วันนี้ (4 พ.ค.2568) คณะพนักงานสอบสวนคดีตึก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พังถล่ม เปิดเผยความคืบหน้าการ ติดตามคดีระบุว่า ขณะมีการสอบปากคำพยาน และผู้เกี่ยวข้องคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 80 ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปเก็บชิ้นส่วนตัวอย่างเหล็กและปูน รวมถึงพยานหลักฐานในที่เกิดเหตุ เพื่อส่งตรวจพิสูจน์อย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะมาตรฐานการของโครงสร้าง ซึ่งขณะนี้ผลการตรวจบางส่วนได้ออกมาแล้ว แต่ภาพรวมยังไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ว่าการก่อสร้างดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยจะต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ด้านอื่นๆ และข้อมูลจากนักวิชาการเข้ามาประกอบกัน
เช่นเดียวกับลายเซ็นของวิศวกร ที่มีการส่งตรวจไปก่อนหน้านี้ ที่ขณะนี้ก็ยังคงต้องรอผล ยืนยันว่า ลายเซ็นดังกล่าว มีการปลอมแปลงหรือไม่ เบื้องต้นในสัปดาห์นี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการวางแนวทางดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง
ด้าน รศ.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลภายหลังโซเชียลมีเดีย เผยแพร่ความเห็นนักวิชาการที่ระบุว่า การเก็บตัวอย่างคอนกรีต ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาจเป็นไปอย่างไม่ครอบคลุม เนื่องจากมีการสุ่มเก็บตัวอย่างแบบกระจุกตัว ว่า
ในฐานะที่เป็นผู้เสนอแนะ ให้ชุดเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดำเนินการเก็บตัวอย่าง ก่อนหน้านี้ ผมได้ให้คำแนะนำว่า การเก็บตัวอย่างคอนกรีตจะต้องกระจายเก็บตามพื้นที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุด แต่เมื่อเข้าพื้นที่จริงกลับพบว่า สภาพคอนกรีตบริเวณเสาหลักและผนังลิฟต์มีความเปราะบาง บางจุดเจ้าหน้าที่ไม่สามารถ ทรงตัวเพื่อทำการเก็บตัวอย่างได้เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่อำนวย
ซึ่งการจะนำตัวอย่างไปใช้ตรวจพิสูจน์สภาพชิ้นส่วนที่ถูกนำออกไปจะต้องมีความสมบูรณ์ และที่ผ่านมาพบว่าเมื่อมีการนำไปเจาะตรวจสอบแล้วข้างในของชิ้นส่วนตัวอย่างมีสภาพแตกร้าวทำให้ไม่สามารถใช้ได้ เจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างตรงบริเวณที่พบว่ามีความสมบูรณ์ที่สุดทำให้ภาพที่เผยแพร่ออกมามีลักษณะกระจุกตัว และสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว
DSI เตรียมนำคำให้การ 38 วิศวกรเข้าสู่สำนวนคดีพิเศษ
คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 เปิดเผยว่า การสอบสวนปากคำพยานวิศวกรที่ผ่านมา ดีเอสไอได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ทำให้ทราบจำนวนวิศวกร ที่ถูกปลอมลายเซ็นในเอกสารควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง.
ขณะเดียวกันทำให้ทราบถึงจำนวนวิศวกรที่ได้เซ็นควบคุมงานจริง โดยกระบวนการขณะนี้ เหลือเพียงการนำส่งลายเซ็นของพยานวิศวกรที่เข้าให้ปากคำทั้งหมดกับดีเอสไอ ไปยังกองพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจพิสูจน์และใช้ประกอบกับสำนวนคดี ที่ตำรวจได้รับแจ้งความร้องทุกข์ไว้จากพยานวิศวกรคนอื่น ๆ ก่อนหน้านี้
สำหรับ กรณีที่พยานวิศวกรถูกปลอมลายเซ็น และแอบอ้างชื่อในเอกสารควบคุมงานก่อสร้าง หากจะต้องมีการแจ้งความดำเนินคดี กับผู้ที่นำเอาลายเซ็นและแอบอ้างชื่อวิศวกรไปใช้ ตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาดำเนินการทางคดีอาญา ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ส่วนดีเอสไออาจจะพิจารณาในเรื่องความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
ขณะที่วิศวกรที่ยังไม่เข้ามาพบดีเอสไอ เพื่อชี้แจงเรื่องลายเซ็น ก็จะมีการออกหมายเรียกพยานซ้ำอีกครั้ง ส่วนคำให้การของพยานวิศวกรทั้ง 38 คน ดีเอสไอจะทำการคัดกรองถ้อยคำให้การของพยานวิศวกรทั้งหมดนี้ เข้าสู่สำนวนคดีพิเศษที่ 32/2568 ความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด
อ่านข่าว :
กทม.ปรับยอดผู้ประสบภัยตึก สตง.ถล่ม 109 คน เร่งค้นหาผู้สูญหาย 14 คน