ชื่อ บริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทร่วมลงทุนสร้างอาคารหลังใหม่ของ สตง.เริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ซึ่ง ตม.ไปตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ณ ที่ทำการบริษัท โดยล่าสุด ตัวแทนเข้าชี้แจง พบว่าจ้างบริษัทรายย่อยถึง 17 แห่ง แต่ยังไม่ระบุว่าเกี่ยวข้องกับอาคารที่ถล่มลงมาหรือไม่
ชุดสืบสวนกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 1 เข้าตรวจสอบอาคารพาณิชย์ 8 คูหา ย่านทุ่งครุ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เอ็นจิเนียริ่ง ประเทศไทย จำกัด
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อสอบถามข้อมูลของพนักงาน และตรวจสอบเอกสารต่างๆ ทั้งเอกสารการ ว่าจ้างพนักงาน รวมถึงรายชื่อบริษัทรายย่อย ที่รับดำเนินงานเบื้องต้น พบว่าอาคารปิดทำการ ไม่มีพนักงานหรือบุคคลใดมาแสดงตัว
ซึ่งชายอ้างตัวกับเจ้าหน้าที่ว่า เป็นตัวแทนเจ้าของอาคารที่ปล่อยให้เช่าสถานที่ประกอบกิจการ นำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภายในอาคาร แต่ไม่สามารถเข้าไปในสำนักงานเพื่อตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ตามเป้าหมายได้
ทีมข่าวสังเกตการณ์อยู่ภายนอก พบว่า ตัวอาคารมีลักษณะคล้ายโกดังจัดเก็บสินค้า มีกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้จำนวนมาก ด้านข้างอาคารมีป้ายห้ามบุคคลภายนอกเข้า ส่วนด้านนอกอาคาร ยังมีป้ายชื่อของบริษัทอื่นๆ ติดตั้งอยู่
ระหว่างนั้นมีรถรับส่งพัสดุเอกชนเข้ามาส่งของ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบกล่องพัสดุ พบว่า แทบทุกกล่องส่งถึงผู้รับเป็นที่เป็นชาวต่างชาติ โดยระบุเพียงที่อยู่ของอาคาร แต่ไม่ระบุว่าเป็นบริษัทใด

ขณะที่ตัวแทนเจ้าของอาคารอ้างว่าพนักงานทุกบริษัทในอาคารนี้ ย้ายออกไปได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว เนื่องจากมีโครงการทำถนนภายในซอย ทำให้ไม่สะดวกต่อการทำงาน
ล่าสุด ข้อมูลจากชุดสืบสวน ตม.แจ้งว่า ตัวแทนบริษัททั้งหมดในอาคาร เข้าชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ที่จุดเกิดเหตุอาคารถล่ม
สำหรับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ พบว่า มีการว่าจ้างบริษัทรายย่อยถึง 17 แห่ง แต่ยังระบุไม่ได้ว่าเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างอาคาร สตง.หลังใหม่หรือไม่
ข้อมูลจากเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น ประเทศไทย จำกัด เป็นบริษัทร่วมลงทุนกับบริษัท อิตาเลียนไทยดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด มหาชน ในนามกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ทำโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ มูลค่า 2,136 ล้านบาท

บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทปี 2561 ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ประกอบธุรกิจก่อสร้างอาคารที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย มีรายชื่อกรรมการ 2 คน เป็นสัญชาติไทย 1 คน และสัญชาติจีนอีก 1 คน สัดส่วนผู้ลงทุนเป็นคนไทย 3 คน ถือหุ้นร้อยละ 51 ส่วนคนจีน 1 คน ถือหุ้นร้อยละ 49
เมื่อตรวจสอบงบการเงิน พบว่า ปี 2566 มีผลประกอบการขาดทุนกว่า 199 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่ ของ สตง.ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ปรากฏว่าเว็บล่ม ไม่สามารถเข้าถึงได้
เริ่มมีคำถามไปถึง สตง. ให้ชี้แจงข้อมูลบริษัทนี้ หลังจากเพจเฟซบุ๊ก รู้ทันจีน แปลบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ภาษาจีน ที่อ้างถึง โครงการก่อสร้างอาคาร สตง.ดำเนินงานโดย บริษัท จงเที่ยสือจวี่จี๋ตวน หรือ ซีอาร์อีซี เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจจีนขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ทางทิศตะวันตกติดกับ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) และทางทิศตะวันออกอยู่ติดกับ สวนสาธารณะแห่งชาติกรุงเทพ เป็นทำเลที่สะท้อนทั้งความสะดวกในการเดินทางและภาพลักษณ์ความมั่นคงของหน่วยงานรัฐ
ตัวโครงการประกอบด้วย 3 อาคารหลัก ได้แก่ อาคารสำนักงาน , อาคารประชุม และอาคาร จอดรถ รวมพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด 96,041 ตารางเมตร โดยเฉพาะอาคารสำนักงานหลักมีความสูงถึง 137 เมตร ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่อาคารสูงพิเศษตามมาตรฐานสากล และต้องอาศัยเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูงตลอดกระบวนการ
ในเว็บไซต์ภาษาจีน ปรากฏภาพเป็นกลุ่มคนถือป้ายภาษาจีนและไทยที่หน้าโครงการ ระบุข้อความ “พิธีฉลองสิ้นสุดงานโครงสร้าง”
ทั้งนี้ยังมีภาพการวางท่อสายไฟฟ้าและท่อประปาภายในตัวอาคารขณะก่อสร้าง มีเจ้าหน้าที่นั่งประชุมและตรวจสอบงาน
อ่านข่าว :
แจ้งความ 4 คนจีนลอบขนเอกสาร 32 แฟ้ม ออกจากตึก สตง.ถล่ม
"อนุทิน" คุยทูตจีนช่วยตึกถล่ม ตั้ง คกก.สอบหาสาเหตุขีดเส้น 7 วัน
"ทวิดา" เผยเร่งกู้ชีวิตที่เหลือ สแกนหาสัญญาณชีพ-ต้องระวังซากตึกทรุดตัว
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- ไทยแผ่นดินไหว
- แผ่นดินไหวไทย
- กรุงเทพแผ่นดินไหว
- แผ่นดินไหว
- กรุงเทพมหานคร
- ประเทศไทย
- เมียนมา
- bkkearthquake
- BangkokEarthquake
- ThailandEarthquake
- ตึกถล่ม
- กู้ตึกถล่ม
- สตง.
- แผ่นดินไหว2568
- แผ่นดินไหวกรุงเทพ
- แผ่นดินไหว 28 มีนาคม 2568
- แผ่นดินไหวเมียนมา
- แผ่นดินไหวตึกถล่ม
- แผ่นดินไหวกรุงเทพฯ
- แผ่นดินไหวประเทศไทย
- สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน