ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ปมพิพาท "แพทยสภา-สภาเภสัชกรรม" ชะตากรรมตกที่ "ประชาชน"

สังคม
22 พ.ย. 67
18:09
4,563
Logo Thai PBS
ปมพิพาท "แพทยสภา-สภาเภสัชกรรม" ชะตากรรมตกที่ "ประชาชน"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
เกิดอะไรขึ้นบ้าง เมื่อแพทยสภาฟ้อง สปสช. ปมโครงการเภสัชกรดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ด้านสภาเภสัชกรรมชี้โครงการช่วยลดภาระโรงพยาบาลและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชน ส่วนสภาผู้บริโภคเรียกร้องให้แพทยสภาถอนฟ้องเพื่อประโยชน์สุขภาพประชาชน

วันนี้ (22 พ.ย.2567) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค โพสต์เฟซบุ๊กว่า ข้อเสนอสภาผู้บริโภค แพทยสภา ควรถอนฟ้อง สปสช. ใจความ สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้แพทยสภาพิจารณาถอนฟ้องสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาจากร้านขายยาได้โดยตรงสำหรับอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

การที่ประชาชนมีทางเลือกในการเข้าถึงยาจากร้านขายยา นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง ช่วยลดภาระของระบบสาธารณสุข และเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลหรือในช่วงเวลาที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมาก

แม้ว่าแพทยสภาจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยในการรับยาจากร้านขายยา แต่การมีระบบการควบคุมคุณภาพยาที่เข้มงวด และการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวได้ หากแพทยสภาชนะคดี อาจส่งผลให้ประชาชนสูญเสียสิทธิในการเข้าถึงยาจากร้านขายยา และต้องกลับไปพึ่งพาการรักษาที่โรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สะดวกและเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน 

เกิดอะไรขึ้นระหว่าง แพทยสภา-สปสช.-สภาเภสัชกรรม

ตั้งแต่เดือน พ.ย.2565 สปสช. ร่วมมือกับสภาเภสัชกรรมและร้านยาคุณภาพทั่วประเทศ ทำโครงการ "ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ" อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ถือบัตร 30 บาท ที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ หรืออาการทั่วไปอื่น ๆ สามารถเข้ารับการรักษาและรับยาได้ที่ร้านยาใกล้บ้าน โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ลดความแออัดผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับบริการในโรงพยาบาล โดย 16 กลุ่มอาการ ได้แก่ 

  1. ปวดหัว (HEADACHE)
  2. เวียนหัว (Dizziness)
  3. ปวดข้อ (PAIN IN JOINT)
  4. เจ็บกล้ามเนื้อ(MUSCLE PAIN)
  5. ไข้ (FEVER)
  6. ไอ (COUGH)
  7. เจ็บคอ (SORE THROAT)
  8. ปวดท้อง (STOMACHACHE)
  9. ท้องผูก (CONSTIPATION)
  10. ท้องเสีย (DIARRHEA)
  11. ถ่ายปัสสาวะขัด,ปัสสาวะลำบา,ปัสสาวะเจ็บ (DYSURIA)
  12. ตกขาวผิดปกติ(VAGINAL DISCHARGE)
  13. อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน (SKIN RASH/LESION)
  14. บาดแผล (WOUND)
  15. ความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับตา(EYE DISORDER)
  16. ความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับหู (EAR DISORDER)

แต่นโยบายนี้กลับเผชิญกับการคัดค้านอย่างหนักจาก "แพทยสภา" ซึ่งมีความกังวลในประเด็นหลักคือ ขอบเขตการประกอบวิชาชีพ แพทยสภาเห็นว่าการที่เภสัชกรวินิจฉัยโรคและจ่ายยาบางชนิด อาจเกินกว่าขอบเขตความสามารถของเภสัชกร โดยเฉพาะในกรณีที่อาการของโรคมีความคล้ายคลึงกัน แต่ต้องการการวินิจฉัยที่แม่นยำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องอาจนำไปสู่การใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ป่วยในระยะยาว ขัดต่อ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มาตรา 26 ระบุว่าห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงฟ้องร้อง สปสช. ต่อศาลปกครอง 

สปสช. เดินหน้าดูแลผู้ป่วย 16 กลุ่มอาการต่อ

ด้านทางเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงต่อว่า ไม่ก้าวล่วงทางกฎหมาย ทาง สปสช. ยังคงให้บริการตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่จนกว่าศาลจะมีคำสั่งสิ้นสุด เพื่ออำนวยความสะดวก ลดความแออัดในโรงพยาบาล พร้อมเผยผลสำรวจสุขภาพประชาชนพบว่าร้อยละ 40 เลือกใช้บริการร้านยาเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้น และย้ำว่าระบบร้านยาคุณภาพมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและส่งต่อผู้ป่วยหากจำเป็น

และ สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า  ยังคงดำเนินการโครงการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการต่อไปตามปกติ แม้ว่าจะถูกแพทยสภาฟ้องร้องก็ตาม โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินงานของโครงการเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้ง พ.ร.บ.ยา และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม

สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า ผอ.รพ.ศรีนครินทร์ ที่สนับสนุนโครงการนี้ที่มีประโยชน์ต่อทั้งผู้ป่วยและระบบสาธารณสุข พร้อมแนะนว่าหากกังวลเรื่องความผิดพลาด ให้เภสัชกรเข้าร่วมโครงการรับการอบรมและประเมินความรู้ เพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างแพทย์และเภสัชกร จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น

แพทยสภาเรียกร้องทบทวนโครงการฯ

วันที่ 11 พ.ย.2567 พญ.ชัญวลี ศรีสุโข กรรมการแพทยสภา เปิดเผยถึงกรณีที่แพทยสภายื่นฟ้อง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ระงับและทบทวนโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการโดยเภสัชกรในร้านยา

พญ.ชัญวลี ระบุว่า แพทยสภาไม่ได้คัดค้านการให้เภสัชกรจ่ายยาสำหรับโรคเล็กน้อย แต่แสดงความกังวลเรื่องการวินิจฉัยโรคก่อนการจ่ายยา โดยเฉพาะยาที่ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ เช่น ยาตา หรือยาไมเกรน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย แพทยสภาเสนอว่า ควรจำกัดการจ่ายยาให้เฉพาะยาที่ขายได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยา เพื่อป้องกันการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม

แถลงการณ์แพทยสภา

วันที่ 19 พ.ย.2567 แพทยสภาได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการยื่นฟ้อง โดยย้ำว่า แม้โครงการดังกล่าวจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และเพิ่มความสะดวกในการรับยาแก่ประชาชน แต่ยังมีข้อกังวลสำคัญในด้านความปลอดภัย แพทยสภาให้ข้อมูลว่า การดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยเภสัชกรอาจทำให้ประชาชนไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด ซึ่งบางครั้งอาการที่ดูเหมือนเล็กน้อย เช่น ปวดหัวหรือปวดท้อง อาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรง เช่น เส้นเลือดในสมองแตก ไส้ติ่งแตก หรือหลอดเลือดแดงใหญ่ปริแตก ซึ่งต้องได้รับการตรวจและรักษาโดยแพทย์อย่างเร่งด่วน

ความเสี่ยงจากดุลยพินิจของเภสัชกร

การให้เภสัชกรใช้ดุลพินิจในการจ่ายยาในบางอาการที่ซับซ้อน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อน การดื้อยา หรือผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วย ทั้งนี้ การตรวจวินิจฉัยที่ละเอียดและแม่นยำ จำเป็นต้องอาศัยขั้นตอนเฉพาะทาง เช่น การตรวจร่างกายหรือการตรวจในห้องปฏิบัติการ ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตของวิชาชีพเภสัชกรรม

พยายามหาทางออกร่วมกัน

แพทยสภาระบุว่า ได้พยายามหารือกับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้โครงการดังกล่าวถูกระงับและทบทวนใหม่ แพทยสภายืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ไม่มีเจตนาขัดขวางการทำงานของเภสัชกร แต่เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสมในระบบสุขภาพของประเทศ

จดหมายเปิดผนึกจาก "สภาเภสัชกรรม"

ทางด้าน รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยถึงข้อพิพาทระหว่างแพทยสภาและเภสัชกรยืนยันว่าการดำเนินการของเภสัชกรในร้านยาเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรมฯ เพื่อดูแลอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น ไม่ใช่การรักษาโรค ยืนยัน ต่างคนต่างทํางานของตัวเอง ไม่ได้ถือว่าก้าวล่วง เพราะมีกฎหมายรองรับ แต่แพทย์บางกลุ่มไม่ยอม จึงมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ทั้งนี้มีการพูดคุยร่วมกันหลายครั้งเพื่อหาขอบเขตการปฏิบัติงานระหว่าง 2 วิชาชีพ ขณะเดียวกันย้ำว่าระบบสุขภาพปฐมภูมิช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล หากโครงการถูกยกเลิก จะส่งผลต่อการให้บริการประชาชนในอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย

สภาเภสัชกรรมได้ออกจดหมายเปิดผนึก 3 ฉบับ ในเดือน พ.ย.2567 เพื่อชี้แจงและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการโดยเภสัชกรในร้านยา โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ฉบับที่ 1 (12 พ.ย.2567)
สภาเภสัชกรรมยืนยันว่า ความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในโครงการดังกล่าว ซึ่งช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม โดยยาที่จ่ายเป็นยาที่ไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ และการบริการดำเนินไปตามมาตรฐานการซักประวัติและการส่งต่อแพทย์ในกรณีที่อาการไม่ดีขึ้น สถิติชี้ว่าร้อยละ 90 ของผู้รับบริการกว่า 1.74 ล้านคน อาการทุเลาลง และประชาชนให้ความพึงพอใจในระดับสูงสุด

ฉบับที่ 2 (17 พ.ย.2567) จดหมายฉบับนี้สรุป 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

  1. โครงการดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง (พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537) และผ่านการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว
  2. เภสัชกรปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งการซักประวัติ คัดกรองอาการ และการจ่ายยา
  3. ประชาชนสามารถเลือกรับบริการจากเภสัชกรหรือพบแพทย์ได้ตามความเหมาะสม
  4. หลักสูตรการศึกษาของเภสัชกรที่ใช้เวลา 6 ปี มุ่งเน้นการเรียนรู้ด้านยาและการบริบาลเภสัชกรรม
  5. รูปแบบโครงการคล้ายกับระบบ Pharmacy First ในสหราชอาณาจักร ซึ่งเภสัชกรมีบทบาทสำคัญในระบบสุขภาพปฐมภูมิ

โครงการนี้มีผู้ใช้บริการกว่า 1.77 ล้านคน โดยไม่มีปัญหาร้ายแรง และได้รับการตอบรับในระดับสูง (คะแนนความพึงพอใจ 4.76 จาก 5) พร้อมแผนขยายกลุ่มอาการจาก 16 เป็น 32 อาการ

ฉบับที่ 3 (21 พ.ย.2567)
สภาเภสัชกรรมเน้นย้ำว่าโครงการนี้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจาก สปสช. และเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2565 โดยไม่มีกรณีปัญหาร้ายแรงและช่วยลดภาระงานของแพทย์ในระบบสุขภาพ เภสัชกรมีบทบาทในการคัดกรองอาการเบื้องต้นและส่งต่อผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง โดยการซักประวัติเพื่อจ่ายยานั้นเป็นมาตรฐานที่เภสัชกรปฏิบัติมากว่า 70 ปี

สภาเภสัชกรรมเรียกร้องให้แพทยสภาพิจารณาประเด็นความปลอดภัยด้านยาในระบบสุขภาพทั้งระบบ พร้อมแสดงความพร้อมในการร่วมมือกับแพทยสภาเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม โดยยึดประโยชน์และความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ

ข้อพิพาทระหว่างแพทยสภาและสภาเภสัชกรรม เกี่ยวกับโครงการให้เภสัชกรดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ ยังคงเป็นประเด็นร้อนในวงการสาธารณสุข แม้แพทยสภาจะยื่นฟ้องให้หยุดโครงการเพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้ป่วย ขณะที่สภาเภสัชกรรมยืนยันว่าการดำเนินการภายใต้กฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัย ยังคงช่วยลดภาระในระบบสุขภาพและเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล 

อ่านข่าวอื่น :

หารือ "แพทย์สภา" ปมฟ้อง "สปสช." ให้เภสัชฯ จ่ายยารักษา 32 กลุ่มอาการ ไม่ต้องไป รพ.

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง