ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สหรัฐฯ-จีนเตรียมนั่งโต๊ะเจรจา! หวังคลายสงครามการค้าสุดเดือด

ต่างประเทศ
7 พ.ค. 68
13:47
257
Logo Thai PBS
สหรัฐฯ-จีนเตรียมนั่งโต๊ะเจรจา! หวังคลายสงครามการค้าสุดเดือด
อ่านให้ฟัง
09:19อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ทีมเจรจาการค้าของทรัมป์ เตรียมพบตัวแทนจีนที่เจนีวา 9-12 พ.ค.นี้ เพื่อหาทางลดความตึงเครียดจากสงครามการค้าที่รุนแรงที่ 2 ชาติเกือบหยุดชะงัก เศรษฐกิจโลกสั่นคลอน การเจรจาครั้งนี้อาจเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่จะเพียงพอหยุดความเสียหายได้หรือไม่ ?

วันนี้ (7 พ.ค.2568)  สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งปะทุรุนแรงด้วยภาษีนำเข้าสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ กำลังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ทีมเจรจาการค้าของทรัมป์ เตรียมพบปะตัวแทนจีนที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 9-12 พ.ค.2568

นี่คือการเจรจาแบบตัวต่อตัวครั้งแรก นับตั้งแต่ทั้ง 2 ชาติเริ่มตอบโต้ด้วยภาษีนำเข้าร้อยละ 145 จากสหรัฐฯ สำหรับสินค้าจีน และร้อยละ 125 จากจีนสำหรับสินค้าสหรัฐฯ การค้า 2 มหาอำนาจเศรษฐกิจโลกชะงักหนัก เศรษฐกิจทั้งคู่เสียหาย และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกสะดุดลง

สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ กล่าวเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ว่า การเจรจาครั้งนี้ไม่น่าจะนำไปสู่ข้อตกลงการค้าทันที แต่เป็นก้าวแรกเพื่อ "ลดความรุนแรง" ของสถานการณ์ ภาษีที่สูงเกินไป ทำให้การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนลดลงอย่างน่าตกใจ การคลายความตึงเครียด อาจเป็นข่าวดีสำหรับธุรกิจและผู้บริโภคทั้งใน 2 ชาติและทั่วโลก

ขณะนี้ สหรัฐฯ เก็บภาษีอย่างน้อยร้อยละ 145 สำหรับสินค้าจีนส่วนใหญ่ ส่วนจีนตอบโต้ด้วยภาษีร้อยละ 125 สำหรับสินค้าสหรัฐฯ บางประเภท เรือบรรทุกสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีเกือบทั้งหมดถึงฝั่งแล้ว และเรือที่บรรทุกสินค้าต้องเสียภาษีเริ่มมาถึงท่าเรือ

ธุรกิจในสหรัฐฯ และจีน จึงต้องเผชิญทางเลือกที่ยากลำบาก เช่น จ่ายภาษีที่ทำให้ต้นทุนสินค้าพุ่งขึ้นกว่าเท่าตัว หรือหยุดจำหน่ายสินค้านั้นไปเลย ผู้บริโภคทั่วโลกจึงอาจเจอราคาสินค้าที่สูงขึ้นและสินค้าขาดแคลนภายในไม่กี่สัปดาห์

ภาษีสุดโหดนี้ ได้สร้างรอยแผลให้ทั้ง 2 เศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวในไตรมาสแรกของปี 2568 เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากธุรกิจเร่งกักตุนสินค้าก่อนที่ภาษี "Liberation Day" ของทรัมป์จะเริ่มบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2 ส่วนจีนเผชิญการหดตัวของกิจกรรมโรงงานเร็วที่สุดในรอบ 16 เดือนเมื่อเดือน เม.ย. รัฐบาลจีนกำลังเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อพยุงสถานการณ์

นอกเหนือจากจีน ทรัมป์ยังกำหนดภาษีร้อยละ 10 สำหรับสินค้านำเข้าเกือบทุกประเภททั่วโลก และ ร้อยละ 25 สำหรับเหล็ก อะลูมิเนียม รถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และสินค้าบางอย่างจากเม็กซิโกและแคนาดา สงครามการค้าครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องสหรัฐฯ-จีน แต่ส่งผลกระทบวงกว้าง

นักเศรษฐศาสตร์จาก IMF, OECD และ World Bank เตือนว่า นโยบายภาษีของทรัมป์อาจทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรุนแรง กระตุ้นเงินเฟ้อ และสหรัฐฯ อาจได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการตอบโต้ของชาติอื่น ๆ นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ และธนาคารใหญ่หลายแห่งคาดว่า สหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในปีนี้

สัญญาณการละลายความตึงเครียด

เบสเซนต์และเจมสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ จะเดินทางไปเจนีวาเพื่อพบตัวแทนจีน รวมถึง ปธน.สวิตเซอร์แลนด์ คาริน เคลเลอร์-ซัตเตอร์ เบสเซนต์ให้สัมภาษณ์กับ Fox News เมื่อวันที่ 6 พ.ค.ว่า การเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และเขาไม่คาดหวังข้อตกลงใหญ่ในทันที "เราต้องลดความตึงเครียดก่อนถึงจะก้าวต่อไปได้" เขากล่าว

ทั้งสหรัฐฯ และจีน เริ่มส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ยั่งยืน เบสเซนต์และทรัมป์ยอมรับว่าภาษีสูงเกินไป ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ NBC News เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เขาจะลดภาษีจีน "ในบางจุด" เพื่อให้การค้าดำเนินต่อได้ ด้านจีน ซึ่งก่อนหน้านี้ปฏิเสธว่ากำลังเจรจากับสหรัฐฯ เปลี่ยนท่าทีเมื่อสัปดาห์ก่อน โดยระบุว่ากำลังพิจารณาข้อเสนอของสหรัฐฯ เพื่อเริ่มการเจรจา

จีนเผชิญแรงกดดันเศรษฐกิจชะลอตัว

ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China) ประกาศลดอัตราสำรองของธนาคารลงร้อยละ 0.5 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในระบบ และลดอัตราดอกเบี้ย Reverse repurchase 7 วัน ลงร้อยละ 0.1 ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย มาตรการเหล่านี้แสดงถึงความพยายามเร่งด่วนในการพยุงเศรษฐกิจท่ามกลางวิกฤต

จีนมักกล่าวว่า "ไม่มีใครชนะในสงครามการค้า" และคำพูดนี้ชัดเจนขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาษีที่สูงลิบทำให้เศรษฐกิจทั้ง 2 ชาติเสียหายหนัก และการค้าสหรัฐฯ-จีนแทบหยุดชะงัก ข้อมูลจาก Flexport ระบุว่า จำนวนเรือคอนเทนเนอร์จากจีนไปสหรัฐลดลงร้อยละ 60% ในเดือน เม.ย. ธนาคาร JPMorgan คาดว่าการนำเข้าจากจีนไปสหรัฐอาจลดลงถึงร้อยละ 80 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

ไรอัน ปีเตอร์เซน CEO ของ Flexport กล่าวกับ CNN ว่าการลดลงถึงร้อยละ 60 ของคอนเทนเนอร์หมายถึงสินค้าลดลงร้อยละ 60 เมื่อสต็อกสินค้าหมด จะเกิดการขาดแคลน และราคาจะพุ่งสูง ท่าเรือลอสแอนเจลิส ซึ่งคาดว่าจะรับเรือ 80 ลำในเดือน พ.ค. ต้องเผชิญการยกเลิกถึงร้อยละ 20 และการเดินเรือในเดือน มิ.ย. ถูกยกเลิกไปแล้ว 13 เที่ยว

ยีน เซโรกา ผู้อำนวยการท่าเรือลอสแอนเจลิส กล่าวว่า "สัปดาห์นี้ ปริมาณสินค้าลดลงร้อยละ 35 เทียบกับปีก่อน และเรือที่มาถึงเป็นลำแรกที่ต้องเสียภาษีจากจีนและประเทศอื่น ๆ นี่คือสาเหตุที่ปริมาณสินค้าต่ำมาก”

ปฏิกิริยาตลาดและแสงแห่งความหวัง

ข่าวการเจรจานำความหวังมาสู่ตลาดการเงิน วอลล์สตรีทตอบรับด้วยความคึกคัก ดัชนี Dow Futures พุ่งขึ้นกว่า 200 จุด (ร้อยละ 0.6) S&P 500 Futures เพิ่มร้อยละ 0.7 และ Nasdaq Futures ปรับขึ้นร้อยละ 0.8 ตลาดเอเชียก็ขยับขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 6 พ.ค.

ถึงกระนั้น ทั้ง 2 ชาติยังห่างไกลจากข้อตกลงใหญ่ ทั้งคู่ยืนกรานว่าต้องการผลประโยชน์ที่ชัดเจน เบสเซนต์ระบุว่าการค้ากับจีนอาจต้องใช้เวลา 2-3 ปีกว่าจะกลับสู่สภาวะปกติ การเจรจาที่เจนีวาจึงเป็นเพียงก้าวแรกที่เปราะบาง

เจมสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวในแถลงการณ์ว่า "ตามคำสั่งของ ปธน.ทรัมป์ ผมกำลังเจรจากับหลายชาติเพื่อสร้างสมดุลทางการค้า เปิดตลาดใหม่ และปกป้องความมั่นคงทางเศรษฐกิจและชาติของสหรัฐ" เขาคาดหวังการประชุมที่มีผลลัพธ์ที่เจนีวา

ด้านจีน กระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า ตกลงเจรจาหลัง "ประเมินอย่างรอบคอบ" ตามคำร้องขอของสหรัฐฯ รองนายกรัฐมนตรี เฮ่อ ลี่เฟิง จะเป็นตัวแทนฝ่ายจีนพบเบสเซนต์ที่เจนีวา กระทรวงย้ำว่า การเจรจาต้องอยู่บนพื้นฐานของความเคารพ ความเท่าเทียม และผลประโยชน์ร่วมกัน

หากสหรัฐฯ พูดอย่างทำอย่าง หรือใช้การเจรจาเป็นข้ออ้างเพื่อกดดัน จีนจะไม่ยอม และจะไม่ละทิ้งหลักการหรือความยุติธรรมเพื่อข้อตกลงใด ๆ

อ่านข่าวอื่น :

"คาร์นีย์" ตอกกลับทรัมป์ "แคนาดา" ไม่เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐฯ

วาติกันเปิดกำหนดการเคร่งครัด คัดเลือก "ผู้นำคริสตจักร" คนใหม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง