ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ ยันไม่มีใช้แรงงานเด็กมอแกน-จ้างผู้ใหญ่วันละ 5 ชม.

Logo Thai PBS
อุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ ยันไม่มีใช้แรงงานเด็กมอแกน-จ้างผู้ใหญ่วันละ 5 ชม.
หัวหน้าอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ ชี้แจงกรณีทราย สก๊อต โพสต์มีการใช้แรงงานเด็กชาวมอแกนในหมู่เกาะสุรินทร์ ชี้เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน ยันไม่มีการใช้แรงงานเด็ก แต่เป็นการติดตามผู้ปกครองที่มาทำงานวันละ 5 ชม.ค่าจ้าง 200-250 บาท และเลี้ยงอาหารมื้อเช้า-เที่ยง

"ทราย สก๊อต" หรือ สิรณัฐ สก๊อต โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ทราย - Merman แสดงความรู้สึกอึดอัดในการท่องเที่ยวเกาะสุรินทร์ โดยระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กชาวมอแกน และจ่ายค่าตอบแทนเดือนละ 4,000 บาท

วันที่ 4 พ.ค.2568 นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชี้แจงว่า ประเด็นการอยู่อาศัยของพี่น้องชาวไทยมอแกน บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ ซึ่งในอดีตพี่น้องชาวไทยมอแกนจะใช้ชีวิตอยู่บนเรือกะบางเป็นหลัก

ในช่วงฤดูมรสุมจะขึ้นมาอาศัยตามเกาะต่าง ๆ โดยทำที่อยู่อาศัยเป็นเพิงพักชั่วคราว ต่อมาหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยมอแกนเป็นอย่างมาก ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์จึงได้ขอความร่วมมือให้มาอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง บริเวณอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ เพื่อที่จะได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานราชการที่คอยสนับสนุนดูแลคุณภาพชีวิต การศึกษา ให้แก่พี่น้องชาวไทยมอแกน มีศูนย์การเรียนรู้ชาวไทยมอแกน (หลักสูตร กศน.) ครูประจำ 4 อัตรา และศูนย์สาธารณสุขมูลฐาน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขประจำ 1 อัตรา ตลอดทั้งปี

ส่วนประเด็นการใช้แรงงานเด็ก ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ มีการจ้างแรงงานพี่น้องชาวไทยมอแกน ซึ่งทั้งหมดเป็นแรงงานผู้ใหญ่ ในอัตราค่าจ้างวันละ 200-250 บาท โดยเริ่มทำงานเวลาประมาณ 09.00–14.00 น. แต่ละวันจะทำงานประมาณ 5 ชั่วโมง รวมทั้งจัดอาหารเช้า กลางวัน เลี้ยงทุกวัน และในแต่ละวันพี่น้องชาวไทยมอแกนที่ทำงานกับอุทยานฯ จะนำอาหารกลับไปฝากครอบครัว โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนการจ้างของบริษัททัวร์ อัตราค่าจ้าง 8,000–12,000 บาท ไม่รวมค่าทิปที่ได้จากนักท่องเที่ยว

หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ กล่าวว่า ส่วนประเด็นการจ้างและใช้แรงงานเด็ก โดยผู้โพสต์นำเสนอออกสื่อเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะน้อง ๆ เด็ก ๆ เหล่านั้นจะมากับพ่อ แม่ หรือญาติที่ทำงานกับทางอุทยานฯ หรือทำงานกับบริษัททัวร์ โดยทางอุทยานฯ จะเลี้ยงอาหารทั้งมื้อเช้า เที่ยง ตลอดทุกวันที่มา และในส่วนของบริษัททัวร์ น้อง ๆ เด็ก ๆ ที่มากับพ่อ หรือญาติ ส่วนใหญ่จะเป็นคนขับเรือหางยาวพานักท่องเที่ยวไปเล่นน้ำ น้อง ๆ ก็จะตามมาเล่นน้ำ ซึ่งไม่ได้ตามมาเป็นประจำทุกวัน โดยทางบริษัททัวร์ยืนยันว่าไม่มีการจ้าง หรือใช้แรงงานเด็กแต่อย่างใด

ในประเด็นการไม่ช่วยเหลือเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตนั้น ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้ประสานกับนายตะวัน กล้าทะเล ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านมอแกน และมีฐานะเป็นญาติกับผู้เสียชีวิต โดยนายตะวัน แจ้งว่า หลังทราบข่าวการเสียชีวิต ตนเองได้นำเรือหางยาวส่วนตัวขึ้นฝั่งเพื่อที่จะไปเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตและทำเอกสารต่าง ๆ ไม่ได้มาติดต่อทางอุทยานฯ เพื่อขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด เพราะมองว่าสามารถดำเนินการเคลื่อนย้ายผู้เสียชีวิตได้ด้วยตนเอง

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อเพื่อที่จะถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวผู้หญิง ทางอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ตรวจสอบกับบริษัททัวร์ โดยทางบริษัททัวร์ให้การยืนยันว่า ไม่เคยบังคับ หรือใช้งานให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อถ่ายรูป และตั้งแต่ที่มีการทำทัวร์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ไม่เคยมีพฤติกรรมให้เด็กผู้ชายถอดเสื้อถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยวผู้หญิง ซึ่งโดยวิถีชีวิตของผู้ชายชาวไทยมอแกนที่ขับเรือหางยาว หรือพานักท่องเที่ยวเล่นน้ำ หลังจากทำงานเสร็จก็จะถอดเสื้อเป็นประจำ แต่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อที่จะถ่ายภาพกับนักท่องเที่ยวและไม่ได้ถูกบังคับให้มีการถอดเสื้อแต่อย่างใด

นายเกรียงไกร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 6-9 ก.พ.ที่ผ่านมา นายทราย สก็อต พร้อมทีมงาน เดินทางมายังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ แจ้งว่าจะเข้ามาสำรวจ ติดตามสถานภาพทรัพยากรใต้น้ำ เก็บขยะ และได้ติดต่อกับเด็ก ๆ ชาวมอแกน 2 คน เป็นการติดต่อส่วนตัวกับเด็กเองโดยตรง ไม่ได้แจ้งพ่อแม่ หรือผู้ปกครองของเด็กให้รับทราบ และไม่ได้แจ้งให้ทางอุทยานฯ หมู่เกาะสุรินทร์ ทราบ โดยนายทราย แจ้งกับเด็ก ๆ ว่าจะชวนไปทำคอนเทนต์ร่วมกันเก็บขยะใต้ทะเล ใช้วิธีการดำน้ำแบบตัวเปล่า (Freediving) และจากการสอบถามเด็ก ๆ แจ้งว่าไม่ได้ให้ค่าจ้างเป็นเงิน แต่ให้เป็นสิ่งของตอบแทน คือ แว่นตา กางเกง เสื้อ คนละ 1 ชุด และในวันต่อมานายทราย จะนัดเด็ก ๆ ไปดำน้ำเก็บขยะอีก แต่น้อง ๆ บอกว่าเหนื่อย ไม่ไหว ทางนายทรายก็เจรจา 2-3 ครั้ง ว่าให้ไปช่วยอีก 1 วัน แต่น้อง ๆ ยืนยันว่าไม่ไป จึงหยุดชวน

อ่านข่าว "อช.พีพี" ชี้แจง กรณีคราบเขม่าทะเลเกาะปอดะ 

ดีเดย์ 15 ต.ค.ใช้ E-Ticket 6 อุทยานฯ ทางทะเล 

นักวิชาการชี้ โซเชียลหนุน “ทราย สก๊อต” เพราะไม่เชื่อมั่นรัฐ แนะ “กรมอุทยานฯ” ใช้ E-Ticket แก้ทุจริต 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง