสหรัฐฯ ยังมีอคติอยู่ เพราะในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ในการทำสงครามกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในเลบานอน ทำให้คนปาเลสไตน์เสียชีวิตเป็นจำนวนมากมากกว่า 40,000 กว่าคน และในเลบานอนมีคนเสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน ในจำนวนนั้นเป็นคนไทยเกือบ 40 คนที่ถูกจับลักพาตัวจนเสียชีวิต และเมื่อไม่กี่วันมานี้ แรงงานไทยอีก 4 คนเสียชีวิตถูกลูกหลงจรวดทางตอนเหนือของอิสราเอล

นี่คือ สิ่งท้าทายของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในอาเซียน สหรัฐฯ จำเป็นต้องใส่ใจและมีนโยบายชัดเจน เพื่อให้ภูมิภาคนี้มีเสถียรภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบยั่งยืนต่อไป

อ่านข่าวอื่น :

เดินขึ้นรถเอง! "พลายขุนเดช" ออกเดินทางเข้าบ้านใหม่ลำปาง

เซอร์ไพรส์! แฮร์ริสบุก SNL โค้งสุดท้ายหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง