ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถึงเวลา ? ชาวนาไทยปรับตัวรับเทรนด์โลก ผลิต "ข้าว"คาร์บอนต่ำ

เศรษฐกิจ
12 พ.ย. 67
12:20
492
Logo Thai PBS
 ถึงเวลา ? ชาวนาไทยปรับตัวรับเทรนด์โลก ผลิต "ข้าว"คาร์บอนต่ำ
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

Green house effect หรือภาวะ “โลกร้อน” ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นทุกปี โดยประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดของโลก 5 อันดับแรก คือ จีน, สหรัฐอเมริกา, อินเดีย, รัสเซีย และญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก หรือ ประมาณ 0.8% ของโลก และเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงที่สุด

เฉพาะภาคเกษตรไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2  หรือ 15.23 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีสัดส่วน 69.96% เฉพาะการปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึง 50.58 % ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด

โลกรวน อากาศปรวนแปร กระทบจีดีพี

ต้นเหตุจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทั้งการตัดไม่ทำลายป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงต่างๆ จากการขนส่ง การผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการผลิตและการค้าภาคเกษตร ทำให้แสงอาทิตย์ส่องทะลุผ่านชั้นบรรยากาศมาสู่พื้นโลกได้มากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นที่รู้จักกันโดยเรียกว่า สภาวะเรือนกระจก

กัญญณัช ศิริธัญญา นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวว่า เมื่อโลกเกิดการแปรปรวนจากสภาพอากาศที่เริ่มเลวร้าย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับต้นๆของโลกว่า อุณหภูมิที่เฉลี่ยปรับขึ้น 2 องศาฯ ในปี 2050 ซึ่งมีการคาดการณ์ผลกระทบต่อจีดีพีทั่วโลกอย่างมาก

เช่น อเมริกาเหนือมีผลต่อจีดีพีลบ 6.9% , ยุโรปจีดีพีลบ 7.7% ,เอเชีย จีดีพีลบ 14.9% , ตะวันออกกลางและแอฟริกา จีดีพีลบ 10% , อเมริกาใต้ จีดีพีลบ 10.8% โอเอเชีย จีดีพีลบ 11.2% ขณะที่ไทยจีดีพีจะติดลบ ถึง 19.5%โดยที่ผลกระทบหลัก จะอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตร ที่จะสูญเสียผลผลิตภาคเกษตร รวมไปถึงสูญเสียผลผลิตด้านแรงงานและภาคการท่องเที่ยวที่ต้องเสียรายได้ไป

ทั้งนี้ผลกระทบที่มีต่อภาคเกษตรมีการคาดการณ์ตั้งแต่ปี 2011-2045 ที่จะมีผลกระทบต่อราคาที่ดินภาคเกษตรในเขตเกษตรนำฝน ซึ่ง 20 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบสูงสุด เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ชุมพร สงขลา นครราชสีมา ตรัง ร้อยเอ็ด พัทลุง เชียงใหม่ ชลบุรี ปัตตานี เป็นต้น

โดยตั้งแต่ปี 2040-2049 ราคาที่ดินจะลดลงจากกรณีโลกร้อนขึ้น 2.7-3.1 องศาฯ ราคาที่ดินลดลง 165-635 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อไร่ และหากปริมาณน้ำผลลดลงจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าว ในปี2090-2099 ลดลงถึง 21.7% ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง 30%

ดังนั้นในภาคเกษตร ชาวนา ผู้ผลิต ต้องปรับตัวใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ เพื่อป้องกันสินค้าการกีดกันทางการค้าและปรับลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดย7 วิธีการปรับตัวของชาวนาที่ทำได้เอง ไม่ว่าจะเป็น การกระจายผลผลิตพืช เพื่อลดความเสี่ยง ปลูกพืชสลับที่เหมาะกับสภาพอากาศเพื่อลดการเกิดโรคพืช

และปรับปฏิทินการปลูกเลือกวันปลูกที่เหมาะสมกับกับการโตของพืช ทำระบบน้ำหยุดเพื่อป้องกันความเสี่ยงนกรณีที่ฝนแล้งหรือฝนขาดช่วง ปรับปรุงพันธ์ที่ทนต่อโรค ทนแล้ง ทนน้ำท่วมและอากาศที่ร้อนจัด การทำประกันพืชผลด้วยดัชนีราคา ซึ่งรัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันและคิดเบี้ยตามความเสี่ยง การสลับพื้นที่ปลูกพืชไร่มาเป็นพืชสวน บนพื้นที่เขา และสุดท้าย คือ การหารายได้จากนอกภาคเกษตร เช่นปลุกพืชที่เก็บเกี่ยวได้ในระยะสั้น

การส่งออกข้าวไทย จะเผชิญกับ ปัญหาเงื่อนไขการค้าแห่งอนาคต ถ้า ยังคงมีการทำนาข้าวแบบดั้งเดิม ที่ถูกเรียกว่าผู้ร้ายในสังคมคาร์บอนฟุตปริ้น จากกระบวนการผลิตที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 55% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรกรรมไทย

โดยที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯและกรมการข้าวได้มีการเร่งเครื่องทำนาข้าวลดโลกร้อนผ่านแรงจูงใจด้วยการขายคาร์บอนเครดิตไร่ละ 400 บาท หลังจากมีการนำร่องทำนาเปียกสลับนาแห้ง ภายใต้ โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) ซึ่งจะสิ้นสุดในปีนี้

 “ข้าวนาหยอด”ลดต้นทุนผลิตได้จริง

นาย วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด กล่าวว่า เพื่อช่วยให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิตข้าว และมีรายได้เพิ่มขึ้น โครงการหงษ์ทองนาหยอด นับว่าเป็นอีกโครงการที่เข้ามาช่วยเหลือชาวนาในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวหอมมะลิ มีต้นทุนที่ลดลง เพิ่มผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวในราคาที่ดีกว่าตลาดถึง 0.5บาทต่อกิโลกรัม

ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เมล็ดพันธฺ์ที่มีคุณภาพซึ่งจะทำให้ขายข้าวเปลือกได้ในราคาดีเพราะลดการตัดราคาจากการที่มีข้าวสายพันธุ์อื่นปนมา ทำให้ข้าวใช้ปลูกนั้นบริสุทธิ์และปลอมปนน้อย ขณะที่ชาว นาที่มีอาชีพทำนามีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งและได้ราคาที่เป็นธรรมจากโรงสี
นาย วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด

นาย วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด

นาย วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด

โครงการหงษ์ทองนาหยอด เป็นการทำในพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี ศรีษะเกษ และร้อยเอ็ด มีพื้นที่ 28,721 ไร่ เกษตรกรที่เข้าร่วม 1,775 ราย โดยมีแผนขยายพื้นที่เพาะปลูกในปี2568-2572 ให้ได้ 100,000 ไร่ ในปี2572

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว นอกจากจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดซึ่งช่วยให้ชาวนามีรายได้ที่มั่งคงขึ้น เพราะราคารับซื้อข้าวเปลือกสูงกว่าตลาด 3 บาทต่อกิโลกรัม

ไทยประกาศศึก "ชิงบัลลังก์"ข้าวคาร์บอนต่ำ

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตและการค้าภาคเกษตรของไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่เกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ

ดังนั้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมทั้งกฎระเบียบและมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไทยในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ควรเร่งปรับตัวและพัฒนาการผลิตเพื่อคว้าโอกาสและช่วงชิงตำแหน่งผู้นำในตลาดข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวลดโลกร้อน

หลายประเทศรวมทั้งไทย มีการส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม (Green Consumer) ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าในการเจาะตลาดข้าวพรีเมียม เพราะ เวียดนามซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายสำคัญของโลกมีนโยบายส่งเสริมการปลูกข้าวคาร์บอนต่ำอย่างจริงจังแล้ว

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า “ข้าวคาร์บอนต่ำ” คือ ข้าวที่ผลิตและแปรรูปด้วยวิธีการและเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าจะเป็นการทำนาเปียกสลับแห้ง การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากการเกษตร เช่น ไม่เผาฟางข้าว

นอกจากนี้ การผลิตข้าวคาร์บอนต่ำยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับกฎระเบียบและมาตรการระหว่างประเทศที่นำประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้า สอดรับกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเข้มงวด เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)   กระทรวงพาณิชย์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

ไทยมีการส่งเสริมการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น โครงการไทยไรซ์ นามา (Thai Rice NAMA) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสนับสนุนทางการเงิน

เวียดนาม เอาจริง “รุก” ตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ

ผอ.สนค. กล่าวว่า เวียดนาม มีนโยบายรุกตลาดข้าวคาร์บอนต่ำ และพัฒนาการผลิตข้าวคาร์บอนต่ำอย่างรวดเร็ว โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตร ซึ่งเวียดนามใช้เทคนิคการปลูกข้าวคล้ายกับไทย

โดยเน้นการจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้สารเคมีในการเพาะปลูก ปัจจุบันเวียดนามผลักดันนโยบาย Net Zero Emission ผลิต “ข้าวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Rice)” เพื่อตอบโจทย์ประเทศคู่ค้ากลุ่มตลาดพรีเมียมที่ใส่ใจเรื่องลดโลกร้อนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ เวียดนามมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย และเข้าถึงตลาดข้าวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า โดยเฉพาะการมีข้อตกลง FTA กับสหภาพยุโรป ซึ่งมีข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด จึงอาจทำให้สามารถเจาะตลาดยุโรปได้ดีกว่าข้าวไทย

จากสถิติการส่งออกข้าวระหว่างไทยกับเวียดนาม พบว่า มีปริมาณและมูลค่าใกล้เคียงกันมาก ในปี 2566 ไทยส่งออกข้าว 8.77 ล้านตัน มูลค่า 5,147.3 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 8.13 ล้านตัน มูลค่า 4,675.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. – ก.ย.) ไทยส่งออกข้าว 7.45 ล้านตัน มูลค่า 4,833.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามส่งออกข้าว 6.96 ล้านตัน มูลค่า 4,353.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

ข้าวหอมมะลิ จากโครงการหงษ์ทองนาหยอด

ข้าวหอมมะลิ จากโครงการหงษ์ทองนาหยอด

ข้าวหอมมะลิ จากโครงการหงษ์ทองนาหยอด

ความต้องการข้าวคาร์บอนต่ำที่เพิ่มขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงมาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ที่อาจขยายครอบคลุมถึงสินค้าเกษตรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจึงต้องให้ความสำคัญและเร่งส่งเสริมการผลิตและแปรรูปข้าวคาร์บอนต่ำ เพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตามการแข่งขันของตลาดข้าวโลกในปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก ไทยจึงควรมุ่งพัฒนาการผลิตข้าวให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าข้าวให้สูงขึ้น

“ข้าวคาร์บอนต่ำ” ถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดข้าวโลก เป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร และส่งผลต่อเนื่องไปถึงการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับโลก รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับการค้าข้าวและภาคการเกษตรไทยในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

อ่านข่าว:

ตลาดข้าวโลกป่วน หลังอินเดียคัมแบ็ค ไทยเบอร์ 2 ส่งออกข้าว

ทุกข์ของชาวนา กับปัจจัยลบรุมเร้าราคา "ข้าวไทย"

“นวัตกรรม” ทางรอดอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย หลังถูก “จีน” ตีตลาด

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง