ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โยธาฯ มั่นใจแบบจำลองฯ พิสูจน์สาเหตุตึก สตง.ถล่มได้ใน 90 วัน

สังคม
2 พ.ค. 68
15:34
116
Logo Thai PBS
โยธาฯ มั่นใจแบบจำลองฯ พิสูจน์สาเหตุตึก สตง.ถล่มได้ใน 90 วัน
อ่านให้ฟัง
11:07อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง มั่นใจ แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ สามารถพิสูจน์เหตุอาคารถล่มได้ แจงต้องใช้หลายหน่วยเหตุป้องกัน Human error คาดทันใน 90 วัน ที่ขอไปกับนายกรัฐมนตรี

วันนี้ (2 พ.ค.2568) นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงการก่อสร้างอาคาร สตง. เข้ารายงานความคืบหน้าผลการตรวจสอบ กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย โดยระบุว่า วันนี้เข้ารายงานใน 3 ประเด็น คือเรื่องการตรวจสอบความเสียหายของอาคาร โดยแบ่งเป็นอาคารทั้งของภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด

โดยในเบื้องต้นมีการตรวจสอบอาคารภาครัฐใน กทม. 300 กว่าหน่วยงาน ประมาณ 900 กว่าอาคาร พบว่า มีความเสียหายรุนแรงกระทบต่อการใช้งานเพียง 1 อาคาร คือ อาคารของสตง. ส่วนต่างจังหวัดจะเน้นไปที่อาคารโรงเรียน โรงพยาบาล อาคารราชการ ซึ่งได้มีการตรวจสอบไปแล้ว 3,000 กว่าหน่วยงาน ประมาณ 9,000 กว่าอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาคารที่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

ซึ่งมีอาคารที่เสียหายและปิดการใช้ 16 อาคาร จากทั้งหมด 76 จังหวัด ซึ่งอาคารที่เสียหาย จะเห็นได้ว่ามีน้อยมาก และความรุนแรงระดับที่สามารถซ่อมแซมได้ตามหลักวิชาการก่อนที่จะเปิดบริการให้ใช้ ในส่วนที่เป็นอาคารของเอกชน มีการแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือเป็นอาคาร 9 ประเภท ตามกฎหมายที่ต้องมีการตรวจสอบทุกปี ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารที่มีการชุมนุมที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ตารางเมตร

โรงมหรสพ สถานบริการที่มีพื้นที่ มากกว่า 200 ตารางเมตร โรงแรมที่เกิน 80 ห้อง อาคารชุด หอพักที่มีเนื้อที่เกิน 2000 ตารางเมตร และโรงงานที่มีความสูง 1 ชั้นขึ้นไป และมีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร และป้ายที่มีความสูง เกิน 15 เมตร โดยอาคาร 9 ประเภทเหล่านี้ โดยปกติต้องมีการตรวจสอบทุกปี โดยผู้ตรวจสอบที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโยธาธิการและผังเมือง

อธิบดีกรมโยธาธิการฯ กล่าวต่อว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 28 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอนุทิน ได้สั่งการให้ตรวจสอบซ้ำอีกครั้งว่า แผ่นดินไหวกระทบต่ออาคาร 9 ประเภท เหล่านี้หรือไม่ ซึ่งใน กทม.ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าการกรุงเทพมหานคร ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของอาคาร 9 ประเภท ได้มีการตรวจสอบ และออกคำสั่งไปแล้ว 11,000 อาคาร ในเขตกทม. และได้มีการตรวจสอบแล้ว 5,000 กว่าอาคาร ที่มีการตรวจสอบ และมีการรายงานมาแล้วว่า ไม่ได้รับความเสียหายรุนแรงขึ้นขั้นต้องปิดการใช้หรือถึงขั้นสีแดง

ส่วนในต่างจังหวัด มีประมาณ 6 หมื่นกว่าอาคาร ใน 76 จังหวัด ทางท้องถิ่นได้มีการแจ้งให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอยู่ การรายงานให้กรมโยธาธิการทราบในทุก 15 วัน

ในกรณีที่เป็นอาคาร 9 ประเภท ส่วนอาคารอื่น ๆ อาคารขนาดเล็ก ทางกทม. จะรับเรื่องร้องเรียน ผ่าน Traffy fondue ของกทม. เพื่อให้ชาวบ้านได้ร้องเรียน เพื่อ กทม.จะได้เข้าไปตรวจสอบ ในปัจจุบันได้มีการแจ้งเรื่องให้ไปตรวจสอบประมาณ 20,000 เรื่อง และกทม. เองได้ตรวจสอบและแนะนำแล้ว 18,000 กว่าเรื่อง เหลืออยู่ประมาณ 1,000 กว่าเรื่อง ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในส่วนอาคารต่างจังหวัดสำนักโยธาธิการและผังเมืองทางจังหวัด ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้คำปรึกษาแนะนำกับประชาชน

อธิบดีกรมโยธาฯ ยังระบุอีกว่า การรายงานความก้าวหน้าในการสืบสวน เหตุการณ์ถล่มของตึก สตง. โดยได้เรียนในเบื้องต้นว่า เราได้ตรวจสอบเรื่องของการคำนวณ และเนื่องจากมีรายละเอียดมาก ที่กำลังตรวจสอบในเรื่องรายละเอียดอยู่ และมีแนวเรื่องที่กำลังทำคู่ขนานกันไป คือการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ว่า อาคาร สตง.ที่ถล่มเกิดจากการออกแบบหรือไม่

ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขอเวลาพิสูจน์ ต่อนายกรัฐมนตรีไว้ 90 วัน ซึ่งตามแผนมีอยู่ 4 สูตร เป็นไทม์ไลน์ที่กำหนดระยะเวลา 90 วัน ก็จะได้ผลว่า การออกแบบตามแบบทำให้อาคารพังหรือไม่ วิธีการคือสร้างแบบจำลอง โดยนำแบบเข้าในคอมพิวเตอร์ และกำหนดคุณสมบัติของวัสดุเข้าไปในแบบจำลอง และให้แรงแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจริง กระทำกับอาคาร จึงจะทำให้รู้ว่าอาคารสตง.นี้พังหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ และภายใน 90 วันก็จะสามารถพิสูจน์ได้

ในส่วนเรื่องการตรวจสอบเอกสาร ได้มีการร่วมตรวจสอบเอกสารจากการไปตรวจยึด ในพื้นที่ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะมีการตรวจสอบในเรื่องของรายงานประจำวัน ประจำสัปดาห์ การขออนุมัติ การเทคอนกรีต และในเรื่องการทดสอบวัสดุต่าง ๆ ส่วนวัสดุที่เก็บหน้างานมีการเก็บร่วมกับตำรวจ และทางตำรวจได้อายัติไว้ตรวจสอบ

อธิบดีกรมโยธาฯ ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ยังรายงานอีกว่า ต้องไปปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ว่าจะมีการออกกฎหมายกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.วิชาชีพวิศวกร และมาตรฐานของการก่อสร้างของพ.ร.บจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรอบระยะเวลา 90 วัน จะสามารถสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ได้ใช่หรือไม่ อธิบดีกรมโยธาฯ ระบุว่า ขณะนี้ใช้เวลาดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน และแบบจำลองนี้ทำโดย 5 หน่วยงาน แล้วมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในแบบจำลอง และทำออกมาเป็นบทสรุป

ส่วนตอนนี้คณะกรรมการชุดที่ตรวจสอบพุ่งเป้าไปที่ประเด็นใดนั้น อธิบดีกรมโยธาฯ เปิดเผยว่า สิ่งที่ดูได้ทันทีคือการคำนวณตามแบบที่มีการจ้างการก่อสร้างที่มีอยู่แล้ว และที่มีการแก้ไขแบบ ว่า ปัจจุบันที่อาคารก่อสร้างหลังนี้ มีการออกแบบก่อสร้างคู่สัญญา และมีการแก้ไขแบบส่วนใดบ้าง ที่เกี่ยวกับโครงสร้าง เราจะมีการนำเข้าแบบจำลอง ซึ่งแบบจำลองชุดนี้ เหมือนกับอาคารจริง ก่อนที่จะมีการพังถล่ม และมีการรันโมเดลเข้าไปในระบบ

เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้ที่ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ที่ปรึกษา สาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วศท.) ให้ความเห็นว่า แบบไม่สอดคล้องกับกฎกระทรวง อธิบดีกรมโยธาธิการฯ กล่าวว่า ตอนนี้ต้องรอผลสรุปของคณะกรรมการ เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรม ตนไม่สามารถพูดก่อนได้

เมื่อถามถึงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ว่า จะมีผลทดสอบออกมา เป็นคำตอบให้สังคมได้ใช่หรือไม่ อธิบดีกรมโยธาธิการฯ ระบุว่า ได้ ซึ่งแบบจำลองที่เราตรวจสอบดำเนินการเป็นมาตรฐานอยู่แล้ว แต่ต้องมีการสร้างแบบจำลองให้ครอบคลุมในหลายสถานะ ในรายละเอียดคงต้องให้ทางคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงไปพิจารณา

การสอบสวนข้อเท็จจริงนั้นมีอยู่ 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบแรกคือ หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง คือ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมีสถาบันการศึกษาเข้ามาร่วมด้วย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ.และกทม.

รวมไปถึงข้าราชการของกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่มีความรู้และการชำนาญการเรื่องนี้ โดยมี วิศวกรใหญ่กรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานกรรมการ สภาวิศวกรเป็นที่ปรึกษา โดยจะเห็นว่าองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้ครอบคลุมผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ด้านนี้โดยตรง ตนเชื่อว่าเมื่อผลออกมา จะสร้างความชัดเจนให้กับ โครงการนี้ได้ ว่าสาเหตุของอาคารนี้ที่ถล่มเป็นเพราะอะไร

เมื่อถามว่าขณะ อยู่ระหว่างการดำเนินการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ใช่หรือไม่ อธิบดีโยธาฯ ระบุว่า ตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีอยู่ 4 ลำดับ ในลำดับแรกเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีการคีย์ข้อมูลเรียบร้อยแล้ว พร้อมยอมรับว่า มีอยู่หลายขั้นตอนจึงต้องใช้เวลา และหลังจากเสร็จแล้ว จะต้องมีการประชุมหารือ เพราะเราต่างคนต่างทำ เพราะถ้าหากทำหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อาจจะมีเรื่อง Human error เพราะการคีย์ข้อมูลต้องใช้การคีย์โดยคน เพราะฉะนั้นหากต่างคนต่างคีย์ข้อมูลเข้าไป ต้องมีการเช็คกัน และต้องมีการคุยถึงหลักเกณฑ์ต่างๆว่าจะใช้หลักใด เพื่อให้เป็นฐานเดียวกัน ก่อนที่จะประมาลเป็นผลมา และต้องดูว่าผลของแต่ละสถาบันออกมาในแนวทางเดียวกันหรือไม่ จึงออกมาเป็นผลสรุปของคณะกรรมการชุดนี้

อ่านข่าว : เร่งเปิดพื้นที่โซนลึกตึก สตง.ถล่ม คาดรื้อถอนภายในเดือน พ.ค.

สตง.ชี้แจงขั้นตอน "งานคอนกรีต" ที่ใช้ก่อสร้างอาคารถล่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง