วันนี้ (1 พ.ค.2568) นางสิวพรรณ (ไม่เปิดเผยนามสกุล) ชาวสวนปาล์มในพื้นที่ จ.ระนอง กล่าวถึงสถานการณ์ราคาปาล์มกับ "ไทยพีบีเอส ออนไลน์"ว่า ขณะนี้ราคารับซื้อจากลานปาล์มในพื้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 4.10 บาท ส่วนราคาโรงงานรับซื้อที่ กิโลกรัมละ 4.30 บาท ซึ่งยังไม่คุ้มทุนกับต้นทุนการผลิต เนื่องจากต้นทุนการผลิตของชาวสวนปาล์มเฉลี่ยจะอยู่ที่กิโลกรัม 4.50-5 บาท

สำหรับราคาปาล์มที่เกษตรกรอยากได้ คือ กิโลกรัมละ 5.50 บาท เพราะทำให้ชาวสวนอยู่ได้ แต่ถ้ารัฐบาลจะช่วยให้ได้ราคา 6 บาท/กก.ก็จะดีมากๆ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ต้นทุนการผลิตในขณะนี้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะปุ๋ย ที่มีราคาแพงขึ้น แม้กรมการค้าภายในจะมีโครงการปุ๋ยราคาถูกแต่เกษตรกรก็เข้าถึงยากและราคาที่ขายก็ใกล้เคียงกับราคาท้องตลาด ต่างกันไม่มากนัก
มีพื้นที่ปลูกปาล์ม 30 ไร่ ให้ผลผลิต 100 ต้น หรือ 700,000 บาทต่อ เสียค่าปุ๋ยเฉลี่ย120,000 บาท หากรัฐบาลผลักดันราคาปาล์มให้ดีขึ้น เกษตรกรก็จะสามารถลืมตาอ้าปากได้ เพราะขณะนี้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น และกำลังซื้อก็ยังไม่กลับมา

แหล่งข่าวชาวสวนปาล์มอีกรายหนึ่ง กล่าวว่า โครงการปุ๋ยราคาถูกเป็นโครงการที่ดี แต่เกษตรกรเข้าถึงยากเพราะส่วนใหญ่ไปอยู่ในมือของนายทุนรายใหญ่ หรือสหกรณ์ได้โควตาแต่ราคาขายเท่ากับหน้าร้านค้า เช่น สูตร 14-7-35 ราคาขาย 1080-1100 บาท แล้วแต่ยี้ห้อ หรือสูตร 0-0-60 ราคา 750-800 บาท หรือปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ราคา 770-820 บาท, สูตร 21-0-0(24s) 450-490 บาท เป็นต้น
อยากให้รัฐบาลมีการประกันราคาปาล์มที่เหมาะสม กิโลละ 5.50 บาท ชาวสวนก็พอใจแล้ว ปีก่อนปาล์มมีราคาสูงเฉลี่ย 6-7 บาท/กก. แต่ต้องคุมต้นทุนการผลิตของชาวสวนด้วย เพราะเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงอยากให้คุมราคาปาล์มสดให้สอดคล้องกับราคาCPO เพราะน้ำมันปาล์มขวดราคาสูง ขณะที่ราคารับซื้อจากชาวสวนปาล์มกับถูกลง

ส่วนราคายางพาราร่วงเช่นกัน ปัจจุบันยางแผ่นรับซื้อที่ 61 บาท/กก. ขี้ยางก้อนหรือยางถ้วย อยู่ที่ 26-27 บาท/กก. ซึ่งยางพารา มีต้นทุนการผลิตที่สูงและสูงขึ้นทุกปี ทั้งคนกรีดยาง ค่าปุ๋ย ค่ายา ซึ่งอยากให้รัฐบาลช่วยดันราคาอย่างน้อย ยางแผ่นควรอยู่ที่ 70 บาท/กก. ขี้ยางอยู่ที่ 30บาท/กก.

ด้านนายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้ร่วมกับ 3 สมาคม ได้แก่ สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร รวมผู้ประกอบการ 26 ราย เข้าร่วมโครงการลดราคาปุ๋ยเคมีเพื่อเกษตรกร ปี 2568
โดยให้ส่วนลดกระสอบละ 20–50 บาท ครอบคลุมปุ๋ยเคมี 79 สูตร รวมปริมาณกว่า 10.06 ล้านกระสอบ หรือประมาณ 503,000 ตัน ซเริ่มโครงการมาตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.2568 เป็นต้นมา ปรากฏว่าในช่วง 2 สัปดาห์ มียอดการสั่งซื้อปุ๋ยจากสถาบันเกษตรกรผ่านกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์แล้ว รวมกว่า 500,000 กระสอบ หรือ 25,000 ตัน

นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
สำหรับปุ๋ยที่นำมาลดราคาในครั้งนี้ ครอบคลุมการเพาะปลูกพืชทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว พืชไร่ พืชสวน ไม้ผล และไม้ดอกไม้ประดับ โดยปุ๋ยที่เป็นสูตรสำคัญที่ใช้ในนาข้าว เช่น 46-0-0, 0-0-60, 16-20-0, 15-15-15, 20-8-20 และ 25-7-14 มีปริมาณรวมกว่า 5.49 ล้านกระสอบ เพิ่มขึ้นจากรอบที่ผ่านมาเกือบสองเท่า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรชาวนา ในช่วงฤดูเพาะปลูกที่กำลังจะมาถึงนี้

ได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามการจำหน่ายปุ๋ยอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการฉวยโอกาสขึ้นราคา จะมีโทษตามกฎหมาย จำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วยังถูกเพิกถอนหรือระงับการเป็นตัวแทนจำหน่ายอีกด้วย ส่วนเกษตรกร หากไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือพบการกระทำผิดดังกล่าว สามารถแจ้งหรือร้องเรียนที่สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทุกจังหวัด
โดยในวันพรุ่งนี้ (2 พ.ค.2568) นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงพาณิชย์เป็นประธานการแถลงข่าวโครงการพาณิชย์ลดราคาปุ๋ยเพื่อเกษตรกร ปี 2568 และหามาตรการช่วยเกษตรกรและดูแลสินค้าเกษตรในช่วงที่ราคาตกต่ำ
อ่านข่าว:
แรงงานไทย “หนี้” เต็มกระเป๋า 98.8% ชี้ "ค่าจ้างขั้นต่ำ" ไม่สอดคล้องยุคของแพง
แก้ปาล์มราคาร่วง “คน.”เคาะ โรงสกัดฯ รับซื้อไม่ต่ำ 5 บาท/กก.
ปูพรมตรวจเข้ม “ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน”ป้องพ่อค้ารายใหญ่กดรับซื้อ